New Southbound Policy Portal

พาไต้หวันขึ้นสู่เวทีโอลิมปิก หวงเสี่ยวเหวิน นักมวยหญิงเหรียญทองแดง

หวงเสี่ยวเหวินพร้อมแล้วที่จะสู้ต่อไปกับเป้าหมายที่ปารีสโอลิมปิกในปี 2024

หวงเสี่ยวเหวินพร้อมแล้วที่จะสู้ต่อไปกับเป้าหมายที่ปารีสโอลิมปิกในปี 2024
 

“ทันทีที่เริ่มการแข่งขัน หวงเสี่ยวเหวินใช้ประโยชน์จากส่วนสูงของตัวเองที่มีช่วงชกที่ยาวกว่ามาควบคุมระยะห่างจากคู่ชก ใช้หมัดหน้าคอยดูเชิงพร้อมเตรียมเล็งหมัดหลังเพื่อรุกเข้าใส่คู่ต่อสู้”

“หวงเสี่ยวเหวินยิงหมัดแย็บเพื่อหลอกให้คู่ชกเข้าหา ก่อนจะบุกเข้าใส่ หลังจบยกแรก กรรมการ 4 จาก 5 คนให้คะแนนเต็ม 10”

“หลังฟังคำแนะนำของโค้ช หวงเสี่ยวเหวินสามารถเก็บยกที่ 3 ได้สำเร็จ ทะลุเข้ารอบตัดเชือกด้วยคะแนน 5 ต่อ 0”

 

เมื่อได้ฟังเสียงพากย์อันเร่งเร้า จากการถ่ายทอดสดการแข่งขันชกมวยของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่กรุงโตเกียว (ต่อไปจะเรียกว่า “โตเกียวโอลิมปิก”) ผลปรากฏว่า หวงเสี่ยวเหวินสามารถคว้าเหรียญทองแดงได้แน่นอนแล้ว การคว้าเหรียญรางวัลได้ตั้งแต่การเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกเป็นครั้งแรก ทำให้เธอกลายเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการมวยไต้หวัน

ในช่วงหลายปีมานี้ นักมวยหญิงของไต้หวันสามารถคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นหญิงของโตเกียวโอลิมปิกครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 รุ่น โดยนักกีฬาจากไต้หวันได้สิทธิ์เข้าร่วมลงแข่งถึง 4 รุ่น หวงเสี่ยวเหวิน (黃筱雯) บอกว่า “สมัยก่อน ประเทศในเอเชียที่แข็งแกร่งด้านกีฬาชกมวยจะไม่มีไต้หวันรวมอยู่ด้วย แต่หลายปีมานี้ จากความพยายามของนักมวยรุ่นพี่ ทั้งหลินอวี้ถิง (林郁婷) และเฉินเนี่ยนฉิน (陳念琴) ทำให้ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงมวยหญิงในเอเชียแล้ว ทุกคนจะพูดถึงจีน คาซัคสถาน อินเดีย จากนั้นก็จะพูดชื่อของไต้หวันออกมา” การสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นนี้ นักกีฬาต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและคราบน้ำตา

 

การฝึกซ้อมสุดโหดก่อนลุยโตเกียวโอลิมปิก

ก่อนจะไปเข้าร่วมการแข่งขันในโตเกียวโอลิมปิก คะแนนสะสมของหวงเสี่ยวเหวินอยู่ในอันดับ 1 ของรุ่นพิกัดน้ำหนัก 54 กก.หญิง ตามสถิติของสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ หรือ AIBA (International Boxing Association) แต่ในโตเกียวโอลิมปิกครั้งนี้ ไม่มีการแข่งขันในรุ่น 54 กก.หญิง หวงเสี่ยวเหวินจึงต้องลดน้ำหนักลงไปแข่งขันในรุ่น 51 กก. แทน ทำให้เธอต้องควบคุมน้ำหนักของตัวเองอย่างเคร่งครัด สำหรับเจ้าตัวที่มีส่วนสูงมากถึง 177 ซม. แล้ว “มันเป็นอะไรที่ทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก” หวงเสี่ยวเหวินกล่าว

