New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันขอบคุณนรม.อังกฤษ ที่แสดงจุดยืนในกรณีจีนส่งเครื่องบินทหารรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันว่า ไม่ส่งผลดีต่อสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 ม.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา Mr. Boris Johnson นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรได้ตอบข้อซักถามของสมาชิกสภาสามัญชนในรัฐสภาอังกฤษ โดยได้แสดงจุดยืนอันหนักแน่นที่มีต่อกรณีที่จีนส่งเครื่องบินทหารรุกล้ำน่านฟ้าของไต้หวันว่า ไม่ส่งผลดีต่อสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมเน้นย้ำถึงสันติภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน และความจำเป็นในการเปิดการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อกัน กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอบคุณผู้นำ รัฐสภาและหน่วยงานภาครัฐของอังกฤษด้วยความจริงใจ ที่ได้ให้ความสำคัญและการสนับสนุนด้านสันติภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
 
Mr. Rob Butler สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ได้ซักถามนรม. Johnson ด้วยความกังวลใจเกี่ยวกับกรณีที่จีนส่งเครื่องบินทหารรุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวันบ่อยครั้งขึ้น โดยนรม. Johnson ตอบอย่างชัดเจนว่า การส่งเครื่องบินทหารเข้ารุกล้ำเขตแดนไต้หวัน ไม่ส่งผลดีต่อสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมชี้ว่า ทั้งสองฝ่ายควรเปิดการเจรจาอย่างสันติและเป็นประโยชน์ต่อกัน
 
นี่เป็นอีกครั้งหลังจากที่อังกฤษในฐานะประเทศเจ้าภาพการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําของโลก 7 ชาติ (Group of Seven, G7) ได้ย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน โดยได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีที่จีนส่งเครื่องบินทหารรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันอย่างต่อเนื่อง
 
นอกจากนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำที่จัดขึ้นในปีที่แล้ว เช่น การประชุมสุดยอดผู้นำประเทศระหว่างสหรัฐฯ – ญี่ปุ่น การประชุมสุดยอดผู้นำประเทศระหว่างสหรัฐฯ – เกาหลีใต้ รวมไปถึงการประชุมสุดยอดผู้นำ EU - ญี่ปุ่น ตลอดจนการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมระหว่างญี่ปุ่น – ออสเตรเลีย และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศส – ออสเตรเลีย ต่างได้มีการร่วมแสดงจุดยืนในการตระหนักถึงความสำคัญด้านความมั่นคงในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน สะท้อนให้เห็นว่า การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นฉันทามติร่วมระหว่างผู้นำของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศสและ EU แล้ว
 
ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษนับวันยิ่งดำเนินไปในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลอังกฤษได้สนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมอย่างมีความหมายในองค์การระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ล่าสุดด้านความมั่นคงในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนเรียกร้องให้ทั้งสองพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวันร่วมแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ไต้หวันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก จึงมีหน้าที่ในการร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในกลุ่ม G7 ซึ่งรวมถึงอังกฤษ และ EU เพื่อร่วมรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดแก่ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกสืบไป