New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันตอบรับคำเชิญของ GLOBSEC คลังสมองของสโลวัก เข้าร่วมแสดงปาฐกถา เรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมต่อต้านอำนาจเผด็จการและเสริมสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานหลังยุคโควิด – 19

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 26 ต.ค. 64
 
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ตอบรับคำเชิญของ “การประชุมความมั่นคงโลก” (GLOBSEC) คลังสมองที่ตั้งอยู่ในกรุงบราติสลาวาของสาธารณรัฐสโลวัก โดยได้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาใน “การประชุมไต้หวัน” (Taiwan Forum) เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนี่เป็นอีกครั้งที่รมว.อู๋ฯ ได้รับเชิญให้เดินทางเยือนประเทศในภูมิภาคยุโรป พร้อมเข้าร่วมแสดงปาฐกถาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อเนื่องจากที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาใน “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโคเปนเฮเกน” ที่จัดขึ้นในเดนมาร์ก เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2019
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวในการปราศรัยว่า ไต้หวัน – สโลวักเป็นประเทศที่ยึดมั่นในค่านิยมร่วมกันด้านเสรีภาพ หลักธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน จึงเรียกร้องให้หุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันเร่งเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้า การลงทุนและการเชื่อมโยงทางภาคอุตสาหกรรม ภายใต้พื้นฐานแข็งแกร่งที่มีอยู่เดิม โดยผู้ประกอบการไต้หวันต่างเร่งแสวงหาช่องทางความร่วมมือกับผู้ประกอบการสโลวัก ในด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลอัจฉริยะ อุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว เป็นต้น โดยในระหว่างนี้ คณะสำรวจโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของไต้หวันกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางเยือน 3 ประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ประกอบด้วย สาธารณรัฐสโลวัก สาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐลิทัวเนีย เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ อันถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างสองประเทศได้ดีที่สุด
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ในช่วงที่ไต้หวันเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา สโลวัก เช็กเกีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ สหรัฐฯและญี่ปุ่น ต่างทยอยบริจาควัคซีนให้กับไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงวงจรแห่งความดีที่หมุนเวียนในกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตย นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้ขอบคุณคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสโลวัก ที่ร่วมลงมติให้ผ่านญัตติในการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) เมื่อช่วงที่ผ่านมา
 
“การประชุมความมั่นคงโลก” (GLOBSEC) เป็นหนึ่งในคลังสมองที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยการประชุมในบราติสลาวา มีกำหนดการจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี ถือเป็นการประชุมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองที่สำคัญในภูมิภาคยุโรป ซึ่งได้รับความสำคัญจากกลุ่มประเทศในยุโรป และมีบทบาทสำคัญด้านการเมืองในระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน
 
หลายปีมานี้ ไต้หวัน – สโลวัก ได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือหลายฉบับ ประกอบด้วย “ความตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน” “ความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนใบขับขี่โดยไม่ต้องทดสอบ” “ความตกลงว่าด้วยโครงการ Work and Holiday” และ “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ” เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกด้านสภาพแวดล้อมการลงทุนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการชาวไต้หวัน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลสโลวักยังได้บริจาควัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 160,000 โดสให้กับไต้หวัน เพื่อช่วยเหลือในการสกัดกั้นโรคโควิด – 19 จึงเชื่อว่าในวงจรแห่งความดีที่พันธมิตรด้านประชาธิปไตยร่วมกันป้องกันโรคโควิด – 19 อย่างเต็มที่ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน – สโลวัก จะดำเนินไปในเชิงลึกยิ่งขึ้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด – 19