New Southbound Policy Portal
ทีมยิงธนูชายไต้หวันแสดงฝีมือได้ดีตั้งแต่รอบ 16 ทีม จนคว้าเหรียญเงินจากโตเกียวโอลิมปิกมาครอง (ภาพจาก กรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน)
“สุดยอด!” ในสนามแข่งขันกีฬายิงธนูของโตเกียวโอลิมปิก ทีมยิงธนูชายของไต้หวัน คือ เว่ยจวินเหิง (魏均珩) เติ้งอวี่เฉิง (鄧宇成) และทังจื้อจวิน (湯智鈞) ต่างส่งสายตา พร้อมชูมือและส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจกันและกัน ทำให้ในการแข่งขันรอบ 16 ทีม แม้จะถูกคู่แข่งนำหน้าไปแล้ว 2 เซต แต่ในเซตที่ 4 พวกเขาสามารถไล่กวดด้วยการยิง 10 คะแนน 5 ดอกรวดจนเสมอกัน จึงต้องตัดสินด้วยการยิงชูตออฟ ซึ่งทีมชายไต้หวันทำได้ 28 คะแนนจากการยิง 3 ครั้ง จนเอาชนะคู่แข่งขันได้สำเร็จ ก่อนจะคว้าชัยชนะได้อย่างต่อเนื่อง จนทะลุเข้าสู่รอบชิงเหรียญทอง
ตั้งแต่ปีค.ศ.2004 เป็นต้นมา นักยิงธนูทีมชาติไต้หวันคว้าสิทธิ์ในการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้แบบเต็มโควตามาโดยตลอด และได้รับเหรียญรางวัล 3 ครั้ง หลินเจิ้งเสียน (林政賢) หัวหน้าโค้ชบอกว่าทีมไต้หวันมีความโดดเด่น เนื่องจากนักกีฬามีความมุ่งมั่นสูง ทำงานเป็นทีมและสร้างบรรยากาศที่เป็นบวก ที่สำคัญคือนักกีฬาทั้งทีมชายและทีมหญิงจะให้กำลังใจกันเป็นประจำ การแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกครั้งนี้ ทีมหญิงลงสนามก่อน แม้จะแพ้แต่ก็ไม่ท้อ รีบให้ข้อมูลเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับสภาพสนามและความรู้สึกให้กับทีมชายได้ฟัง เมื่อต้องลงสนามเหล่านักธนูทีมชายจึงตัดสินใจยิงธนูแต่ละดอกได้อย่างถูกต้อง
ลูกธนู ยิงออกไปจากใจ
สนามยิงธนูของการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกตั้งอยู่ในสวนสาธารณะยูเมะโนะชิมะ (Yumenoshima) ซึ่งอยู่ริมทะเล ทิศทางลมแปรปรวนมาก ประกอบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดการระบาดโรคโควิด-19 ทีมไต้หวันจึงไม่มีโอกาสเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศเลย ทำให้การแข่งขันครั้งนี้มีความยากในระดับที่สูงมาก
เว่ยจวินเหิงเล่าความรู้สึกของการลงสนามในรอบแรกว่า “พยายามปรับตัว และทำให้ดีที่สุด” ในตอนเริ่มต้นยังจับทิศทางลมไม่ได้ ทำให้ยิงได้เพียง 7 คะแนนจากการยิงครั้งแรก หลังจากนั้นพยายามปรับท่าทางให้ดีขึ้นจนเริ่มเข้าที่เข้าทาง ทังจื้อจวินซึ่งทำคะแนนดีขึ้นมาเช่นกัน ก็บอกว่า “ผมไม่กังวลว่าจะปรับการยิงจากดอกที่แล้วอย่างไร แต่จะคิดว่าการยิงธนูแต่ละดอกก็คือการยิงครั้งแรก” สำหรับเติ้งอวี่เฉิงซึ่งมีบุคลิกเยือกเย็นเป็นคนแรกที่ยิงได้ 9 คะแนน และทำให้สถานการณ์ของทีมดีขึ้นก็บอกว่า “ตอนนั้นรู้สึกว่ามีลมพัดมาทางซ้าย แต่ที่สำคัญก็คือจะต้องตั้งท่าให้ถูกต้อง”
การไปแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกครั้งนี้ ในการฝึกซ้อม ทีมโค้ชพยายามสร้างความมั่นใจและความพร้อมทางจิตใจให้แก่นักกีฬา เนื่องจากการแข่งขันยิงธนูในระดับสุดยอดไม่ได้แข่งกันที่เทคนิคเท่านั้น แต่จะต้องควบคุมจิตใจให้ดีด้วย ทีมโค้ชจะคอยชี้แนะสิ่งที่นักกีฬาต้องปรับปรุงด้วยคำพูดที่ไม่ทำให้เสียกำลังใจ เช่น “ลำแขนรั้งออกไปอีกหน่อยจะทำให้ราบรื่นมากขึ้น” จะไม่พูดตำหนิจุดด้อยโดยตรง “เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดแรงกดดัน และอาจทำให้จุดด้อยนี้ปรากฏออกมาในยามคับขันได้” เมื่อโค้ชหลินเจิ้งเสียนสังเกตเห็นว่านักกีฬามีความผิดปกติระหว่างฝึกซ้อม เขาจะหลีกเลี่ยงการพูดโดยตรงเพื่อไม่ให้เกิดแรงกดดันขึ้น แต่จะบอกให้นักจิตวิทยาประจำทีมคอยเฝ้าระวัง
เฉินรั่วหยุน (陳若芸) นักจิตวิทยาประจำทีมยิงธนูชาย จะอยู่ข้างสนามคอยสังเกตระหว่างการฝึกซ้อม ดูการแสดงออกบนใบหน้าและท่าทางเพื่อติดตามสภาพทางจิตใจ หลังจากที่ยิงธนูเสร็จในแต่ละรอบ เธอจะเข้าไปคลุกคลีร่วมเดินไปถึงจุด 70 เมตร เพื่อถอนลูกธนูออกจากเป้า การทำเช่นนี้จะมีโอกาสพูดให้กำลังใจและเข้าใจความรู้สึกของนักกีฬามากขึ้น “ฉันจะให้การบ้านนักกีฬาโดยให้คอยสังเกตเพื่อนร่วมทีม คนเรามักจะมองเห็นจุดด้อยของตนเองได้ง่าย แต่จุดเด่นกลับจะต้องให้ผู้อื่นช่วยชี้บอก” เฉินรั่วหยุนบอกว่า นอกจากการสังเกตเพื่อนร่วมทีม เธอยังให้นักกีฬาตั้งเป้าหมายร่วมกัน หารือกัน พยายามสร้างความมั่นใจจากความสำเร็จที่ทำร่วมกัน
ขยันฝึกฝน เชื่อมั่นตนเอง
เมื่อถามโค้ชหลินเจิ้งเสียนว่า มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้ทีมไต้หวันอยู่ในแนวหน้าของโลก เขาบอกว่านอกจากการฝึกซ้อมในเรื่องพื้นฐานอย่างจริงจัง “ในส่วนการฝึกซ้อม พวกเรา (ทีมชาติ) จะไม่ทำตามหลักเกณฑ์ตายตัว” นักกีฬาในรุ่นนี้มีความมุ่งมั่นสูง การร่วมแข่งขันระดับโลกทุกครั้ง จะตั้งเป้าเพื่อชิงเหรียญรางวัลให้ได้ มีความจริงจังในการฝึกฝนสมรรถภาพร่างกายของตนเองก่อนการแข่งขัน ในตอนค่ำยังนัดหมายไปซ้อมยิงธนูกันเอง กลายเป็นว่าโค้ชต้องคอยเตือนให้พวกเขาไปพักผ่อนเมื่อเห็นว่านักกีฬามีความอ่อนล้า แถมยังเสนอว่าควรจะไปกินน้ำแข็งไส ไปดูหนัง แล้วค่อยกลับมาฝึกซ้อมต่อ
นักยิงธนูชายทั้ง 3 คนในทีม ต่างก็มีความเห็นเกี่ยวกับการฝึกฝนที่แตกต่างกัน เว่ยจวินเหิงบอกว่า “บางครั้งในตอนกลางคืน ผมจะไปสนามฝึกยิงธนู แล้วลองยิงแบบไม่เปิดไฟ” เขาเชื่อว่า “ในใจมีเป้าก็ยิงเข้าเป้า หากลังเลต่อตนเองก็จะยิงไม่ถูกเป้า” เติ้งอวี่เฉิงเห็นว่า “การฝึกซ้อมในแต่ละวันก็คือการหาท่าและมุมที่ดีที่สุด เมื่อถือคันธนูและรั้งลูกธนูดอกแรกจะรู้ว่าต้องวอร์มอัพส่วนไหนของร่างกายให้ดีและต้องระวังอะไร” ส่วนทังจื้อจวินให้ความสำคัญกับการจำลองสถานการณ์ “ผมจะคิดถึงคู่ต่อสู้คนหนึ่ง เขาอาจจะได้คะแนน 10, 10, 9 เมื่อถึงตอนยิงผมจะพยายามตั้งท่าให้ดี”
