New Southbound Policy Portal

ไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ร่วมจัดการประชุมออนไลน์ในหัวข้อ “การใช้พลังเทคโนโลยีในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 ก.ย. 64
 
เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคหลังโควิด – 19 พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นว่าไต้หวันเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่สามารถให้ช่วยเหลือแก่ประชาคมโลก ในการร่วมบรรลุเป้าหมายแห่ง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) ไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นจึงได้ร่วมจัดการประชุมออนไลน์ในหัวข้อ “การใช้พลังเทคโนโลยีในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (Global Cooperation and Training Framework, GCTF)” (vGCTF on Building Resilience and Accelerating the SDGs through Technology) ในวันที่ 29 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 76
 
ในการประชุมครั้งนี้ นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) Mr. Jeremy Cornforth รองผู้อำนวยการสถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT/T) Mr. IZUMI Hiroyasu ตัวแทนสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน และ Mr. Jeffrey Prescott รองผู้แทนถาวรของสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ต่างเข้าร่วมกล่าวปราศรัยในแบบออนไลน์
 
โดยรมว.อู๋ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันเป็นสมาชิกที่ขาดไม่ได้ของประชาคมโลก ซึ่งไต้หวันยินดีที่จะอุทิศคุณประโยชน์ด้านเทคโนโลยี ที่ถือเป็นจุดเด่นของไต้หวัน ในการประสานความร่วมมือกับทั่วโลก เพื่อมุ่งสู่แนวทางการฟื้นฟูหลังยุคโควิด -19 และร่วมบรรลุเป้าหมายของ “แผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030” รวมไปจนถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านอื่นๆ

Mr. Cornforth กล่าวว่า ไต้หวันเป็นแหล่งรวมระบบนิเวศด้านเซมิคอนดักเตอร์ในระดับสากล จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “อาณาจักรแห่งซิลิคอน” ในภูมิภาคเอเชีย Mr. IZUMI กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกของโรคโควิด – 19 ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ซึ่งประชาคมโลกควรยึดมั่นในหลักการ “ไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง” เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน โดย Mr. Prescott ย้ำว่า สหรัฐฯ ยินดีและให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์การที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้เชิญเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการกว่า 80 คนจาก 26 ประเทศเข้าร่วมอภิปรายในรูปแบบออนไลน์