New Southbound Policy Portal

แฟชั่นแบบยั่งยืนจากเศษผ้า โลกอันงดงามแห่งการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

หวงเฟยผิง (ซ้าย) ผู้เชี่ยวชาญของ ITRI และเหยียนซื่อฮั่ว (ขวา) CEO ของมูลนิธิอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองแห่งประวัติศาสตร์ ร่วมกันหาหนทางใหม่ให้แก่เศษผ้าอย่างเต็มที่

หวงเฟยผิง (ซ้าย) ผู้เชี่ยวชาญของ ITRI และเหยียนซื่อฮั่ว (ขวา) CEO ของมูลนิธิอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองแห่งประวัติศาสตร์ ร่วมกันหาหนทางใหม่ให้แก่เศษผ้าอย่างเต็มที่
 

ในทุกวันนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่า เป็นตัวการสำคัญที่มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเป็นรองเพียงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่านั้น การกระตุ้นให้เกิดการบริโภค การผลิตเป็นจำนวนมากๆ การใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมที่แม้จะใช้เวลายาวนานก็ยากที่จะฟื้นสู่สภาพเดิมได้

ต่อสภาพการณ์ดังกล่าว กระแสแฟชั่นแบบยั่งยืนที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเครื่องบ่งบอกว่า ขณะที่เราใฝ่หาความสวยงาม จะอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?

 

เมื่อมาถึงแถบต้าเต้าเฉิง (大稻埕) ในไทเป ภาพของอาคารเก่าแก่และอาคารสมัยใหม่ที่อยู่ร่วมกันอย่างลงตัว และเป็นแหล่งชุมนุมที่สำคัญของเหล่านักออกแบบแฟชั่นที่นิยมมาลงหลักปักฐานกันอยู่ที่นี่ ซึ่งในวันนี้เราได้มีโอกาสย่างขึ้นสู่ชั้น 2 ของอาคารเก่าแก่แห่งหนึ่ง

คุณจางเลี่ยงหลิง (張倞菱) ผู้ก่อตั้งของแพลตฟอร์ม picupi เป็นผู้ที่ออกมาต้อนรับพร้อมบอกกับเราว่า “สตูดิโอของโจวอวี้อิ่ง (周裕穎) และจันผู่ (詹朴) ก็อยู่แถวนี้นะ” คุณจางเลี่ยงหลิงที่จู่ๆ ก็ถอนตัวเองออกจากการอยู่ในสื่อระดับแนวหน้าของวงการแฟชั่น มาเปิดแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมแนวคิดของแฟชั่นแบบยั่งยืนเป็นแห่งแรกของไต้หวันในปีค.ศ.2018 โดยพลิกผันตัวเองจากผู้ที่คอยผลักดันแบรนด์เนมระดับเลิศหรู กลายเป็นขุนพลแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการพลิกผันเช่นนี้?
 

เมื่อพาตัวเองออกมาจากสื่อแฟชั่นกระแสหลัก “มาตรฐานด้านความงาม” ภายในใจของจางเลี่ยงหลิงก็เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก

เมื่อพาตัวเองออกมาจากสื่อแฟชั่นกระแสหลัก “มาตรฐานด้านความงาม” ภายในใจของจางเลี่ยงหลิงก็เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก
 

ยิ่งซื้อยิ่งเยอะ แล้วไงต่อดี?

การก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่น ก็เนื่องมาจากความชื่นชอบในเรื่องราวที่แปลกใหม่หรือของที่มีสีสันฉูดฉาด แต่ในช่วง 10 ปีมานี้ การผลิตแบบอุตสาหกรรมที่เน้นปริมาณมากๆ ก็มีความรวดเร็วเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ผลิตออกมาก็มีปริมาณมากขึ้นทุกที ในขณะที่ราคาสินค้าก็ค่อยๆ ถูกลง เสื้อผ้าที่เพิ่งวางตลาดไม่นาน ขอเพียงแค่ฤดูกาลผ่านพ้นไปก็ต้องกลายมาเป็นขยะ เมื่อคิดถึงตอนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวซึ่งยังมีความรู้สึกหวงแหนเสื้อผ้าที่กว่าจะได้มาแต่ละตัวนั้น ช่างยากเย็นแสนเข็ญจริงๆ ความผันเปลี่ยนของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทำให้มุมมองของจางเลี่ยงหลิงที่มีต่อคุณค่าทางวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป

