New Southbound Policy Portal

ท่าเรือเกาสงได้รับรางวัล WPSP Awards ประเภทความยืดหยุ่นทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ที่จัดโดยองค์การ IAPH

TIPC วันที่ 25 มิ.ย. 64
 
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทการท่าเรือเกาสง (TIPC) ซึ่งเข้าร่วมโครงการ World Ports Sustainability Program (WPSP) ที่จัดขึ้นโดยองค์การท่าเรือและอ่าวจอดเรือนานาชาติ (International Association of Ports and Harbors: IAPH) ได้รับรางวัล WPSP Awards ในประเภทความยืดหยุ่นทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐานประจำปี 2021
 
ในปีนี้ ท่าเรือเกาสงเป็นตัวแทนของกลุ่มบริษัทท่าเรือไต้หวัน เข้าร่วมการประกวดตามโครงการ WPSP ของ IAPH ในประเภทความยืดหยุ่นทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยหัวข้อ “แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาและการก่อสร้างแห่งอนาคต ระหว่างปี 2017-2021” (Master Plan for Future Development and Construction, 2017‐2021) เพื่อแข่งขันกับโครงการของท่าเรือจากนานาประเทศ โดยในรอบแรก ซึ่งคิดคะแนนเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ทางคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของ IAPH ได้ตัดสินท่าเรือเกาสงผ่านเข้ารอบ ด้วยความสำเร็จจากโครงการท่าเทียบเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ในนครเกาสง (Kaohsiung Intercontinental Container Terminal (ICT) Project) เฟส 2 ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกอบกับการสร้างสวนสาธารณะริมน้ำที่ท่าเรือพาณิชย์เผิงไหลและสะพานต้ากั่ง ซึ่งมีความเป็นมิตรต่อประชาชน ทำให้เป็น 1 ใน 3 โครงการที่ผ่านเข้าสู่รอบต่อไป ร่วมกับท่าเรือบริสเบน (Port of Brisbane) ของออสเตรเลีย และท่าเรือซานดิเอโก (Port of San Diego) ของสหรัฐฯ หลังจากนั้น จึงเข้าสู่การโหวตโดยภาคประชาชน โดยจะคิดคะแนนในสัดส่วนร้อยละ 30 ซึ่งการที่ท่าเรือเกาสงได้รับความสนับสนุนจากนานาชาติเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถเอาชนะคู่แข่งจนคว้ารางวัลในประเภทนี้มาครองได้สำเร็จ และ IAPH ได้ประกาศข่าวดีนี้ในการประชุมใหญ่ของกลุ่มบริษัทการท่าเรือแห่งโลก ประจำปี 2021 ด้วย
 
โครงการท่าเรือ ICT เฟส 2 นับเป็นโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน โดยครอบคลุมถึง การถมทะเล เขื่อนป้องกันคลื่นนอกชายฝั่ง การสร้างแนวป้องกันชายฝั่ง ซึ่งโครงการดังกล่าวก่อสร้างขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลกับธรรมชาติ โดยท่าเรือแห่งนี้สามารถเพิ่มจำนวนการเทียบท่าของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และมีเขตพื้นที่ที่เพียงพอสำหรับการบูรณาการห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาถังเก็บน้ำมันที่กระจัดกระจายในบริเวณท่าเรือที่ติดกับพื้นที่ใจกลางของเขตมหานคร จนส่งผลให้ท่าเรือเกาสงกลายมาเป็นศูนย์กลางแห่งท่าเรือพาณิชย์ที่ครบวงจรมากที่สุด