New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วม “พิธีเปิดป้ายสถาบันนวัตกรรมเซมิคอนดักเตอร์และการผลิตที่ยั่งยืน” ของ NCKU คาดหวังที่จะผลักดันให้ไต้หวันก้าวไปสู่การเป็น “ศูนย์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย” ในภูมิภาคเอเชีย

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 22 ต.ค. 64
 
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “พิธีเปิดป้ายสถาบันนวัตกรรมเซมิคอนดักเตอร์และการผลิตที่ยั่งยืน” (Academy of Innovative Semiconductor and Sustainable Manufacturing) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง (NCKU) โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ไต้หวันก้าวไปสู่การเป็น “ศูนย์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย” ในภูมิภาคเอเชีย ผ่านการจัดตั้งสถานบันเซมิคอนดักเตอร์ในครั้งนี้ ประกอบกับการประสานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการและภาครัฐควบคู่กัน
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า หลายปีมานี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในสงครามการค้าระหว่างจีน - สหรัฐฯ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยเฉพาะวิกฤติขาดแคลนชิพของผู้ผลิตรถยนต์ ส่งผลให้ประชาคมโลกต่างเล็งเป้ามายังอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับโลก 
 
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันได้รับการยอมรับให้เป็นที่หนึ่งในระดับสากล แต่พวกเรายังคงมุ่งมั่นพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไต้หวันจะรักษามาตรฐานความได้เปรียบที่มีอยู่เดิม พร้อมเร่งยกระดับศักยภาพการวิจัยและพัฒนาต่อไป ด้วยการบ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่
 
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ในส่วนของการลงทุนเพื่อบ่มเพาะบุคลากรนั้น นับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไต้หวัน ซึ่งนี่เป็นวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง “สถาบันเซมิคอนดักเตอร์” ตราบจนปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งสถาบันเซมิคอนดักเตอร์ขึ้น 4 แห่งในไต้หวัน โดยสถาบันเซมิคอนดักเตอร์ใน NCKU เป็นแห่งแรกใน 4 แห่งที่ทำพิธีเปิดป้ายอย่างเป็นทางการ
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า สถาบันเซมิคอนดักเตอร์ของ NCKU ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ประกอบการรวม 15 ราย เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ ทั้งนี้ เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพและศักยภาพด้านการเรียนรู้ของเหล่าบุคลากร ผ่านการร่วมวิจัยและพัฒนาโดยภาคอุตสาหกรรมและวิชาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการผลักดันให้ไต้หวันก้าวไปสู่การเป็น “ศูนย์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย” ในภูมิภาคเอเชีย ผ่านการจัดตั้งสถาบันเซมิคอนดักเตอร์ในครั้งนี้ประกอบกับการประสานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการและภาครัฐควบคู่กัน ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างบทบาทที่สำคัญของไต้หวันในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกต่อไป