New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันจัดละครเวทีเรื่อง “แม่ของผมคือ Eny ?” ซึ่งเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด “ให้คนเป็นศูนย์กลาง” ของนโยบายมุ่งใต้ใหม่

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 ก.พ. 65
 
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัดการแสดงละครเวทีเรื่อง “แม่ของผมคือ Eny ?” ขึ้น ณ “ศูนย์วัฒนธรรมสถาบันภาพยนตร์และโสตทัศนูปกรณ์ไต้หวัน” (TFAI) โดยมีนายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประธานในกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงเข้าร่วมมากมาย อาทิ นายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร นายหวังซ่างจื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นางสวีเจียชิง รองประธานคณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล นายเหลียงกั๋วฮุย รองผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกสภานิติบัญญัติเข้าร่วมด้วย อาทิ นางหลัวเหม่ยหลิง นางถังฮุ่ยเจิน นายเหอจื้อเหว่ย อีกทั้งยังมีตัวแทนจากหน่วยงานของกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วัฒนธรรม TFAI ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากองค์การนอกภาครัฐ และตัวแทนเจ้าหน้าที่กลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งภายในกิจกรรม มีผู้เข้าร่วมรวมกว่า 150 คน
  
รมช.เถียนฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันเป็นสังคมที่เปิดรับชาวต่างชาติที่อพยพย้ายถิ่นมาพำนักอาศัย โดยบรรดาแรงงาน นักเรียนนักศึกษา และคู่สมรสของประชาชนชาวไต้หวัน ที่มาจากกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ ที่มาพำนักอาศัยและใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ ได้ส่งเสริมให้วัฒนธรรมในไต้หวันและการพัฒนาทางสังคมมีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ตลอดจนเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในเชิงลึกระหว่างภาคประชาชนของไต้หวันและกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ด้วย เนื่องจากชาวไต้หวันมีนิสัยใจคอที่เปิดกว้างในการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างเป็นมิตร ส่งผลให้ไต้หวันได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่มีความเป็นมิตรมากที่สุดในโลก ซึ่งไต้หวันไม่เพียงแต่เป็นประเทศเป้าหมายที่ประชาชนในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ต้องการมุ่งหน้ามาพำนักอาศัย ประกอบธุรกิจหรือเดินทางมาเข้ารับการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นบ้านหลังที่ 2 (home away from home) สำหรับทุกคนอีกด้วย
 
ละครเวทีเรื่อง “แม่ของผมคือ Eny?” นำเสนอให้เห็นถึงเรื่องราวของแรงงานชาวอินโดนีเซีย ที่ก้าวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวชาวไต้หวัน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยเริ่มแรก สมาชิกในครอบครัวต่างรู้สึกเป็นกังวล เกิดความสงสัยและไม่เชื่อใจต่อแรงงานผู้นี้ จนค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นการยอมรับ ห่วงใย และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในท้ายที่สุด โดยละครเวทีเรื่องนี้สร้างขึ้นและจัดการแสดงโดยบริษัท AMCreative ซึ่งเป็นคณะละครที่มีคุณภาพของไต้หวัน ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงโดยตรงและลึกซึ้งที่สุด ระหว่างชาวไต้หวันและชาวอาเซียนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับการที่สมาชิกครอบครัว 3 รุ่นพักอาศัยอยู่ร่วมกันอีกด้วย
 
Mr. Budi Santoso ผู้แทนรัฐบาลอินโดนีเซียประจำกรุงไทเป กล่าวย้ำขณะปราศรัยว่า “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” มีนัยยะที่พิเศษกว่าการเป็นเพียงแรงงานทั่วไป นับเป็นการเชื่อมประสานและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน โดยละครเวทีเรื่องนี้ถ่ายทอดให้เห็นถึงบทบาทของผู้ดูแลผู้สูงอายุชาวอินโดนีเซียในสังคมไต้หวัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่างชาวไต้หวันและอินโดนีเซียด้วย
 
นางหลัวเหม่ยหลิง สมาชิกสภานิติบัญญัติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลจากมาเลเซีย ก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยได้พบปะกับนางเอกของละครเวทีเรื่องนี้ ซึ่งเป็นชนเผ่าไท่หย่า (Atayal) ที่มีชื่อและแซ่เช่นเดียวกันกับตนเอง โดยนาง “หลัวเหม่ยหลิง” ทั้ง 2 ท่านนี้ ท่านหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ส่วนอีกท่านเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองของไต้หวัน ได้ทยอยกล่าวขอบคุณแรงงานจากอาเซียนที่อาสาเดินทางมาช่วยดูแลผู้สูงวัยในครอบครัวชาวไต้หวัน พร้อมคาดหวังว่า สังคมไต้หวันจะให้การต้อนรับและยอมรับแรงงานต่างชาติเหล่านี้ เข้าเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งในครอบครัว และเชื่อว่าจะเป็นการสะสมพลังแห่งความดีให้กับไต้หวันเพิ่มมากขึ้น
 
รัฐบาลไต้หวันได้ผลักดัน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา และยึดมั่นในแนวคิด “ให้คนเป็นศูนย์กลาง” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันกับกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ โดยกิจกรรมในครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ตั้งใจเลือกหัวข้อที่เกี่ยวกับ “แรงงาน” มาถ่ายทอดโดยใช้ละครเวทีเป็นสื่อกลาง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องตามแนวคิดของ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ผ่านวิธีการที่นุ่มนวลและเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความอบอุ่นในด้านสิทธิมนุษยชน การยอมรับซึ่งกันและกัน และค่านิยมที่หลากหลายแล้ว ยังยึดถือ “คน” เป็นศูนย์กลาง ในการเชื่อมโยงจิตใจของชาวไต้หวันและชาวอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน