New Southbound Policy Portal

การเดินทางสุดแฟนตาซีของเมล็ดพืช กับพิพิธภัณฑ์เมล็ดเชียนฉี

เมื่อเราไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์เมล็ดเชียนฉี (千畦種籽館-Thousand Fields Seed Museum)

 

หากมิใช่เติบโตมาในครอบครัวของเกษตรกร หรือเรียนจบในสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตร เชื่อว่าคนทั่วไปยากจะมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเมล็ดพืชต่างๆ หากแต่เมล็ดเหล่านี้ถือเป็นบ่อเกิดของชีวิต และชีวิตของมันก็มีความอัศจรรย์แฝงอยู่ไม่น้อย มันสามารถบินอยู่ในอากาศ ลงไปอยู่ในทะเล แถมยังสามารถรอเวลาได้นานนับปี เพียงเพื่อที่จะให้ชีวิตธำรงสืบสานต่อไป

 

เมื่อเราไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์เมล็ดเชียนฉี (千畦種籽館-Thousand Fields Seed Museum) ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตงฟงลู่ในนครไถหนาน เมื่อเปิดประตูที่ทำจากไม้มะฮอกกานีเข้าไป ก็จะเข้าไปสู่พื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้และเถาวัลย์ ราวกับหลุดเข้าไปอยู่ในถ้ำต้นไม้ในนิทานเรื่องอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ เพื่อเตรียมตัวไปผจญภัยในดินแดนแห่งเมล็ดพืช

 

การเดินทางแสนมหัศจรรย์ของเมล็ดพืช

คุณเหลียงคุนเจี้ยง (梁崑將) ที่มักจะถูกเรียกว่าป๋าเหลียง ซึ่งเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้หยิบเมล็ดพืชให้เราดูพร้อมอธิบายให้ฟังระหว่างพาเดินเที่ยวชมว่า “เมล็ดพืชส่วนใหญ่จะต้องออกไปจากต้นไม้ที่เป็นแม่พันธุ์ของมัน เพื่อเสาะหาผืนดิน”

การเดินทางออกไปนี้มีอยู่มากมายหลายแบบ ต้นไม้บางชนิดจะพัฒนาให้เมล็ดของตัวเองเหมือนมีปีก ทำให้สามารถร่อนไปตามลมได้ ซึ่งเมื่อเหลียงคุนเจี้ยงบีบฝักยาวๆ ของต้นแคแสดให้เราดู ก็เห็นเมล็ดที่มีปีกใสๆ บางๆ เหมือนปีกของจักจั่น ตรงกลางมีต้นอ่อนที่มีลักษณะเหมือนรูปหัวใจ “ข้างในฝักนี้มีเมล็ดของมันอยู่เป็นพันเม็ดเลยทีเดียว ต้นไม้ชนิดนี้ใช้เมล็ดจำนวนมากมายมาเพิ่มโอกาสในการค้นพบดินแดนที่เหมาะสมเพื่อแพร่พันธุ์สืบไป”

ส่วนเมล็ดของต้นมะฮอกกานีใบใหญ่ เมื่อหล่นลงมาก็จะหมุนติ้วค่อยๆ ร่อนลงบนดิน ซึ่งฤดูกาลที่พวกมันแพร่พันธุ์จะอยู่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน หลังจากเมล็ดตกลงมาบนดินแล้ว ก็จะพอดีกับช่วงเดือนพฤษภาคมที่เข้าสู่ฤดูฝน เมล็ดจะแตกออกเป็นต้นอ่อนและเติบโตงอกงามต่อไป ช่างเป็นการวางแผนแยบยลอย่างน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติจริงๆ

เมล็ดของพืชบางชนิดจะไหลไปตามกระแสน้ำ ไปยังดินแดนที่ห่างไกลออกไป พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “เมล็ดลอย” ซึ่งเมล็ดของพืชในกลุ่มเมล็ดลอยนี้มีลักษณะพิเศษก็คือ จะมีช่องว่างแทรกอยู่ระหว่างตัวเมล็ดกับเปลือกเมล็ด และมีเปลือกที่เหมือนหนังปกป้องอยู่ด้านนอกสุด ภายในเมล็ดจึงมีสภาพเหมือนเป็นสุญญากาศ ทำให้สามารถลอยบนน้ำได้ เหลียงคุนเจี้ยงได้หยิบเมล็ดของต้นจิกเลที่มีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือมาให้เราดู จิกเลเป็นพืชที่มีต้นกำเนิดอยู่ในไต้หวัน โดยมีกระจายอยู่ตามเกาะหลันอวี่ เกาะลวี่เต่า แหลมเหิงชุน และเกาะเสี่ยวหลิวฉิว หากพบเห็นต้นจิกเลในแถบประเทศเอเชียอาคเนย์ ก็หมายความว่าเมล็ดของมันลอยไปจากทะเลของไต้หวันนั่นเอง

แต่ก็มีพืชบางชนิดที่อาศัยการส่งกลิ่นพิเศษเพื่อดึงดูดนกให้มากิน และนำเอาเมล็ดไปจากต้นแม่ของมัน เช่น จิกเล และสาละลังกา โดยสาละลังกาหรือต้นลูกปืนใหญ่เป็นพืชที่ออกดอกและผลจากลำต้นหลัก ดอกสีส้มแดงที่งอกออกมาจากลำต้นของมันเมื่อกลายเป็นผลที่สุกเต็มที่แล้ว ก็จะแตกตัวออก เนื้อของผลมีกลิ่นที่พิเศษ ซึ่งดึงดูดให้นกและหนอนแมลงมากัดกิน

เมล็ดแต่ละเมล็ดจะมีเรื่องราวเฉพาะเป็นของตัวเอง ที่ต่างก็พยายามอย่างเต็มที่ในการดิ้นรนที่จะแพร่พันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด “ทำไมพวกมันถึงเป็นแบบนั้น ลองคิดๆ ดู ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็เหมือนมันกำลังบอกให้เรารู้ถึงความหมายแห่งชีวิตนั่นเอง” เหลียงคุนเจี้ยงกล่าว

 

เมล็ดพันธุ์คือบ่อเกิดแห่งชีวิต

เดิมที พื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เมล็ดพืชที่เห็นอยู่นี้ คือสถานที่ทำงานของเหลียงคุนเจี้ยงและจ้าวอิงหลิง (趙英伶) สองสามีภรรยาซึ่งรับงานด้านการออกแบบตกแต่งสวน แต่ในช่วงหลายปีก่อน เหลียงเฉาซวิน (梁朝勛) ลูกชายคนเล็กที่ไปศึกษาต่อด้านดนตรีที่ประเทศอังกฤษได้กลับมาอยู่ที่บ้าน พร้อมทั้งกล่อมให้คุณพ่อคุณแม่ปรับเปลี่ยนสถานที่ใหม่ ให้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เมล็ดพืช

เหลียงเฉาซวิน ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บอกกับเราว่า “ตอนแรกคิดแค่ว่ามันรู้สึกสนุกดี” ด้วยความรู้สึกที่ว่า ของสะสมที่คุณพ่อคุณแม่สะสมมาทั้งชีวิต หากไม่ได้นำออกมาให้ผู้อื่นร่วมชื่นชมไปด้วย จะเป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก

ภายในพิพิธภัณฑ์มีการเก็บสะสมเมล็ดพืชต่างๆ มากกว่า 500 ชนิด ซึ่งป๋าเหลียงได้รวบรวมความรู้ที่เกี่ยวข้องจากการอ่านหนังสือ “หนังสือที่ผมมีอยู่นี้ เอาไปใส่ได้เต็มคันรถเลย เงินที่มีอยู่ก็หมดไปกับการซื้อหนังสือ ขอเพียงเป็นหนังสือเกี่ยวกับพืช ผมซื้อมาหมดทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ” ขอเพียงได้มีโอกาสพูดถึงเมล็ดพืช ดวงตาของเหลียงคุนเจี้ยงก็จะเปล่งประกายวาววับ น้ำเสียงที่พูดก็จะแฝงไว้ด้วยความตื่นเต้น ด้วยความอยากที่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองรักมาแบ่งปันให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เมล็ดพืช

เมล็ดพืชไม่เพียงแต่จะดูสวยงาม แต่ยังแฝงไว้ด้วยความเก่งกาจ และมีภูมิปัญญาในการเอาชีวิตรอดได้เป็นอย่างดี ขงจื๊อเคยกล่าวไว้ว่า “จงทำความรู้จักกับชื่อของนก สัตว์ ต้นไม้ และพืชให้มากเข้าไว้” เช่น กล้วยพัด ถือเป็นพืชที่สามารถช่วยชีวิตคนเดินป่าซึ่งต้องทำความรู้จักเอาไว้ เพราะโคนใบของกล้วยพัดสามารถอุ้มน้ำเอาไว้ได้เป็นจำนวนมาก หากเดินอยู่ในป่าแล้วเกิดขาดแคลนน้ำ ก็สามารถตัดใบของมันออกมาเพื่อดื่มน้ำประทังชีวิตได้ ส่วนเมล็ดสีน้ำเงินของมัน เป็นสิ่งที่พบเห็นไม่บ่อยนักในธรรมชาติ ป้าเหลียงหรือคุณจ้าวอิงหลิงจึงนำมันมาใช้สร้างสรรค์งานศิลปะ

คุณเหลียงคุนเจี้ยงได้หยิบเอาเมล็ดของต้นกุหลาบไม้ที่มีลักษณะเหมือนดอกไม้แห้งออกมา โดยกุหลาบไม้เป็นต้นไม้ที่อยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (Convolvulaceae) เช่นเดียวกับว่านผักบุ้ง ซึ่งหลังจากออกดอกแล้ว กลีบเลี้ยงของมันจะแข็งจนเหมือนไม้ และจะห่อหุ้มเมล็ดเอาไว้ภายใน ดอกไม้ทรงรูปกรวยที่บานเชิดหน้าสู้ฟ้า เมื่อมีฝนตก น้ำฝนก็จะไหลเข้าสะสมอยู่ภายในดอก เปลือกของเมล็ดข้างในก็จะอ่อนตัวจนแตกออก ทำให้เมล็ดของมันไหลออกจากต้นไปตามน้ำ ถือเป็นการเริ่มต้นการเดินทางเพื่อแสวงหาผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์สำหรับลงหลักปักฐานต่อไป

มะกล่ำตาหนู คือต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในแถบภาคใต้ของไต้หวัน เมล็ดของมันมีสีแดงสดและมีจุดดำอยู่บริเวณขั้วดูแล้วงดงามเป็นยิ่งนัก หากแต่กลับแฝงไปด้วยพิษร้ายที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งดร.ต่งต้าเฉิง (董大成) นักวิจัยด้านมะเร็งที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน ได้สกัดเอาโปรตีนจากสารพิษของมันมาใช้ในการผลิตยาต่อต้านเซลล์มะเร็ง หากแต่เมื่อนกกินมันเข้าไปแล้วกลับไม่เป็นอันตราย เนื่องจากนกไม่มีฟัน แต่ใช้วิธีกลืนมันลงไปเลย และนกเป็นสัตว์ที่มีลำไส้ตรง อาหารที่กินเข้าไปเมื่อผ่านการย่อยจากภายในร่างกายแล้ว ก็จะถูกขับออกมาภายในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งที่มหัศจรรย์มากก็คือ กระบวนการนี้ทำให้เมล็ดเริ่มแตกยอด เพราะฉะนั้นหากมูลของนกมีเมล็ดอยู่ภายใน มันจะเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ได้อย่างแน่นอน คุณเหลียงคุนเจี้ยงได้อธิบายความสัมพันธ์อันสุดแสนจะมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้ที่ได้ยินต่างก็รู้สึกอัศจรรย์ใจยิ่งนัก และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกชีวิตย่อมมีทางออกในตัวของตัวเอง และเมล็ดถือเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต
 

เหลียงเฉาซวินเชิญชวนให้ทุกคนมาเยือนพิพิธภัณฑ์เมล็ดเชียนฉี เพื่อร่วมผจญภัยไปกับเหล่าเมล็ดพืชทั้งหลาย

เหลียงเฉาซวินเชิญชวนให้ทุกคนมาเยือนพิพิธภัณฑ์เมล็ดเชียนฉี เพื่อร่วมผจญภัยไปกับเหล่าเมล็ดพืชทั้งหลาย
 