ความคิดเริ่มแรกในการย่างเท้าเข้าสู่เส้นทางแห่งการผจญภัยในการก่อตั้งธุรกิจเป็นอะไรที่เรียบง่ายมากๆ “หากคุณรักในอุตสาหกรรมนี้ ก็ควรจะต้องคิดดูว่าจะทำยังไงที่จะเปลี่ยนมันให้ดีกว่าเดิม” จางเลี่ยงหลิงยังบอกอีกว่า “มิใช่เพียงแค่แสวงหาผลประโยชน์จากการบริโภคอย่างไม่หยุดหย่อนตามแนวคิดในแบบทุนนิยมเท่านั้น แต่เราต้องหาจุดสมดุลระหว่างแฟชั่นกับสิ่งแวดล้อมให้พบ”

แม้ว่าสโลแกนเกี่ยวกับแฟชั่นแบบยั่งยืน (Sustainable Fashion) จะถูกหยิบยกมากล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งมากในช่วงหลายปีมานี้ หากแต่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่สนใจที่จะดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คุณจางเลี่ยงหลิง ซึ่งไม่สามารถหางานที่เหมาะสมกับตัวเองได้ จึงตัดสินใจลองเสี่ยงสักครั้งด้วยการก่อตั้งธุรกิจของตัวเอง โดยเลือกเอาธุรกิจในแวดวงสื่อมวลชนที่ตนถนัดมาใช้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดแนวคิดของตน

นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อหาแนวทางใหม่

“เป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ขององค์การสหประชาติ มักจะถูกนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานของแฟชั่นแบบยั่งยืนที่มีให้เห็นอยู่อย่างมากมาย รวมถึงการขจัดความหิวโหย ความยากจน การบริโภคแบบยั่งยืน และรูปแบบการผลิต แต่จะทำอย่างไรให้แนวคิดเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม? จริงๆ แล้วก็พอจะมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ้าง

ในช่วงหลายปีมานี้ วัสดุที่ผลิตจากเทคโนโลยีชีวภาพได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เรามีโอกาสได้เห็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในท้องตลาดบ้างแล้ว ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากพลาสติกที่ผลิตจากกรดโพลีแลคติก (PLA) ซึ่งเราจะยังไม่ขอพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขในการย่อยสลายอันเข้มงวดที่ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ โดยวัสดุประเภทนี้ได้มาด้วยการสกัดแป้งจากพืชหลายชนิด คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง และอ้อย มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถทนความร้อนได้ดี ไร้สารพิษ สามารถขึ้นรูปได้ และย่อยสลายได้ จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “พลาสติกสีเขียว”

แต่การจะเชิดชูแฟชั่นแบบยั่งยืน เราต้องกลับไปหาความดั้งเดิม กลับไปใช้ชีวิตในแบบเก่าๆ หรือหันกลับมาใช้วิธีแฮนด์เมดกระนั้นหรือ? แน่นอนว่าคำตอบคือ “ไม่ใช่” จางเลี่ยงหลิงที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดสินค้าแบรนด์เนมได้ยกตัวอย่างจาก Stella McCartney ของอังกฤษ

โดยแบรนด์เนมชื่อดังที่หากดูเพียงผิวเผินแล้วจะรู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากแบรนด์เนมอื่นๆ แบรนด์นี้ได้ทำตามแนวคิดของผู้ก่อตั้งในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการไม่นำหนังสัตว์หรือขนสัตว์ทุกชนิดมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้า หากแต่ Stella McCartney ได้พูดคุยกับทีมนักออกแบบเพื่อค้นคว้าวัสดุชนิดใหม่มาทดแทน เช่น หนังเทียม ยางธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ รวมถึงไม้และยาง เป็นต้น หรือแม้แต่การทำให้รองเท้าซึ่งมีการใช้วัสดุที่หลากหลายสามารถถูกนำเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลได้ พวกเขาจึงออกแบบโดยใช้วัสดุเพียงอย่างเดียว และไม่ใช้กาวมาติดพื้นรองเท้า แต่ใช้การออกแบบให้มีสลักยึดแทน

เมื่อพิจารณาดูแล้ว การใช้วิถีแห่งเทคโนโลยี และการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาวัสดุแบบใหม่ รวมทั้งใช้การออกแบบมาช่วยในการแก้ไขปัญหาในแบบฉบับของแฟชั่นอย่างยั่งยืนนี้ คงไม่อาจเรียกว่าเป็นการกลับไปใช้ชีวิตในแบบดั้งเดิมกระมัง?
 

