New Southbound Policy Portal

ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Tier 1 ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ติดต่อกันเป็นปีที่ 12

กระทรวงมหาดไทย วันที่ 2 ก.ค. 64
 
ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไต้หวัน ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศผลการประเมินด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั่วโลก ปี 2021 ซึ่งจากการประเมินใน 180 กว่าประเทศทั่วโลก ไต้หวันยังคงได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มเทียร์ 1 (Tier 1)
 
กระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) (Ministry of the Interior, MOI) แถลงว่าหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนเป็นค่านิยมสากลที่ไต้หวันให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปรามปรามการค้ามนุษย์ ถือเป็นหนึ่งในผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินการตามแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ MOI ยังได้มุ่งมั่นพัฒนากลยุทธ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ในเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะกรรมการกิจการการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิจารณากำหนด “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและอุตสาหกรรมการประมง” โดยกำหนดให้ปัญหาแรงงานประมงต่างชาติที่ถูกบังคับกดขี่ เป็นส่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขเป็นอันดับต้นๆ อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้สิทธิประโยชน์ของแรงงานประมงต่างชาติได้รับการคุ้มครองมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้  MOI ยังได้ปรับกฎระเบียบและรูปแบบการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน  โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ตลอดช่วง 2 ปีมานี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 MOI ได้รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่าง “แผนปฏิบัติการต่อต้านการกดขี่และขูดรีดแรงงาน ปี 2021 - 2022” โดยได้เสนอแนวทางการรับมือว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์รวม 25 รายการ รวมถึงกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรม รวม 76 รายการ ซึ่งแผนปฏิบัติการทั้ง 2 ประการข้างต้น ต่างมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายว่าด้วยการเสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกระทำ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
MOI ชี้ว่า ต่อกรณีที่กต.สหรัฐฯ ได้กล่าวถึงสิ่งที่ไต้หวันต้องเร่งปรับปรุงในรายงานผลการประเมิน ทั้งในส่วนของการเร่งตรวจสอบเรือประมงสัญชาติไต้หวันและเรือชักธงสะดวก (flag of convenience) ที่ได้รับแจ้งว่ามีการแสวงหาผลประโยชน์จากการกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรมการประมงนอกน่านน้ำทะเลไต้หวัน พร้อมนี้ ยังต้องดำเนินการตรวจสอบและจำกัดการเทียบท่าของเรือประมงหรือผู้ประกอบการที่เคยมีประวัติการกดขี่แรงงานหรือการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้ได้ถูกกำหนดลงในแผนปฏิบัติการทั้ง 2 ประการข้างต้นแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็วต่อไป