New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 2 พ.ย. 64
“การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29” ที่นิวซีแลนด์เป็นประเทศเจ้าภาพ เตรียมเปิดฉากขึ้นในวันที่ 12 พ.ย. นี้ โดยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 พ.ย. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ทำหน้าที่เป็นประธานในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้น ณ อาคารทำเนียบประธานาธิบดี โดยปธน.ไช่ฯ ได้ประกาศแต่งตั้งให้ดร.จางจงโหมว ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้นำไต้หวัน เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกในครั้งนี้
ปธน.ไช่ฯ คาดหวังให้ดร.จางฯ แสวงหาความสนับสนุนให้ไต้หวันได้รับสิทธิ์เข้าร่วมกลุ่ม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) จากประเทศสมาชิกเอเปค พร้อมเรียกร้องให้เอเปคส่งเสริมให้ทุกประเทศได้รับวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ภายใต้พื้นฐานแห่งความเท่าเทียมและด้วยวิธีการที่รวดเร็ว พร้อมทั้งประยุกต์ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการสรรค์สร้างระบบการแพทย์ที่แข็งแกร่งยืดหยุ่น ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการป้องกันโรคระบาด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพวกเราจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ประชาคมโลก เพื่อร่วมสกัดกั้นโรคระบาดไปด้วยกัน
“การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ” ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดร.จางฯ ได้นำเสนอแนวคิดและข้อเสนอของไต้หวันในประเด็นวัคซีนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการหารือในการประชุมครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่โอกาสและความท้าทายหลังยุคโควิด – 19
โดยในระหว่างการประชุมเอเปคครั้งนี้ ดร.จางฯ จะนำเสนอให้ที่ประชุมเห็นถึงการให้การสนับสนุนและการยึดมั่นในระบบการค้าเสรีของไต้หวัน โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอเปคจะยึดมั่นในจิตวิญญาณทางการค้าเสรี พร้อมกระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด – 19 โดยเร็ว
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไต้หวันยังได้ยื่นขอเข้าร่วม CPTPP อย่างเป็นทางการ โดยการที่ไต้หวันได้เข้าร่วม CPTPP จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางภาคอุตสาหกรรมระหว่างประเทศสมาชิก พร้อมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ปธน.ไช่ฯ จึงได้กำชับให้ดร.จางฯ ต้องแสวงหาความสนับสนุนให้ไต้หวันได้รับสิทธิ์เข้าร่วมกลุ่ม CPTPP จากประเทศสมาชิกเอเปคในการประชุมครั้งนี้ด้วย
ในตอนท้าย ปธน.ไช่ฯ ได้กล่าวขอบคุณดร.จางฯ และคณะตัวแทนที่ยินดีแบกรับภารกิจสำคัญ ในการเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในเวทีนานาชาติ
ในลำดับต่อมา ดร.จางฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้เป็นตัวแทนในการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปคในครั้งนี้ ซึ่งในประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิด – 19 ข้าพเจ้าเห็นว่า การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจระหว่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูก่อน แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างถ้วนหน้า โดยนอกจากการเปิดประเทศแล้ว ประชาคมโลกยังต้องร่วมยึดมั่นในจิตวิญญาณทางการค้าเสรี จึงจะเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อไป
ในระหว่างการตอบข้อซักถามของสื่อ ในประเด็นที่ว่า ดร.จางฯ จะใช้วิธีการใดในการชักจูงประเทศสมาชิกให้ช่วยสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม CPTPP ดร.จางฯ กล่าวว่า ตัวแทนและผู้นำประเทศทุกคนมีโอกาสเพียง 6 นาทีในการพูดสิ่งที่เขาต้องการสื่อสาร โดยดร.จางฯ จะชี้แจงให้ทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพของไต้หวันในการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งประกอบด้วย 2 ประการหลักด้วยกัน ประการแรก มูลค่าการค้ารวมของไต้หวันครองสัดส่วนสูงใน CPTPP และที่สำคัญกว่านั้นคือ CPTPP เป็นข้อตกลงทางการค้าแบบพหุภาคีระหว่างประเทศที่มีมาตรฐานสูงมาก ซึ่งพวกเรามีพัฒนาการที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานข้างต้นแล้ว
นอกจาก “การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ” ที่เตรียมเปิดฉากขึ้นในวันที่ 12 พ.ย. นี้แล้ว ประเทศเจ้าภาพอย่างนิวซีแลนด์ยังได้วางแผนจัด “การประชุมรัฐมนตรีประจำปีของเอเปค” (AMM) ในระหว่างวันที่ 8 – 9 พ.ย. อีกด้วย โดยการประชุมในวันที่ 8 พ.ย. จะมีการร่วมหารือกันในประเด็น “การค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” โดยนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสำนักงานเจรจาเศรษฐกิจและการค้า สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ส่วนการประชุมที่จัดขึ้นในวันที่ 9 พ.ย. จะมีการหารือกันในประเด็น “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ” โดยนางหวังเหม่ยฮัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนไต้หวันเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว