New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วม “พิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักวิชาการของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ITRI) ครั้งที่ 10” คาดหวังให้ ITRI นำพาไต้หวันก้าวไปสู่การยกระดับและการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ไต้หวันกลายเป็นพลังสำคัญที่ขาดไม่ได้ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 16 พ.ย. 64
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 16 พ.ย. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “พิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักวิชาการของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ITRI) ครั้งที่ 10” โดยปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความชื่นชม  5 นักวิชาการรุ่นใหม่ที่ร่วมสร้างคุณประโยชน์ให้แก่แวดวงอุตสาหกรรมและประเทศชาติตลอดช่วงที่ผ่านมา พร้อมคาดหวังให้ ITRI ประยุกต์ใช้ศักยภาพด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่โดดเด่น ในการนำพาให้ไต้หวันก้าวไปสู่การยกระดับและการเปลี่ยนผ่านในยุคหลังโควิด – 19 ทั้งนี้ เพื่อให้ไต้หวันกลายเป็นพลังสำคัญที่ขาดไม่ได้ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า พิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักวิชาการ ITRI ในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 แล้ว อันดับแรก ปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความยินดีกับ 5 นักวิชาการรุ่นใหม่ที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้ว ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่ไต้หวันได้มีการจัดตั้ง ITRI เป็นต้นมา ได้บ่มเพาะบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมเป็นจำนวนมาก โดยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของ ITRI ก็ได้สำแดงประสิทธิภาพสูงสุดในภารกิจการป้องกันโรคระบาดในครั้งนี้
 
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรุงไทเปและนครนิวไทเปได้เข้าสู่มาตรการป้องกันโรคระบาดระดับ 3 ทางเจ้าหน้าที่ ITRI จึงได้เร่งจัดตั้ง “ศูนย์ตรวจคัดกรองโควิด – 19 ในสภาพแวดล้อมความดันบวก”ภายในเวลา 6 ชั่วโมง จากนั้นยังได้ทยอยจัดตั้งห้องตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ความดันบวกเพิ่มขึ้นอีก 155 แห่งภายในเวลารวดเร็ว
 
ปธน.ไช่ฯ ขอบคุณสำหรับความพยายามร่วมกันของเจ้าหน้าที่ ITRI ที่ได้ประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี เข้ามาช่วยเสริมสร้างภารกิจการป้องกันโรคระบาด นับว่าเป็นต้นแบบที่สำคัญในด้าน “การป้องกันโรคระบาดด้วยเทคโนโลยี”
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า 5 นักวิชาการที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำในแวดวงที่มีความสามารถโดดเด่น และร่วมเป็นแรงผลักดันที่ช่วยส่งเสริมให้ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลก
 
นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้ทำการบรรยายถึงคุณประโยชน์ที่ 5 นักวิชาการรุ่นใหม่ได้สร้างขึ้น คนแรกคือนายอู๋หมิ่นฉิว ประธานบริษัทและประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท Macronix โดยเขาได้นำแนวคิด “การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล” มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ คนที่ 2 คือนายไช่ลี่สิง รองประธานบริษัทและประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท MediaTek ที่ได้นำบริษัทก้าวไปสู่เส้นทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมากมาย
 
ส่วนนายอู๋จิ่นเฉิง ซึ่งปัจจุบันเป็นหุ้นส่วนของกองทุน taiwaniacapital เป็นผู้เปี่ยมประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ต่อมาคือนายหยางพั่นฉือ ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยโรคมะเร็งปอดที่ได้รับการยอมรับนับถือในแวดวงการแพทย์ โดยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ดร.หยางฯ และทีมวิจัยได้ร่วมคิดค้นผลงานวิจัยที่สำคัญ ที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด – 19 แพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้โดยตรง ซึ่งได้รับอนุสิทธิบัตรชั่วคราวจากสหรัฐฯ เป็นเครื่องการันตีอีกด้วย
 
คนสุดท้ายคือนายเย่ฉางจิง ผู้ก่อตั้ง Pharmaengine และรองประธานสมาคมพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพไต้หวัน ที่ได้นำทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการคิดค้นยารักษาโรคมะเร็งตับอ่อน
 
นักวิชาการที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้ รวมกับนักวิชาการรุ่นที่ผ่านมา มีทั้งหมด 50 คน กลุ่มคนเหล่านี้คือสมบัติที่ล้ำค่าของไต้หวัน ปธน.ไช่ฯ ขอทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนชาวไต้หวัน ขอบคุณเหล่านักวิชาการที่ได้อุทิศคุณประโยชน์ที่มากมายให้แก่ไต้หวัน
 
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ในยุคหลังโควิด – 19 พวกเราต้องส่งเสริมให้ไต้หวันกลายเป็นพลังสำคัญที่ขาดไม่ได้ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และยังต้องอาศัยศักยภาพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่โดดเด่นของ ITRI นำพาไต้หวันก้าวไปสู่การยกระดับและการเปลี่ยนผ่าน โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังให้นักวิชาการทุกคนร่วมแรงร่วมใจในการผลักดันให้ ITRI มีการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นและทำให้ไต้หวันมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