“ที่ผ่านมา มักจะเป็นการลดน้ำหนักในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนลงแข่ง เพื่อไม่ให้เหนื่อยมากเกินไปหรือต้องทนหิวเป็นเวลานานๆ แต่การลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้ทำให้สภาพร่างกายแย่มากๆ และไม่สามารถแสดงฝีมือได้อย่างเต็มที่ในระหว่างลงแข่ง” ดังนั้น ตั้งแต่เดือนธันวาคมของปีที่แล้ว (ค.ศ.2020) เธอจึงปฏิบัติตามคำแนะนำของนักโภชนาการของทีมวิทยาศาสตร์การกีฬา ศูนย์ฝึกซ้อมกีฬาแห่งชาติ ด้วยการค่อยๆ ลดน้ำหนักตัวลงเดือนละ 1 กก. เพื่อให้ร่างกายสามารถทนรับการฝึกซ้อมอย่างหนักและรักษาสภาพร่างกายให้มีความพร้อมสมบูรณ์ที่สุดในการลงแข่ง

การควบคุมน้ำหนักเป็นเพียงอุปสรรคด่านแรก ก่อนการแข่งขัน 3-4 สัปดาห์ จะเป็นช่วงที่การฝึกซ้อมมีความหนักหน่วงมากที่สุด ในช่วง 1 เดือนนี้ อาจารย์หลิวจงไท่ (劉宗泰) โค้ชผู้ฝึกสอน ได้จัดโปรแกรมการฝึกซ้อมให้เข้มข้นมากขึ้น ช่วงเช้าเป็นการฝึกฝนสภาพร่างกายขั้นพื้นฐาน ช่วงบ่ายจะเป็นการซ้อมชกจริง โดยในการแข่งขันแต่ละรอบจะมีการชก 3 ยก แต่ละยกใช้เวลา 3 นาที แต่ในการฝึกซ้อม หลิวจงไท่เห็นว่าจะต้องซ้อมให้มากกว่าการแข่งจริงเป็นเท่าตัว จึงจะสามารถรับมือกับการแข่งขันอันหนักหน่วงได้ ดังนั้น ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนการแข่งขัน จะมีการซ้อมชกจริงสัปดาห์ละ 4 วัน โดยให้เพิ่มจำนวนยกมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีการจำลองวิธีการชกของคู่แข่ง และฝึกซ้อมโดยสมมติสถานการณ์ต่างๆ พร้อมทั้งปรับการใช้แรง ฟุตเวิร์ค ท่าทาง และการเร่งจังหวะให้เหมาะสม

เมื่อถึงช่วงสองสัปดาห์ก่อนการแข่งขัน จะหันมาเน้นในด้านแท็คติกและเทคนิคต่างๆ ให้มีความคล่องแคล่วมากขึ้น และจากข้อมูลของทีมวิทยาศาสตร์การกีฬาพบว่า โอกาสที่หวงเสี่ยวเหวินจะชนะคู่แข่งที่ถนัดมือซ้ายจะสูงมาก ดังนั้น ก่อนหน้านี้หลิวจงไท่จึงได้เริ่มเค้นหาคู่ฝึกซ้อมที่เหมาะสม และจำลองวิธีการชกของคู่แข่ง เพื่อให้หวงเสี่ยวเหวินมีความคุ้นเคยและสามารถปรับตัวรับกับความท้าทายจากคู่แข่งได้ทุกรูปแบบ

จากการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง ทำให้หวงเสี่ยวเหวินสามารถยืนอยู่อย่างโดดเด่นบนเวทีของโอลิมปิกได้อย่างเต็มภาคภูมิ และที่ต้นแขนด้านขวาของเธอมีรอยสักเป็นรูปต่างๆ แต่รูปที่ถูกสักลงไปก่อนรอยอื่น คือรูปของ “ไต้หวัน” เพราะเธอว่าหวังว่า ทุกครั้งที่ขึ้นเวที คู่แข่งของเธอจะรู้ว่าคู่ชกของตัวเองมาจากไต้หวัน และที่ตำแหน่งเหนือกระดูกไหปลาร้า ก็มีการสักคำว่า “Boxer girl, remember why you started” อันถือเป็นของขวัญที่คุณพ่อของเธอซึ่งเป็นช่างสักเป็นผู้มอบให้ เพื่อคอยเตือนให้เธอรำลึกอยู่เสมอว่า “อย่าลืมปณิธานเริ่มแรกของตน”

 

การชกมวยสร้างความมั่นใจในตนเอง

เส้นทางการชกมวยของหวงเสี่ยวเหวิน เริ่มต้นขึ้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นหลันโจว หลังจากได้พบกับอาจารย์หลิวจงไท่ ผู้เป็นโค้ช ชีวิตครอบครัวที่แตกแยกทำให้คุณพ่อแทบจะหายไปจากชีวิตวัยเด็กของเธอ โดยมีอากงเป็นผู้เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ จากเด็กที่รู้สึกว่าตัวเองด้อยคุณค่า กลับมีความเชื่อมั่นในตัวเองจากการได้ชกมวย “ความรู้สึกแห่งชัยชนะตอนที่กรรมการชูมือของเรา ทำให้รู้สึกว่าความพยายามของตัวเองได้รับการยอมรับ”

