New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 27 ธ.ค. 64
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 27 ธ.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีเปิดป้ายสถาบันวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ (College of Semiconductor Research, CoSR) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว” พร้อมกล่าวปราศรัยว่า สถาบันวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ 4 แห่งในไต้หวันได้ถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว ปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเห็นเหล่านักวิชาการที่เข้ามีส่วนร่วมในสถาบันฯ จะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมสร้างคุณประโยชน์ให้แก่อุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีของไต้หวัน ทั้งนี้เพื่อนำพาให้ไต้หวันก้าวไปสู่หลักชัยใหม่
ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้อนุมัติการจัดตั้งสถาบัน CoSR ในไต้หวันรวม 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง (National Cheng Kung University, NCKU) มหาวิทยาลัยหยางหมิงเจียวทง (National Yang Ming Chiao Tung University, NYCU) มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University, NTU) และมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว (National Tsing Hua University, NTHU) ซึ่งตราบจนปัจจุบัน ทั้ง 4 แห่งได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามกำหนดการ จึงสามารถกล่าวได้ว่า เป็นหลักชัยใหม่ของภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวัน
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ข้าพเจ้าเข้ามีส่วนร่วมในทุกรอบของพิธีเปิดป้ายสถาบันวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ รวม 4 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาควิชาการ ตลอดจนต้องการบ่มเพาะบุคลากรใหม่ๆ เพื่อนำพาประเทศชาติก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรืองต่อไป
เพื่อรักษาข้อได้เปรียบที่มีอยู่เดิม ควบคู่ไปกับการเร่งยกระดับศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา บ่มเพาะบุคลากรระดับสูง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการกระตุ้นให้เทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีการพัฒนารุดหน้าอย่างต่อเนื่อง พวกเราจำเป็นต้องส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาควิชาการเร่งประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่บุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเซมิคอนดักเตอร์ต่อไป
ปธน.ไช่ฯ ชี้แจงว่า สถาบัน CoSR ของ NTHU นอกจากจะมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจและศาสตราจารย์ในสถาบันร่วมกันเปิดหลักสูตร เพื่อให้คำชี้แนะในด้านการวิจัยแก่บรรดานักศึกษา เชื่อมั่นว่า หลังจากที่นักศึกษาของพวกเราสำเร็จหลักสูตรแล้ว จะสามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎีให้เหมาะสมกับภาคปฏิบัติจริงเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในเวลาอันรวดเร็ว
ในตอนท้าย ปธน.ไช่ฯ ได้กล่าวขอบคุณอธิการบดีของ NTHU และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการวางแผนจัดตั้งสถาบันแห่งนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังแสดงความคาดหวังว่า เหล่านักวิชาการที่เข้ามีส่วนร่วมในสถาบันฯ ดังกล่าว จะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง