New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่ฯ ให้การต้อนรับคณะตัวแทนจาก ”คณะกรรมการพิเศษด้านการแทรกแซงกระบวนการทางประชาธิปไตยและการสร้างข่าวสารเท็จจากต่างชาติ”

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 5 พ.ย. 64

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 พ.ย. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เปิดทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อให้การต้อนรับคณะตัวแทนจาก ”คณะกรรมการพิเศษด้านการแทรกแซงกระบวนการทางประชาธิปไตยและการสร้างข่าวสารเท็จจากต่างชาติ” (European Parliament's Special Committee on Foreign Interference in all Democratic Processes, including Disinformation, INGE) ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษของรัฐสภายุโรป โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐสภายุโรปได้ส่งคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวัน จึงเปี่ยมด้วยนัยยะที่พิเศษยิ่ง โดยไต้หวันยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ด้านการต่อต้านข่าวปลอมให้กับมิตรสหายในยุโรป ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระหว่างกัน และเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ก่อนอื่นขอต้อนรับ Mr. Glucksmann ที่นำคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ พร้อมกล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบประวัติศาสตร์ที่รัฐสภายุโรปได้จัดส่งคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวัน ซึ่งปธน.ไช่ฯ ได้กล่าวขอบคุณคณะตัวแทนที่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม อันจะเห็นได้จากการเดินทางมาเยือนไต้หวันของคณะตัวแทนในครั้งนี้
 
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบต่อ “รายงานความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไต้หวัน - EU” (EU-Taiwan Political Relations and Cooperation) ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนที่สูงถึงร้อยละ 86.3 ปธน.ไช่ฯ จึงขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณทุกเสียงสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา โดยปธน.ไช่ฯ เชื่อมั่นว่า ไต้หวัน – EU จะสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระหว่างกันทุกระดับในเชิงลึกต่อไป
 
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้ว ไต้หวัน – สาธารณรัฐเช็กได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างกัน โดยในครั้งนี้ การนำคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนของ Mr. Glucksmann ก็เพื่อต้องการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางที่ไต้หวันใช้ในการรับมือกับภัยคุกคามลูกผสมและการต่อต้านข่าวปลอม
 
โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา การประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (GCTF) ที่ย้ายไปจัดที่ยุโรป ภายใต้หัวข้อ “การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลก” ก็จัดขึ้นที่สาธารณรัฐเช็ก และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากการเผยเแพร่ข่าวปลอม ไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการต่อต้านข่าวปลอมให้กับมิตรสหายชาวยุโรปเช่นเดียวกัน
 
ในลำดับต่อมา Mr. Glucksmann กล่าวขณะปราศรัยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐสภาจัดส่งคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวัน จึงเห็นได้ชัดว่าประชาธิปไตยของไต้หวัน มีบทบาทและความสำคัญในสายตาของชาวยุโรปมากเพียงใด
 
Mr. Glucksmann ยังชี้ว่า การที่พวกเขาเดินทางมาไต้หวัน ก็เพื่อต้องการที่จะถ่ายทอดข้อความที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย นั่นก็คือ “ไต้หวันไม่โดดเดี่ยว” ซึ่งกลุ่มประเทศในยุโรปพร้อมที่จะยืนเคียงข้างไต้หวัน เพื่อร่วมธำรงรักษาเสรีภาพ หลักนิติธรรม และศักดิ์ศร์ของมนุษยชาติให้คงอยู่สืบไป
 
นอกจากนี้ Mr. Glucksmann ยังกล่าวว่า สมาชิกของคณะตัวแทนในครั้งนี้มาจากพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละพรรคมีแนวคิดที่ต่างกัน แต่มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือทุกพรรคล้วนมีความเห็นพ้องในการสนับสนุนประชาธิปไตยของไต้หวัน
 
Mr. Glucksmann กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตย พวกเรายังคงยืนอยู่บนเรือลำเดียวกัน ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สหภาพยุโรป (EU) ประกาศจุดยืนในการยืนเคียงข้างไต้หวัน โดยคณะตัวแทนกลุ่มนี้นับได้ว่าเป็นก้าวแรกของการแลกเปลี่ยนระหว่างสองฝ่าย ในลำดับขั้นตอนต่อไปคือการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่ายร่วมหารือแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – EU ในเชิงลึกต่อไป
 
โดยคณะตัวแทนในครั้งนี้ ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภายุโรปแบบข้ามพรรค เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการรัฐสภายุโรป และที่ปรึกษาด้านนโยบายของพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง รวม 7 คน ได้แก่ Mr. Andrius Kubilius จากลิทัวเนีย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐลิทัวเนีย  Mr. Markéta Gregorová จากเช็กเกีย Mr. Andreas Schieder จากออสเตรีย Mr. Petras Auštrevičius จากลิทัวเนีย Mr. Georgios Kyrtsos จากกรีก และ Mr. Marco Dreosto จากอิตาลี โดยมี Mr. Glucksmann เป็นหัวหน้าคณะ