New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 13 พ.ย. 64
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานแถลงข่าวหลังการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (APEC Economic Leaders' Meeting, AELM) ภายใต้กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (APEC) ประจำปี 2021 ขึ้น ณ ทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยมีดร.จางจงโหมว ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งเป็นตัวแทนของไต้หวันไปเข้าร่วมการประชุม พร้อมด้วยนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นางหวังเหม่ยฮัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายสวีซือเจี่ยน รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนายอู๋ซ่างเหนียน อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของไต้หวันที่เข้าร่วมในกลุ่มเอเปค เข้าร่วมชี้แจงภาพรวมของสถานการณ์การประชุมเอเปค ผลสัมฤทธิ์ในการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค และผลสัมฤทธิ์ในการเข้าร่วมการประชุม AELM เป็นต้น
ดร.จางฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ประเด็นหลักของการประชุมผู้นำเอเปคในครั้งนี้ คือ “แนวทางการประสานความร่วมมือในการเร่งให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคโควิด – 19”
โดยเนื้อหาการกล่าวปราศรัยของดร.จางฯ ในระหว่างการประชุม สรุปโดยสังเขปได้ ดังนี้
ในการประชุมรอบพิเศษที่จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ข้าพเจ้าได้ระบุถึงความวิตกกังวลต่อการขาดแคลนวัคซีนของไต้หวัน ทางรัฐบาลสหรัฐฯและญี่ปุ่น รวมถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายราย ต่างร่วมทยอยบริจาควัคซีนให้กับไต้หวัน ทำให้ไต้หวันผ่านวิกฤตดังกล่าวมาได้อย่างราบรื่น ตราบจนปัจจุบัน ในฐานะที่ไต้หวันเป็นประเทศสมาชิกของเอเปคที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการป้องกันโรคระบาด และสกัดกั้นโรคระบาดไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้างได้อย่างประสบความสำเร็จ Chinese Taipei ขอยืนยันอีกครั้งว่า เรายินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ต่อไป
หากพูดถึงความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การเกิดวิกฤตคอขวดในห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์เป็นประเด็นที่ทั่วโลกสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของการขาดแคลนชิปวงจรรวม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การที่อุปสงค์ถูกประเมินไว้ต่ำกว่าความต้องการจริง การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความหนาแน่นในการขนส่งสินค้าและความต้องการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
การยกระดับศักยภาพด้านการผลิตชิปวงจรรวมเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า กลไกของตลาดเสรีเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนสินค้าหรือสินค้าล้นตลาด
บนพื้นฐานแนวคิดเช่นนี้ เราได้สมัครขอเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ซึ่งเป็นกรอบข้อตกลงที่ครอบคลุมที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในระดับภูมิภาคได้ โดยในขณะเดียวกัน ก็เป็นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายว่าด้วยเสรีทางการค้าและการลงทุน Chinese Taipei มีบทบาทที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีระดับสูงของโลกที่ไม่สามารถมีผู้ใดมาทดแทนได้ พวกเรามีระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นตลาดที่มีความโปร่งใสสูง รวมทั้งมีความสามารถและความยินดีที่จะเคารพและปฏิบัติตามมาตรฐานระดับสูงของกลุ่ม CPTPP
หลังจากนั้น ดร.จางฯ ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าว โดยถูกถามถึงการที่ดร.จางฯ ระบุถึงความสมัครใจของไต้หวันในการเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP พร้อมมุ่งเน้นไปที่ข้อได้เปรียบของไต้หวัน ประเทศอื่นๆ ว่ามีการตอบสนองอย่างไรบ้าง ดร.จางฯ ตอบว่า การประชุมที่จัดขึ้นได้เปิดให้ตัวแทนของแต่ละประเทศได้กล่าวแสดงความคิดเห็นแบบเรียงลำดับตามตัวอักษรของรายชื่อประเทศ โดยไม่มีการจัดเวลาให้ตอบข้อซักถามใดๆ
สำหรับเงื่อนไขของการเข้าร่วมในกลุ่ม CPTPP ของไต้หวัน ดร.จางฯ กล่าวว่า เนื้อหาการกล่าวปราศรัยของข้าพเจ้าระบุไว้อย่างชัดเจนว่า Chinese Taipei มีบทบาทที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีระดับสูงของโลกที่ไม่สามารถมีผู้ใดมาทดแทนได้ โดยพวกเรามีระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นตลาดที่มีความโปร่งใสสูง รวมทั้งมีความสามารถและความยินดีที่จะเคารพและปฏิบัติตามมาตรฐานระดับสูงของกลุ่ม CPTPP “นี่เป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดของพวกเรา”
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงกรณีที่รัฐบาลจีนได้เคยประกาศไว้ว่า การที่ไต้หวันหรือ Chinese Taipei ต้องการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเข้าร่วมภายใต้ “หลักการจีนเดียว” เท่านั้น ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนได้ชี้แจงแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความปรารถนาดีในระหว่างการประชุมหรือไม่ ดร.จางฯ ตอบว่า “ไม่” ซึ่งหมายความว่า จีนมิได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ "หลักการจีนเดียว" ในการประชุมครั้งนี้
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึง ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค นายฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 101 ของญี่ปุ่น กล่าวว่า CPTPP เป็นองค์การการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีมาตรฐานสูง ไม่เกรงกลัวต่อพฤติกรรมการข่มขู่จากประเทศใดๆ ว่า หมายถึงประเทศจีนหรือไม่ และอีกหนึ่งประเด็นคำถามจากผู้สื่อข่าวคือ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ระบุว่าจะให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระหว่างการประชุมหรือไม่ รมว.เติ้งฯ กล่าวว่า นรม. ฟูมิโอะ คิชิดะ มิได้ระบุถึงประด็นการเข้าร่วมของจีนแต่อย่างใด นอกจากนี้ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง นั่นก็คือไม่อ้างอิงความคิดเห็นของผู้นำประเทศใดๆ มาเป็นหลักในการพิจารณา ดร.จางฯ กล่าวว่า ไต้หวันได้ยื่นสมัครเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็มิได้มีกล่าวถึงกรณีดังกล่าวด้วย
ต่อกรณีที่ทั้งจีนและไต้หวันต่างก็ต้องการเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP ในระหว่างการประชุมในครั้งนี้ จีนได้มีการระบุถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการเข้าร่วม CPTPP หรือมีนัยยะที่ต้องการแข่งขันกับไต้หวันหรือไม่ ดร.จางฯ กล่าวว่า “ไม่มี” โดยในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา มิได้มีบรรยากาศของการแข่งขันระหว่างประเทศใดๆ ทั้งสิ้น