หลิวจงไท่ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อหวงเสี่ยวเหวินในตอนแรกที่ได้พบหน้าว่า “เด็กผู้หญิงคนนี้มีส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม (ส่วนสูงของหวงเสี่ยวเหวินขณะเรียนอยู่ในชั้นมัธยมต้นคือ 166 ซม.) แต่คุณสมบัติอย่างอื่นไม่ค่อยดี รูปร่างผอมบางเกินไป” แต่หลังจากเฝ้าสังเกตอยู่ระยะหนึ่ง “ความอดทนและความมุ่งมั่นในการยอมรับการฝึกซ้อมอย่างหนักถือว่าดีมาก เช่น พวกการวิ่ง หรือชกกระสอบทรายที่ถือเป็นการฝึกซ้อมขั้นพื้นฐานที่สุด ไม่ว่าจะรู้สึกเหนื่อยแค่ไหน หวงเสี่ยวเหวินจะต้องทำจนครบตามที่ผมบอกเอาไว้”

“เธอเป็นนักมวยที่มีสไตล์การชกแบบวงนอกที่ชกด้วยเทคนิคและความเร็ว” หลิวจงไท่กล่าว ความได้เปรียบในเรื่องของส่วนสูง สามารถยันคู่แข่งไม่ให้ประชิดตัวได้ง่ายๆ พละกำลังอยู่กลางๆ แต่ก็สามารถใช้ความเร็วมาช่วยได้ ส่วนการที่มีเทคนิคการชกดีนั้น ก็เนื่องมาจากการที่มีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะขั้นพื้นฐานมาเป็นอย่างดีตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น “ประกอบกับเธอเป็นคนที่มีวินัยและควบคุมตัวเองได้เป็นอย่างดี” หวงเสี่ยวเหวินคือนักกีฬาประเภทที่จะมาถึงสนามฝึกซ้อมก่อนใคร การมีวินัยเช่นนี้ทำให้เธอกลายมาเป็นนักกีฬาที่สามารถคว้า “เหรียญโอลิมปิก” มาครองได้ในที่สุด

 

สนุกไปกับการแข่งขัน

หวงเสี่ยวเหวินที่เคยให้ความสำคัญกับการแพ้ชนะเป็นอย่างมาก ก็ได้รับการชี้แนะจากหลิวจงไท่จนสามารถรับรู้ได้ถึงความสนุกจากการชกมวย

ก่อนการแข่งขันครั้งหนึ่ง ซึ่งหวงเสี่ยวเหวินจะต้องขึ้นชกกับคู่แข่งที่เคยคว้าเหรียญเงินโอลิมปิก หลิวจงไท่ส่งข้อความไปหาเธอบอกว่า “ต้องเป็นนักกีฬาที่เยือกเย็น เธอจะต้องมีความมั่นใจในตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง โค้ชเชื่อมั่นในตัวเธอมาก” และแม้ว่าในการชกครั้งนั้น หวงเสี่ยวเหวินจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เธอกลับรู้สึกว่า “หนูรู้สึกสนุกกับการแข่งขันมาก คู่แข่งไม่ใช่ระดับธรรมดา แต่หนูเป็นคู่ชกของเขาได้ แล้วยังได้มีโอกาสใช้ทุกสิ่งที่เรียนมาอย่างเต็มที่ แถมในยก 2 ยังได้คะแนนเต็มสิบจากกรรมการถึงสองคน ถือเป็นการยอมรับที่กรรมการมีให้”

การแข่งขันไฟต์สำคัญในโตเกียวโอลิมปิกของหวงเสี่ยวเหวิน คือ ไฟต์ที่ขึ้นชกกับ Buse Naz Cakiroglu จากตุรกี ซึ่งเป็นมือวางอันดับ 1 ของรุ่น และเคยคว้าแชมป์จากศึกยูโรเปียน แชมเปียนชิปมาแล้ว “ตอนที่ดูการชกของเขาจากการแข่งขันครั้งก่อนๆ ก็มีความรู้สึกอยากจะประมือด้วย เพราะคิดว่าตัวเอง “สู้ได้” แต่ก็รู้สึกได้ว่าอีกฝ่ายเป็นคู่ชกที่น่าเกรงขามมาก โดยเฉพาะการทำให้คู่แข่งรู้สึกประหม่าในตอนที่ก้าวขึ้นสู่เวที ถือเป็นสิ่งที่เธอสามารถเรียนรู้จากคู่ชกคนนี้ได้” หวงเสี่ยวเหวินจำคำพูดของโค้ชได้ขึ้นใจว่า “กระบวนการสำคัญกว่าผลลัพธ์ที่ออกมา หากแพ้ก็หมายความว่าเรายังไม่ดีพอ ก็ต้องไปปรับปรุงแก้ไขทำให้ตัวเองดีขึ้น” และก็เป็นคำพูดที่คอยอยู่เคียงข้างหวงเสี่ยวเหวินบนเส้นทางของการชกมวยมาโดยตลอด

