New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวัน แสดงปาฐกถาที่สถาบัน Hoover Institute มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ ชี้แจงถึงความมุ่งมั่นและความท้าทายที่ไต้หวันต้องเผชิญหน้าในการรักษาสันติภาพระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 28 ก.ย. 64
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาในกรุงไทเป นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในการประชุมสัมมนารูปแบบออนไลน์ประจำปี ภายใต้หัวข้อ “สร้างหลักประกันทางสันติภาพระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน” ที่สถาบัน Hoover Institute มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐอเมริกา รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันตั้งอยู่ในแนวหน้าของการเผชิญกับการแผ่ขยายของอำนาจเผด็จการ ทำให้ไต้หวันต้องมีความระแวดระวังและตื่นตัว รวมทั้งต้องเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศ และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย เพื่อสร้างหลักประกันแห่งสันติภาพให้คงอยู่ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
 
รมว.อู๋ฯ ชี้อีกว่า รัฐบาลจีนพยายามที่จะทำลายความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไต้หวันและประเทศพันธมิตร หรือแม้กระทั่งบิดเบือนญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ในการกีดกันไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยในปัจจุบัน การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนได้ก้าวสู่การแข่งขันเชิงกลุยทธ์ระดับโลก ตั้งแต่สถานการณ์ในฮ่องกง ซินเจียง ไปจนถึงทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและยุโรป เป็นต้น
 
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ยื่นขอเข้าร่วมใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) อย่างเป็นทางการ โดยอาจแฝงวัตถุประสงค์เพื่อกีดกันไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วม หรือกีดกันไม่ให้สหรัฐฯ กลับเข้าสู่กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า CPTPP อีกครั้ง
 
ไต้หวันเป็นหนึ่งในพลังแห่งความดีของโลก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไต้หวันได้ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในแต่ละสมัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังได้ผลักดันความร่วมมือในทุกภาคส่วนกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและประเทศในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ภายใต้กรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (GCTF) โดยในอนาคต ไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกในทุกภาคส่วนร่วมกันประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป
 
รมว.อู๋ฯ ตอบข้อซักถามหลังเสร็จสิ้นการแสดงปาฐกถาว่า ไต้หวันคาดหวังที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคงและการเมืองในเชิงลึกกับสหรัฐฯ ต่อไป โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมลงนามความตกลงการค้าแบบทวิภาคี (BTA) และความตกลงการค้าแบบดิจิทัล (DTA) กับทางสหรัฐฯ ในเร็ววัน พร้อมทั้งยังได้ระบุว่า การเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี. ของรมว.ต่างประเทศของไต้หวัน ก็นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมหารือกันได้ในอนาคตเช่นกัน