ไต้หวันที่เปี่ยมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

“คิดว่าคนไต้หวันคุ้นเคยกับธรรมชาติจนไม่เห็นความสำคัญของมัน” “เพราะว่าเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของพืชนานาพันธุ์ จนทำให้ไม่รู้สึกว่า ความหลากหลายของพืชนานาพันธุ์มันมีความพิเศษ แต่หากลองเดินทางไปต่างประเทศก็จะพบว่า ไต้หวันมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก”

จากการสำรวจของกรมป่าไม้ไต้หวันพบว่า ไต้หวันซึ่งพื้นที่ไม่ได้กว้างใหญ่นัก แต่บนเกาะแห่งนี้กลับมีพืชและสัตว์อาศัยอยู่มากกว่า 59,000 ชนิด

พื้นที่ซึ่งเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์พาดผ่าน มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่ใช่ทะเลทราย ซึ่งไต้หวันก็คือหนึ่งในสถานที่ส่วนน้อยนี้ มหาสมุทรช่วยปรับสภาพภูมิอากาศ บวกกับลมมรสุมที่พัดผ่าน ทำให้มีทั้งฝนและความชื้นอย่างพอเพียง จนส่งผลให้เกาะเล็กๆ แห่งนี้ ไม่กลายเป็นทะเลทราย ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของภูมิประเทศ ที่มีทั้งที่ราบลุ่ม เนินเขา ภูมิประเทศแบบแบดแลนด์ ภูเขาสูง และป่าไม้ ทำให้เกิดเป็นความหลากหลายของระบบนิเวศ จนส่งผลให้มีสภาพที่เหมาะสมและกลายเป็นแหล่งพักพิงของสรรพชีวิตทั้งหลาย

“ผืนแผ่นดินของไต้หวันเหมือนเป็นคลังแห่งเมล็ด และเป็นธนาคารเมล็ด เมื่อคุณเดินเข้าไปในชนบท ขอเพียงเก็บผิวดินกลับมาสักหนึ่งกำมือแล้วรดน้ำเพียงเล็กน้อย ก็จะมีดอกไม้ที่เราไม่รู้จักชื่อ งอกงามขึ้นมา” เหลียงคุนเจี้ยงกล่าว

แม้แต่พืชจากต่างแดน เมื่อมาลงหลักปักฐานฝังรากอยู่ในไต้หวันแล้ว ก็จะสามารถเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง เช่น ต้นราชพฤกษ์ ที่จะออกดอกเป็นสายฝนสีเหลืองอร่ามในช่วงต้นฤดูร้อนก็มาจากอินเดีย ซึ่งชาวอินเดียนิยมทุบฝักของมันเพื่อเอายางเหนียวๆ เหม็นๆ ที่มีสารซาโปนินอยู่เป็นจำนวนมากมาใช้ในการทำความสะอาด แต่เนื่องจากในไต้หวันมีต้นมะคำดีควายอยู่เป็นจำนวนมาก ราชพฤกษ์ของที่นี่จึงเป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น หรือแม้แต่ต้นหางนกยูงฝรั่งที่เป็นต้นไม้ประจำเมืองของไถหนาน ก็เป็นต้นไม้ที่มาจากแดนไกล โดยมีต้นกำเนิดมาจากมาดากัสการ์ในทวีปแอฟริกาเลยทีเดียว แต่ปัจจุบันก็ได้มาลงหลักปักฐานจนกลายเป็นต้นไม้ของไต้หวันไปแล้ว

พิพิธภัณฑ์เมล็ดแห่งนี้ได้มีโอกาสต้อนรับผู้มาเยือนจากต่างแดนเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเหลียงเฉาซวินรู้สึกประทับใจในการมาเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวจากฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นอย่างมาก เขาเห็นว่า “แขกที่มาจากสองแห่งนี้ ต่างก็ให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก” ที่สิงคโปร์ บ้านเมืองสะอาดจนเกินไป แม้แต่หญ้าที่เพิ่งจะงอกขึ้นมาจากกำแพงก็จะถูกถอนทิ้ง หรือเมล็ดของต้นไม้ที่ร่วงลงมาบนพื้นก็จะถูกกวาดทิ้งในทันที ทำให้ไม่มีสภาพแวดล้อมที่ยังมีความเป็นธรรมชาติเหมือนในไต้หวัน