มูลนิธิเกาหลินนำขยะผ้ามาเป็นวัตถุดิบให้เหล่านักออกแบบนำไปใช้ ในภาพคือ หลินอวี้เจิน (ขวา) CEO ของมูลนิธิฯ และจันจงโย่ว นักออกแบบเสื้อผ้า (ซ้าย) ทั้งสองกำลังเตรียมนำชุดที่แขวนบนหุ่นด้านข้าง ส่งไปจัดแสดงที่ต่างประเทศ

มูลนิธิเกาหลินนำขยะผ้ามาเป็นวัตถุดิบให้เหล่านักออกแบบนำไปใช้ ในภาพคือ หลินอวี้เจิน (ขวา) CEO ของมูลนิธิฯ และจันจงโย่ว นักออกแบบเสื้อผ้า (ซ้าย) ทั้งสองกำลังเตรียมนำชุดที่แขวนบนหุ่นด้านข้าง ส่งไปจัดแสดงที่ต่างประเทศ
 

เสื้อตัวใหม่มือสอง

ในปีค.ศ.2016 เอ็มม่า วัตสัน ดาราชื่อดังชาวอังกฤษ เคยสวมใส่เดรสซึ่งเป็นชุดที่มีผ้าสีดำและสีขาวมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ไปร่วมงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตันของนครนิวยอร์ก (งาน Met Gala) โดยเป็นฝีมือการออกแบบและตัดเย็บโดย Calvin Klein วัสดุที่ใช้ก็มีทั้งไหมอินทรีย์ ฝ้ายอินทรีย์ เส้นใยจากขวด PET รีไซเคิล และใช้ซิปที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกรีไซเคิล แถมยังสามารถแบ่งเดรสออกมาได้เป็นหลายตัว เพื่อใช้ในการสวมใส่ในชีวิตประจำวันตามความชอบใจ หรือในไต้หวันเมื่อปีค.ศ.2017 หวงจื่อเจียว (黃子佼) พิธีกรชื่อดังก็เคยใส่ชุดสูทรีเมคบนเวทีประกาศรางวัลระฆังทอง (Golden Bell Awards) มาแล้วเช่นกัน

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เน้นความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และในขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเกิดกระแสนิยมด้านการรีเมคขึ้นมา

อันจะเห็นได้จากตัวอย่างของสมาคมบ้านช่างไม้ (Carpenter’s House) ซึ่งจางเลี่ยงหลิงได้ให้คำแนะนำว่า ควรจะนำเสื้อผ้ามือสองที่ได้รับบริจาค โดยเฉพาะที่เป็นผ้ายีนส์ซึ่งมีจำนวนมากและคุณภาพของเนื้อผ้าค่อนข้างจะใกล้เคียงกันมาออกแบบและตัดเย็บใหม่ ให้กลายเป็นเสื้อผ้าชุดใหม่ในรูปแบบโมดูลที่เป็นชิ้น ซึ่งสามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกันได้

โดยที่ชั้น 4 ของตลาดหย่งอันที่ถือเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าผ้าผืนที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน เป็นที่ตั้งของ T Fashion ซึ่งเป็นแฟชั่นฮับของโจวอวี้อิ่ง (周裕穎 - Justin Chou)  ดีไซเนอร์ชื่อดังในด้านการรีเมคเสื้อผ้า ก็มีผลงานที่เป็นคอลเลกชันซึ่งทำขึ้นจากผ้ารีไซเคิลจัดแสดงอยู่  และบนกำแพงก็มีภาพ “เส้นขอบฟ้าแห่งไทเป” ที่ทำขึ้นจากการใช้ผ้ายีนส์มาปะติดปะต่อกันแขวนอยู่ด้วย

ขยะเศษผ้าก็มีชีวิตใหม่ได้

ไต้หวันเป็นประเทศผู้ผลิตผ้าผืนรายใหญ่ของโลก ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกระแสแห่งการผลิตเป็นจำนวนมากๆ โดยเมื่อผลิตออกมามากเกินไป ก็จะมีผ้าค้างอยู่ในสต็อกเป็นจำนวนมหาศาล รวมไปจนถึงเศษผ้า ผ้าตัวอย่าง ผ้าที่ตกรุ่น สินค้าไม่ผ่าน QC ซึ่งต่างก็ไม่สามารถนำไปใช้งานได้อีก และในท้ายที่สุดก็จะต้องถูกทิ้งไป

