New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ EU จัดให้ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนสำคัญใน “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” ทั้งยังกำหนดให้ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่สำคัญในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกอีกด้วย

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 ก.ย. 64
 
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (European External Action Service, EEAS) ได้ประกาศ “แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” (The EU Strategy for Cooperation in the Indo-Pacific) โดยมีเนื้อหาที่ระบุถึง การแสดงความห่วงใยต่อกรณีที่จีนเร่งขยายแสนยานุภาพทางการทหารอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ส่งผลให้ทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออกและสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน กลายเป็นจุดที่ได้รับการจับตามากที่สุด ซึ่งอาจนำมาซึ่งผลกระทบทางอ้อมต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในทวีปยุโรป โดย EU เน้นย้ำว่า จะเร่งประสานความร่วมมือกับไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และพันธมิตรในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์และห่วงโซ่คุณค่า พร้อมทั้งแสวงหาพันธมิตรที่ยังมิได้มีการร่วมลงนามความตกลงด้านการค้าและการลงทุน อย่างเช่นไต้หวัน ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนแบบทวิภาคีกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป
 
กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอบคุณด้วยใจจริง สำหรับการที่ EU จัดให้ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนสำคัญใน “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” พร้อมนี้ EU ยังได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ความมั่นคงในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งกำหนดให้ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่สำคัญของ EU ในพื้นที่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกอีกด้วย
 
นับเป็นครั้งแรกที่ EU ระบุชื่อไต้หวันลงในแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของ EU ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก กต.ไต้หวันเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การที่ EU และไต้หวันเสริมสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและห่วงโซ่คุณค่าที่มีความหลากหลายให้แก่ EU แล้ว ยังสามารถช่วยให้ EU บรรลุเป้าหมายตามนโยบายการค้าแบบ “Open Strategic Autonomy” หลังยุคโควิด – 19 ได้ในเร็ววัน
 
ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่มีแนวคิดและค่านิยมสากลด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม เช่นเดียวกับ EU โดยจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆกับ EU อย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างเซมิคอนดักเตอร์ เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสีเขียว และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิด – 19 โดยไต้หวันจะเรียกร้องให้ EU เร่งลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน –EU โดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งดำเนินการประเมินผลกระทบ (impact assessment) กำหนดขอบเขตการเจรจา (Scoping Exercise) และการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) ควบคู่ไปพร้อมกัน