New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 28 ก.ย. 64
ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 (UNGA76) ประจำปี 2021 รัฐบาลไต้หวันยังคงพยายามที่จะให้แผนผลักดันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสหประชาชาติ (UN) ของไต้หวัน ได้รับความสำคัญและการสนับสนุนจากประชาคมโลก ผ่านวิธีการสร้างสรรค์อันหลากหลาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแน่วแน่และความคาดหวังของประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23.5 ล้านคน ที่ต้องการเข้ามีส่วนร่วมในระบบของ UN กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอขอบคุณประชาคมโลกด้วยใจจริง ที่ให้การสนับสนุนต่อแผนผลักดันเข้าร่วม UN ของไต้หวันในวงกว้าง พร้อมเน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่มิอาจขาดหายไปในการฟื้นฟูหลังยุคโควิด - 19 และจะร่วมบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของ UN ไปด้วยกัน
ตัวแทน 14 ประเทศพันธมิตรของไต้หวันที่เป็นประเทศสมาชิกของ UN ต่างใช้วิธีการร่วมลงนามและทยอยส่งหนังสือเรียกร้องต่อ Mr. Antonio Guterres เลขาธิการของสหประชาชาติ ให้เร่งส่งจดหมายเชิญให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในระบบ UN ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมการประชุม กลไกและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของ SDGs อย่างเท่าเทียมและสมศักดิ์ศรี โดยเหล่าประเทศพันธมิตรต่างยื่นเสนอว่า ประชาชนชาวไต้หวันไม่ควรถูกทอดทิ้ง ตลอดจนคุณประโยชน์ที่ไต้หวันร่วมอุทิศ ให้กับประชาคมโลกมิควรถูกมองข้าม
ในระหว่างการจัดอภิปรายทั่วไป (General Debate) ของ UNGA ระหว่างวันที่ 21 – 27 ก.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของประเทศพันธมิตรรวม 13 คน ต่างทยอยเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน เพื่อเรียกร้องให้ UN เร่งบรรลุเป้าหมาย “เราคือประชาชน” (We the peoples) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ตราไว้ในกฎบัตรของ UN โดยไม่ควรอ้างอิงญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ในการกีดกันไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมในกลไก การประชุมหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
บรรดาประเทศพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกับไต้หวัน ต่างร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นผ่านวิธีการอันหลากหลายในเวทีการประชุมนานาชาติต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีดังต่อไปนี้ แถลงการณ์ร่วมที่ประกาศโดยสหรัฐฯ และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมระหว่างญี่ปุ่น – ออสเตรเลีย มีเนื้อความที่ระบุถึงการให้ความสำคัญในการสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนวันเปิดการประชุม UNGA กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้แถลงให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม UN อย่างมีความหมาย โดยประชาคมโลกจะได้รับประโยชน์จากการที่ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างแน่นอน นอกจากนี้ นายโยชิฮิเดะ ซูงะ (Yoshihide Suga) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยังได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในเวทีอภิปรายทั่วไปของ UNGA อีกทั้ง “การประชุมสุดยอดสถานการณ์โควิด – 19 โลก” (Global COVID-19 Summit) ที่มีประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เป็นประธานในการประชุม ได้เชิญนายเฉินเจี้ยนเหริน อดีตรองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมการประชุม เป็นต้น
ทางด้านหน่วยงานสภานิติบัญญัติของนานาประเทศ กลุ่มสมาชิกรัฐสภาจาก 13 ประเทศต่างทยอยยื่นเสนอญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน ลงนามในหนังสือเรียกร้องและยื่นต่อเลขาธิการ UN เพื่อเป็นการสนับสนุนแผนผลักดันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน UN ของไต้หวัน
แผนผลักดันฯในปีนี้ ได้รับการมองเห็นจากประชาคมโลกมากขึ้นผ่านการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติและสื่อใหม่ ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศแถลงการณ์ว่าควรยอมรับให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมเพื่อสรรค์สร้างระบบ UN ที่มีความยืดหยุ่น โดยบทความของรมว.อู๋ฯ ได้รับการตีพิมพ์จากสื่อแนวหน้าในระดับนานาชาติ รวม 226 ครั้ง ส่วนวิดีทัศน์สั้นเพื่อการประชาสัมพันธ์ ภายใต้ชื่อ “แด่ เสรีภาพ” ที่จัดทำโดยกต.ไต้หวัน ก็ขานรับต่อหัวข้อหลักของการประชุม UN ปีนี้ ว่าด้วย “เคารพสิทธิมนุษยชน” โดยได้รับกระแสตอบรับจากผู้ชมทางอินเทอร์เน็ต ในการร่วมรับชมรวมกว่า 11.89 ล้านครั้ง
แผนผลักดันฯในปีนี้ ยังจัดให้มีเว็บเพจเพื่อการประชาสัมพันธ์ “GiveTaiwanAVoice.com” โดยได้เชิญสาธารณชนทั่วโลกที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน UN ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทาง “โคมลอยแบบออนไลน์” เพื่อแสดงถึงการสนับสนุนไต้หวัน ซึ่งมีนักการเมือง สมาชิกรัฐสภาและประชาชนกว่า 4,500 คน จาก 75 ประเทศ ร่วมเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องความชอบธรรมให้แก่ไต้หวัน
สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในนครนิวยอร์ก ก็ได้ขานรับแผนผลักดันในปีนี้ ด้วยการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกว่า 7 รอบ โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ UN ให้ความสำคัญมาเป็นเวลายาวนาน
กลุ่มประชาชนและชาวจีนโพ้นทะเลที่ให้ความสำคัญต่อการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน ก็ได้ร่วมจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการสร้างสรรค์ ผ่านการสนับสนุนอย่างเปิดเผย การลงนามในแถลงการณ์ร่วม และยื่นหนังสือเรียกร้องต่อเลขาธิการ UN เพื่อให้ได้รับเสียงตอบรับที่มากขึ้นจากประชาคมโลก ตลอดจนประสานความร่วมมือกับรัฐบาลในการแสดงความคาดหวังของไต้หวันที่ต้องการเข้าร่วมในระบบ UN ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก
กต.ไต้หวัน ขอแสดงความขอบคุณต่อประเทศพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันด้วยใจจริง ที่ยังคงให้การสนับสนุนแผนผลักดันเข้าร่วมใน UN ของไต้หวันอย่างหนักแน่น รวมถึงการให้การสนับสนุนของทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม