New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 ก.ค. 64
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปมีญัตติให้ผ่านร่าง “รายงานด้านการค้าและผลกระทบภายใต้สถานการณ์โควิด - 19”(Report on the trade-related aspects and implications of COVID-19) ด้วยคะแนนเสียง 509 : 63 โดยมีผู้สละสิทธิ์ 120 เสียง โดยสาระสำคัญของญัตติฉบับนี้ เพื่อกระตุ้นให้คณะกรรมาธิการยุโรปเร่งผลักดันการลงนามในความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน – ยุโรป พร้อมทั้งจัดวางแนวทางการดำเนินงานที่จำเป็น บนพื้นฐานของการประเมินผลกระทบ (impact assessment) การปรึกษาหารือสาธารณะ และการกำหนดขอบเขตการเจรจา (Scoping Exercise) ซึ่งต้องเร่งดำเนินขั้นตอนล่วงหน้าเหล่านี้ให้แล้วเสร็จ ภายในสิ้นปีนี้ โดยการผ่านญัตติในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 5 ที่รัฐสภายุโรป สมัยที่ 9 (Ninth European Parliament) ที่มีวาระการดำรงตำแหน่งในระหว่างปี 2019 – 2024 ได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมาก เพื่อสนับสนุนให้สหภาพยุโรป (EU) เร่งเปิดเจรจาความตกลง BIA กับไต้หวันอย่างเป็นทางการโดยเร็ว กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอบคุณรัฐสภายุโรปด้วยใจจริง ที่ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่อย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง
โดยตามเนื้อหาของรายงานฉบับนี้ รัฐสภายุโรปต้องการแสดงจุดยืนและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวข้องกับ “รายงานว่าด้วยการพิจารณานโยบายด้านการค้า ที่เปิดกว้าง เชื่อมั่น และการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศไปเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังได้ระบุถึงแนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกล่าสุดและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 รัฐสภายุโรปมีความเห็นว่า EU จำเป็นต้องสร้างความยืดหยุ่นและความหลากหลายของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ให้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างนโยบายด้านการคุ้มครองทางการค้าที่ครอบคลุม พร้อมทั้งเสริมสร้างเกราะคุ้มกันให้กับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ตลอดจนสร้างหลักประกันด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และวัคซีน ให้มีแนวทางในการจัดสรรอย่างเหมาะสมและยุติธรรม นอกจากนี้ รัฐสภายุโรปยังได้เรียกร้องให้ EU เร่งเปิดการเจรจากับไต้หวันในประเด็นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยเร็ว
กต.ไต้หวันเชื่อมั่นว่า ในยุคหลังโควิด – 19 ไต้หวัน – EU จะสามารถขยายความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์ เครือข่ายเทคโนโลยี 5G และพลังงาน รวมถึงการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน ระหว่างกันต่อไป พร้อมเรียกร้องให้ EU เร่งเปิดการเจรจาในความตกลง BIA กับไต้หวันอย่างเป็นทางการ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการค้าแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างไต้หวัน – EU ต่อไป