 

โค้ชคือพ่อคนที่ 2

หลังจากคว้าเหรียญรางวัลจากโตเกียวโอลิมปิกมาครองได้สำเร็จ ก็พอดีกับที่เป็นช่วงของวันพ่อในไต้หวัน หวงเสี่ยว เหวินได้โพสต์ข้อความขอบคุณโค้ชหลิวจงไท่ที่เป็นเสมือนพ่อคนที่ 2 ของเธอ

หวงเสี่ยวเหวินกล่าวว่า “หากไม่มีท่าน คิดว่าตัวเองคงมีแต่ความคิดที่จะออกจากวงการมวยอย่างแน่นอน” หลิวจงไท่คือคนที่คอยดึงเธอให้กลับมาขึ้นเวทีได้อย่างไม่รู้เบื่อ และบอกกับเธอเสมอให้ควบคุมตัวเองให้ดี และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง

ในปีที่ขึ้นเรียนในชั้นม. 4 หวงเสี่ยวเหวินประสบความพ่ายแพ้ในการแข่งขันรายการหนึ่ง โดยแพ้คู่ชกเพียงคะแนนเดียว สำหรับเธอซึ่งแทบจะไร้คู่ต่อกรในการชกระดับมัธยมต้น ถือเป็นเรื่องที่ทำให้เธอรู้สึกช็อกเป็นอย่างมาก จนทำให้เธอหลีกหนีจากสนามซ้อมและเวทีมวยไปเกือบๆ หนึ่งปีเต็ม  และก็เป็นหลิวจงไท่ที่เป็นคนดึงเอาหวงเสี่ยวเหวินที่พยายามหนีจากการชกมวยให้กลับคืนสู่วงการมวย ขอร้องให้เธอกลับเข้าสู่สนามซ้อม และลงแข่งคัดตัวนักกีฬาทีมชาติ ก่อนที่ในปี 2013 เธอจะกลายเป็นนักกีฬาทีมชาติอย่างเต็มตัว จนทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

หลิวจงไท่คือคนที่ห่วงใยเธอที่สุด ในปี 2018 ขณะลงแข่งในกีฬาเอเชียนเกมส์ที่จาการ์ตา ระหว่างการชกในยกที่ 3 ของรอบ 8 คนสุดท้าย กระดูกฝ่าเท้าขวาของหวงเสี่ยวเหวินแตก แต่เธอก็ฝืนชกจนจบและได้เข้ารอบตัดเชือกพร้อมคว้าเหรียญทองแดงแน่นอนแล้ว หลิวจงไท่จึงได้ประเมินสภาพร่างกายของหวงเสี่ยวเหวิน ก่อนจะตัดสินใจขอยอมแพ้ไม่ลงแข่งขันต่อ และยอมทิ้งโอกาสในการเข้าชิงเหรียญทอง ซึ่งหวงเสี่ยวเหวินเล่าให้เราฟังว่า “โค้ชเห็นว่าหนูยังอายุน้อย ยังมีโอกาสในครั้งหน้า ท่านคิดถึงอนาคตของหนูในการชกมวย หากวันนั้นโค้ชไม่ได้ตัดสินใจแบบนั้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีโอกาสลงแข่งในโอลิมปิกครั้งนี้หรือเปล่า?” ในช่วงครึ่งปีที่หวงเสี่ยวเหวินพักรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บนั้น หลิวจงไท่คอยอยู่เคียงข้างเสมอ เริ่มตั้งแต่การค่อยๆ ทำกายภาพเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายใหม่ จนหนึ่งปีให้หลัง ในปี 2019 หวงเสี่ยวเหวินที่มีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์ดีก็สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จจากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลกที่รัสเซีย

บนเวทีที่ต้องยืนหยัดต่อสู้เพียงลำพัง ท่ามกลางเสียงรบกวนโหวกเหวกที่ดังอยู่รอบตัว หวงเสี่ยวเหวินสามารถได้ยินคำชี้แนะของโค้ชอย่างชัดเจนจนสามารถออกหมัดให้เข้าเป้าได้ตามแผน นี่คือความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างครูมวยและลูกศิษย์คู่นี้ เพราะการชกบนเวทีทุกๆ ครั้ง คือการชกที่ทั้งสองคนขึ้นชกร่วมกัน