แนวคิดของ “ธนาคารผ้า” ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นที่รวบรวมของบรรดาผ้าที่ไม่มีคนสนใจ และกลายมาเป็นทางออกใหม่ของผ้าที่กำลังจะถูกทิ้งเหล่านี้

สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ITRI) ได้เลือกให้นครไถหนานที่เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสิ่งทอมาเป็นฐานสำคัญ ก่อนจะสร้างความร่วมมือกับมูลนิธิอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองแห่งประวัติศาสตร์ (Foundation of Historic City Conservation and Regeneration: FHCCR) และผู้ประกอบการท้องถิ่น ในการจัดตั้งแพลตฟอร์มเสมือนจริง บรรดาโรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตผ้าผืนให้กับ Nike, Adidas, Victoria Secret หรือ Burberry ได้ร่วมกันเปิดประตูเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค นอกจากจะมีวางขายบนช่องทางออนไลน์แล้ว ยังมีหน้าร้านเปิดให้ผู้บริโภคสามารถมาเลือกซื้อสินค้าได้ ณ ที่ทำการของมูลนิธิด้วย

นอกจาก ITRI แล้ว มูลนิธิเกาหลิน (Kaulin Foundation) ที่บริษัทแม่เป็นผู้ผลิตจักรเย็บผ้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมระดับแนวหน้าของไต้หวัน ก็ได้ริเริ่มดำเนินโครงการ “ตัดเย็บใหม่” เพราะทางโรงงานมักจะมีเศษผ้าที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้เครื่องเย็บผ้าเป็นจำนวนมาก

คุณหลินอวี้เจิน (林育貞) CEO ของมูลนิธิฯ ได้เปิดประตูห้องเก็บของออก ทำให้เราได้เห็นภาพของลังกระดาษที่ภายในบรรจุเศษผ้าที่ได้รับมาจากโรงงานผลิตผ้าผืนทั่วไต้หวันกองกันอยู่เต็มไปหมด ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ มูลนิธิฯ ได้เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างนักออกแบบกับโรงงานต่างๆ จนทำให้กลายเป็นช่องทางสู่ชีวิตใหม่ของขยะผ้าเหล่านี้

เสื้อผ้า 2 ชุดที่แขวนอยู่บนหุ่นด้านข้าง คือคอลเลกชันล่าสุดของจันจงโย่ว (詹宗佑) ดีไซเนอร์ชื่อดัง ตัดเย็บขึ้นใหม่จากเศษผ้า และด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ จันจงโย่วกำลังร่วมกับ 10 ดีไซเนอร์จากไต้หวัน ส่งผลงานไปจัดแสดงที่ลาสเวกัส

สำหรับเจ้าตัวที่มีความรู้สึกชื่นชอบเสื้อผ้าเก่าๆ มาโดยตลอด ทำให้ผลงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการนำเสื้อผ้ามือสองมาออกแบบและตัดเย็บขึ้นใหม่ โดยผสมผสานสไตล์แบบกลางๆ ที่สวมใส่ได้ทั้งชายและหญิง ประกอบเข้ากับความเป็นสตรีทแฟชั่นที่เป็นของถนัด จันจงโย่วบอกกับเราว่า “ตอนที่เรียนอยู่ที่ปารีส ก็มักจะไปหาของดีจากร้านเสื้อผ้ามือสองอยู่เป็นประจำ ในตอนนั้นได้เห็นเสื้อผ้าดีๆ มากมาย ถูกวางขายในราคาถูกๆ เห็นแล้วก็รู้สึกเหมือนกับว่าเสื้อผ้าพวกนี้กำลังร้องไห้อยู่”

แม้ว่าการรีเมคจากขยะจะถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของตลาดเสื้อผ้าแฟชั่น แต่หลินอวี้เจินกลับมองในแง่ดีว่า “ขอเพียงมีผลงานของดีไซเนอร์เพียง 1 ใน 10 ชุดที่มีแนวคิดเช่นนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขารับรู้ได้ถึงประเด็นนี้ และทำให้พวกเรารู้สึกว่าสามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายในการให้ความรู้แก่ทุกคน”