New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันขอบคุณอดีต นรม.อาเบะแห่งญี่ปุ่นที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันเร่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ในการธำรงรักษาค่านิยมสากลที่มีร่วมกัน

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 ธ.ค. 64

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวปราศรัยใน “การประชุมไตรภาคีว่าด้วยความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกระหว่างไต้หวัน-สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ประจำปี 2021” (2021 Taiwan-US-Japan Trilateral Indo-Pacific Security Dialogue) ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า โดยระบุว่า ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และไต้หวัน ต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมและประชาธิปไตยร่วมกัน หากไต้หวันและระบอบประชาธิปไตยถูกคุกคามจากรัฐบาลจีน จะส่งผลให้ทั่วโลกโดยเฉพาะญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความท้าทายในระยะประชิด  ด้วยเหตุนี้ ทั้งสามประเทศจึงควรที่จะเร่งเสริมสร้างศักยภาพในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควรให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) นอกจากนี้ อดีตนรม.อาเบะยังได้ให้การยอมรับว่าไต้หวันมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอบคุณอดีต นรม.อาเบะด้วยใจจริงที่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผยอีกครั้ง

อดีต นรม.อาเบะเน้นย้ำว่า เพื่อเสริมสร้างหลักประชาธิปไตยในเชิงลึกให้กับคนรุ่นต่อไป  มีประเด็นสำคัญ 3 ประการที่ต้องยึดมั่น ดังนี้ ประการแรก แนวคิดสำคัญที่ทั้งสามประเทศยึดมั่นร่วมกัน ก็คือเชื่อมั่นในหลักการเสรีภาพ  สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และประชาธิปไตย ประการที่สอง ไม่หมดศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากพลังของประชาธิปไตยแผ่ซ่านจากภายในสู่ภายนอก มิใช่จากภายนอก หรือแรงกดดันจากบนลงล่าง ด้วยเหตุนี้ ประชาธิปไตยจึงสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยืดหยุ่นและแข็งแกร่งในระยะยาว ประการสุดท้าย เมื่อใดที่ไต้หวันและระบอบประชาธิปไตยถูกคุกคามจากรัฐบาลจีน จะส่งผลให้ทั่วโลกโดยเฉพาะญี่ปุ่นเผชิญกับความท้าทายในระยะประชิด 

ในอนาคต ไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอย่างครอบคลุมกับญี่ปุ่น สหรัฐฯ และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยและความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฏกติกาสากล ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานที่มีเสถียรภาพให้แก่อนาคตของประชาธิปไตยสำหรับคนรุ่นหลังสืบต่อไป