 

เป้าหมายต่อไปกับปารีสโอลิมปิก 2024

ในส่วนของการเตรียมตัวลงชิงชัยในศึกโตเกียวโอลิมปิกครั้งนี้ ทั้งหวงเสี่ยวเหวินและหลิวจงไท่ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แผนการเตรียมตัว Gold Plan ของทบวงกีฬามีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก ประการแรกคือ การมีเจ้าหน้าที่พยาบาลแบบส่วนตัวซึ่งสามารถช่วยป้องกันและให้ความช่วยเหลือนักกีฬาได้อย่างทันท่วงที ประการที่ 2 คือ การสนับสนุนในการจัดหาคู่ซ้อม เพราะการจะหาคู่ซ้อมที่เหมาะสมสำหรับหวงเสี่ยวเหวินที่มีส่วนสูงและมีพละกำลังอันแข็งแกร่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หลิวจงไท่จึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ทั้งหมดที่ตัวเองมี เพื่อหาคู่ซ้อมที่เป็นผู้ชายจากในไต้หวันมาช่วย อีกทั้งจากข้อมูลของคู่แข่งที่มีอยู่ พบว่า ในรุ่น 51 กก. ที่หวงเสี่ยวเหวินจะลงแข่งนั้น คู่แข่งส่วนใหญ่เป็นคนถนัดซ้าย เมื่อได้รับการสนับสนุนจากแผนการฝึกซ้อมของทบวงกีฬาในครั้งนี้ ทำให้หวงเสี่ยวเหวินได้ย้ายสถานที่ฝึกซ้อมไปอยู่ที่อื่น และช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการขึ้นซ้อมกับคู่ชกที่แตกต่างกันไป

หลิวจงไท่ย้อนรำลึกถึงประสบการณ์ในสมัยที่ตัวเองยังเป็นนักกีฬาว่า “ตามมีตามเกิด” ถือเป็น 4 คำที่อธิบายถึงช่วงเวลาในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี “ส่วนใหญ่เน้นการฝึกซ้อมสภาพร่างกาย ไม่ค่อยมีโอกาสได้ฝึกฝนด้านเทคนิค รูปแบบการฝึกซ้อมก็ไม่หลากหลาย ทำให้นักกีฬาได้รับบาดเจ็บง่าย อีกทั้งยังทำให้ยิ่งซ้อมยิ่งไม่มีแรง” หลิวจงไท่อธิบายว่า ไม่ใช่ว่าวิธีการฝึกซ้อมในแบบดั้งเดิมจะไม่สำคัญ แต่การจะแย่งชิงเหรียญรางวัลบนเวทีระดับนานาชาติในทุกวันนี้ การซ้อมในลักษณะดังกล่าวควรลดสัดส่วนลงเหลือเพียงแค่ 30% ก็พอ ส่วนอีก 70% ต้องอาศัยเทคนิคและความรู้สมัยใหม่มาช่วย ในการสู้ศึกครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือในการวิเคราะห์ข้อมูลจากทีมวิทยาศาสตร์การกีฬา ทำให้ได้รับประโยชน์ไม่น้อย เช่น มีการวิเคราะห์ว่าในแต่ละยกคู่แข่งชกที่ลำตัวหรือออกหมัดกี่ครั้ง รวมถึงทิศทางและความคุ้นเคยในการออกหมัด ซึ่งสามารถใช้การวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้ามาช่วยในการกำหนดแผนการชกได้ เพื่อรับมือกับคู่ชกในแต่ละแบบ ทำให้นักกีฬามีความมั่นใจมากขึ้นเป็นทวีคูณ

หลังกลับจากโตเกียวโอลิมปิกแล้ว หวงเสี่ยวเหวินได้ใช้เวลาในการพักผ่อนอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะรีบเข้าสู่การฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นในทันที เพื่อเข้าร่วมลงแข่งในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติช่วงเดือนตุลาคม และเตรียมความพร้อมสำหรับการลงแข่งในเอเชียนเกมส์ 2022 ซึ่งเป้าหมายระยะยาวของเธอก็คือศึกปารีสโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นในปี 2024 ต่อไป

“เธอทำได้แล้ว เธอทำได้” นี่คือคำพูดที่หลิวจงไท่บอกกับหวงเสี่ยวเหวิน และเป็นคำพูดจากทุกคนเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจหวงเสี่ยวเหวินเช่นกัน