New Southbound Policy Portal

สตม.ประสบความสำเร็จในการผลักดันโครงการฝึกอบรมบุคลากรผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชิญผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ร่วมเป็นผู้บรรยาย

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  วันที่ 26 ก.พ. 65
 
เพื่อส่งเสริมให้ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และบุตรธิดาเข้าร่วมกิจการสาธารณะ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัด “โครงการฝึกอบรมบุคลากรผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในวันที่ 26 ก.พ. ได้มีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลสัมฤทธิ์  ณ N/S Terminal หรือฐานสาธิตการสัมผัสประสบการณ์แบบข้ามพรมแดน นครไทจง โดยโครงการดังกล่าวมีผู้ได้รับใบประกาศนียบัตรสำเร็จหลักสูตรรวมทั้งหมด 92 คน ซึ่งในอนาคต พวกเขาจะทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายข้อมูลด้านวัฒนธรรมที่หลากหลายในจุดให้บริการของ สตม. ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ นายเหลียงกั๋วฮุย รองผู้อำนวยการสตม. ก็ได้เดินทางมาเข้าร่วม พร้อมกล่าวอวยพรในนิทรรศการครั้งนี้  โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมดังกล่าวได้แบ่งปันความรู้สึกและประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ  พร้อมทั้งเชิญชวนให้แขกผู้มีเกียรติในงาน ร่วมสัมผัสกับประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายไปพร้อมกัน
 
นายเหลียงฯ กล่าวว่า เพื่อบรรลุคำมั่นใน “การกระตุ้นการพัฒนาและการเข้าร่วมกิจการสาธารณะของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” ภายใต้แผนปฏิบัติการของรัฐบาลแบบเปิด ทางสตม.จึงได้เเร่งผลักดันโครงการฝึกอบรมบุคลากรผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกระตือรือร้น ด้วยการเปิดรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และบุตรธิดา เพื่อส่งเสริมให้บรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มีส่วนร่วมกันถ้วนหน้า โดยสตม.ได้จัดหลักสูตรขึ้นใน 4 พื้นที่ทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งพื้นที่ทางภาคเหนือ กลาง ใต้และตะวันออก
 
ในส่วนของการวางแผนสื่อการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างไต้หวันและประเทศถิ่นกำเนิด สตม. จึงได้กำหนดให้วัฒนธรรมท้องถิ่นในไต้หวัน อาทิ วัฒนธรรมฮกเกี้ยน ฮากกา ชนพื้นเมืองและหมู่บ้านทหาร รวมถึงวัฒนธรรมของนานาประเทศทั่วโลก เข้าเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ส่วนหลักสูตรขั้นถัดไปคือการเสริมสร้างทักษะด้านวาทศิลป์ การออกแบบสื่อการเรียนการสอนและการทดลองบรรยาย เป็นต้น ซึ่งเป็นการยกระดับความสามารถทางความเชี่ยวชาญให้แก่ผู้บรรยายที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ 
 
“ผู้บรรยาย” ที่เข้าร่วมนิทรรศการในครั้งนี้ ต่างทยอยแสดงความคิดเห็นว่า หลักสูตรในโครงการครั้งนี้ มีความหลากหลาย อีกทั้งยังเปี่ยมด้วย “หลักการในการนำไปใช้ได้จริง” ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้พวกเขาเกิดความเข้าใจต่อวัฒนธรรมที่หลากหลายของไต้หวันแล้ว ยังมีความมั่นใจในการทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่หลากหลายของไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในสังคมให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันเพิ่มมากขึ้น