 

ใช้ชีวิตให้เหมือนกับเป็นเมล็ด

พิพิธภัณฑ์เมล็ดเชียนฉีจะเก็บสะสมเฉพาะเมล็ดที่พบได้ตามที่ราบ ส่วนเมล็ดที่อยู่บนภูเขาก็ปล่อยให้มันอยู่บนภูเขาต่อไป

พื้นที่ภายในของเชียนฉีถูกสร้างขึ้นในแบบหลบหลีกต้นไม้ “เราไม่ได้สร้างอาคารจนเสร็จแล้วค่อยปลูกต้นไม้ แต่ต้นไม้อยู่ของเขาตรงนั้นมาก่อนแล้ว เราเพียงแต่สร้างอาคารขึ้นมาจากข้างๆ” เหลียงเฉาซวินกล่าว

การทำฟาร์มในแถบหลีกั่งของเมืองผิงตงของพวกเขาก็ใช้วิธีแบบง่ายๆ ขอเพียงได้เมล็ดที่รู้สึกชอบมา ก็จะนำไปปลูกแล้วรอให้มันเติบโตขึ้นมา “เราเป็นคนง่ายๆ สบายๆ ธรรมชาติให้อะไรมาเท่าไหร่ เราก็ใช้ไปเท่านั้น” ป๋าเหลียงกล่าว

คุณจ้าวอิงหลิงก็บอกกับเราว่า การนำเมล็ดมาใช้สร้างสรรค์งานศิลปะของตน เกิดขึ้นจากการออกแบบอย่างงดงามของธรรมชาติ คุณจ้าวอิงหลิงกล่าวอีกว่า “เราไม่ได้ทำมันออกมา แต่เป็นเพราะมันเติบโตขึ้นมาเป็นแบบนั้น เราเพียงแต่เอามันมาปรุงแต่งเพิ่มแค่นั้นเอง” รองเท้าส้นสูงที่ทำจากฝักของต้นมะฮอกกานีและหงอนไก่ไทย ก็ได้อานิสงส์จากอากาศอันอบอุ่นและความชื้นที่เหมาะสมทางภาคใต้ ซึ่งทำให้หลังจากที่ฝักของมะฮอกกานีแตกออกแล้วจะม้วนเป็นเส้นโค้ง คุณจ้าวอิงหลิงจึงได้นำเอาฝักโค้งๆ เหล่านี้มาทำเป็นรองเท้าส้นสูงที่มีความโค้งไปตามอุ้งเท้า ผลสนที่ถูกทาสีสันต่างๆ ลงไปบนเปลือก ให้ความรู้สึกอันสดใสราวกับเป็นต้นคริสต์มาส หรือการเอาผลของต้นไม้ต่างๆ มาประกอบกันเป็นรูปนกฮูก หมูตัวน้อยที่กำลังยิ้ม รวมไปจนถึงหอยทาก ต่างก็เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากฝีมือของธรรมชาติทั้งสิ้น

ช่วงท้าย เราขอถ่ายภาพหมู่ของทั้งครอบครัว แต่ถูกปฏิเสธอย่างสุภาพ เหลียงเฉาซวินบอกว่า “พวกเราคุ้นเคยกับการปล่อยให้เมล็ดเป็นตัวเอกมากกว่า” ตลอดชีวิตของทุกคนในครอบครัวนี้ ได้ท่องเที่ยวอย่างมีความสุขไปตามอำเภอใจในโลกแห่งต้นไม้โดยไม่คิดจะหวนกลับ และนี่ก็คือภาพวาดแห่งชีวิตจริงที่มองเห็นได้ผ่านพิพิธภัณฑ์เมล็ดเชียนฉี

ไม่ต้องพูดถึงปรัชญาที่ล้ำลึก สนใจแต่เพียงความสนุกสนาน หากแต่ในช่วงที่ได้สัมผัสกับเมล็ดพืชทั้งหลาย ก็ได้ประจักษ์ถึงสิ่งที่มันพยายามบอกกับเราว่า เมล็ดเล็กๆ เหล่านี้ ทำให้เราเหมือนได้เห็นโลกทั้งใบเมื่อมองผ่านเม็ดทราย เป็นความลึกล้ำเกินกว่าจะอธิบายด้วยคำพูด