New Southbound Policy Portal

คกก.สิทธิมนุษยชนไต้หวันประกาศรายงานผลการสำรวจด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรกในเรื่อง “กรณีนายหลินซุ่ยฉวนถูกจำกัดเสรีภาพจากการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม”

คณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชน วันที่ 14 ก.ค. 64
 
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศรายงานผลการสำรวจด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรก โดยบรรดาเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องในอดีต ในกรณีที่คณะรัฐบาลในยุคสมัยที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ จงใจหลีกเลี่ยงการดำเนินการตามกระบวนการทางยุติธรรม โดยใช้วิธีการลงโทษด้วยการกักขังประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล หรือที่เรียกว่า “บุคคลอันธพาล” ซึ่งพฤติกรรมที่รัฐบาลได้กระทำการจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชน ไม่สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) ส่งผลให้เหล่านักโทษทางการเมืองไม่ได้รับการชดเชย ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เห็นได้ชัด โดยการตรวจสอบในครั้งนี้ มีนายเกาหย่งเฉิง รองประธานคกก.กิจการสิทธิมนุษยชน และนางจางจวี๋ฟาง สมาชิกคณะกรรมการฯ ร่วมทำหน้าที่สานต่อความคืบหน้าล่าสุดจากการสำรวจของนายเฉินซือม่ง คณะกรรมการสภาตรวจสอบ สมัยที่ 5 ซึ่งขณะนี้ รายงานผลการสำรวจฉบับนี้ได้ถูกส่งไปยังหน่วยงานที่ปรึกษาของกระทรวงยุติธรรม พร้อมนี้ ยังได้กระตุ้นให้คณะกรรมการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เร่งพิจารณาร่างแนวทางการแก้ไขกฎหมายโดยเร็ว
 
โดยในช่วงปี 1961 นายหลินซุ่ยฉวน ได้วิจารณ์รูปแบบการปกครองของรัฐบาลอย่างเปิดเผยในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง จนถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดในฐานประพฤติตนเป็นบุคคลอันธพาล และถูกตัดสินให้ไปเข้ารับการควบคุมตัวและฝึกอบรมที่เกาะเสี่ยวหลิวฉิว เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน หลังพ้นกำหนดแล้ว ในปี 1964 นายหลินฯ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภากรุงไทเป แต่ยังไม่ทันครบกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่ง ก็ถูกตั้งข้อหา “สมรู้ร่วมคิดในการวางแผนโค่นล้มรัฐบาล” ทำให้ถูกลงโทษจำคุก 10 ปี ซึ่งการถูกจำคุกในครั้งนี้ ได้รับการพิจารณาให้ทำการลบข้อครหาและได้รับการชดเชยจากมูลนิธิ Compensation Act for Wrongful Trials on Charges of Sedition and Espionage during the Martial Law Period ในปี 2000 แล้ว แต่ในส่วนของคดีความที่นายหลินฯ ถูกรัฐบาลกล่าวว่าเป็นบุคคลอันธพาล พร้อมถูกจับกุมตัวไปคุมขังรวมเป็นเวลา 575 วัน  ตราบจนปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขและไม่ได้รับการชดเชยใดๆ
 
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา นายหลินฯ ต้องการที่จะกอบกู้ชื่อเสียงของตนกลับคืนมาผ่านกระบวนการยุติธรรม จึงเข้าทำการร้องเรียนและฟ้องร้องต่อศาลหลายครั้ง แต่เนื่องจากไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องทุกครั้งไป รองปธ.เกาฯ ชี้แจงว่า เนื่องจากการกักกุมตัวเพื่อเข้ารับการอบรมมิใช่การพิจารณาโทษตามกฎหมายอาญา ไม่สอดคล้องกับขอบเขตของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการด้านการชดเชยการตัดสินลงโทษผิดคนจึงได้มีมติให้ยกคำร้อง นอกจากนี้ คกก.ส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ก็ได้ปฏิเสธการร้องเรียนของนายหลินฯ ที่ระบุถึงการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลด้วยเช่นเดียวกัน
 
หลังจากที่คดีนี้ได้ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดมามาเป็นเวลากว่า 8 เดือน ก็ได้เสร็จสิ้นการตรวจสอบในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยในระหว่างนั้น นางจางฯ พบว่ากรณีของนายหลินฯ มิได้เป็นเพียงกรณีเดียวที่เกิดข้อพิพาททางกฎหมาย รายงานฉบับนี้เผยว่า นับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา มีนักโทษทางการเมืองที่ถูกส่งไปกักขังที่เกาะเสี่ยวหลิวฉิว รวมเป็นจำนวน 25 คน
 
นางจางฯ ที่เดิมเป็นทนายว่าความมาเป็นเวลานานหลายปี เห็นว่า รัฐบาลในสมัยระบอบเผด็จการเข้ากักกุมตัวประชาชนโดยพลการ โดยอ้างเหตุผลที่ว่าต้องทำการปรับปรุงทัศนคติ  นอกจากจะไม่สอดคล้องกับกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ยังเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนอีกด้วย จึงได้แนะนำว่า ในการจัดตั้งระบบกฎหมายแห่งความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านหลังจากนี้ ควรต้องให้สอดคล้องกับนิยามและคุณค่าของสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักนิติธรรมตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยด้วย