นอกจากทีมโค้ชแล้ว แพทย์ประจำทีม คือ กัวฉุนเอิน (郭純恩) ก็เปิดโอกาสให้นักกีฬาตัดสินใจเองเช่นกัน ขณะที่เธอทำหน้าที่ฝังเข็มให้แก่นักกีฬาที่ศูนย์ฝึกฝนกีฬาแห่งชาติ เพื่อช่วยให้นักกีฬาผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เธอพบว่าความต้องการแต่ละคนไม่เหมือนกัน “เติ้งอวี่เฉิงชอบให้กล้ามเนื้อตึง เพราะตัวเขารู้สึกว่าภาวะแบบนี้จะมีแรงดึงมากกว่า ในหลายปีที่ผ่านมา เขาให้ฉันฝังเข็มเพียง 5 ครั้งเท่านั้น” ส่วนทังจื้อจวินต้องการเฉพาะจุด เขาจะถามฉันว่า ให้ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อรูปสามเหลี่ยมที่เป็นส่วนสำคัญของกล้ามเนื้อในบริเวณไหล่เล็กน้อยก็พอได้หรือไม่ และเว่ยจวินเหิง ถ้าวันไหนที่เขาไม่ต้องการบำบัด จะรายงานสภาพร่างกายของตัวเอง เขาเป็นผู้ที่คอยระวังสภาพร่างกายมาก” กัวฉุนเอินบอกว่า การยิงธนูเป็นกีฬาที่ต้องการความสมดุลของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย นักกีฬาจะเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพร่างกายของตนเองได้มากที่สุด จึงไม่มีการกำหนดข้อเรียกร้องให้ทำตาม แต่จะให้นักกีฬาตัดสินใจตามสภาพร่างกายของพวกเขาเอง
เพลิดเพลินไปกับความตื่นเต้นในการแข่งขัน
การยิงธนูแตกต่างจากกีฬาชนิดอื่น เมื่อยืนอยู่หลังเส้นยิง นักธนูจะต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันตามลำพัง ต้องสงบจิตใจและรับมือกับอารมณ์ของตนเอง ในการแข่งขันกีฬาระดับโลก เช่น โอลิมปิก การรักษาสมาธิและควบคุมการเต้นหัวใจเป็นกุญแจสำคัญของชัยชนะ
เว่ยจวินเหิงอธิบายด้วยแนวความคิด “ระดับความตื่นตัว” ในจิตวิทยาการกีฬาว่า กีฬาแต่ละชนิดต้องการระดับความตั้งใจและความตื่นเต้นที่ต่างกัน การยิงธนูอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้นการเผชิญกับความตื่นเต้น “อย่าต่อต้าน ต้องคิดว่าจะซึมซับมันอย่างไร เปลี่ยนผันอย่างไรให้กลมกลืนกัน เป็นสิ่งที่จะต้องปรับตัวอย่างยืดหยุ่น เปลี่ยนความตื่นเต้นให้เป็นความตื่นตัว”
ทังจื้อจวินเคยพบกับภาวะตื่นเต้นและเสียสมาธิ แต่เขารู้แล้วว่าจะใจร้อนไม่ได้ “คิดซะว่า เมื่อการแข่งขันจบแล้ว แต่ละคนจะมีคะแนนใกล้เคียงกัน จับแนวคิดให้ถูกต้องก็จะมีความมั่นใจและมีพลังบวก” เติ้งอวี่เฉิงซึ่งมักมีสีหน้าราบเรียบไม่แสดงอารมณ์ในสนาม ดูราวกับว่าสามารถควบคุมความตื่นเต้นได้ดี แต่หลังการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกจบแล้ว เขาได้บอกกับจิตแพทย์กัวฉุนเอินที่เข้าไปพูดคุยด้วยว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นแทบตาย แต่ก็ยอมรับได้” กัวฉุนเอินจึงรู้ว่าเติ้งอวี่เฉิงสามารถควบคุมความตื่นเต้นในระดับที่เหมาะสมได้
นอกจากการปรับทัศนคติของตนเองแล้ว จิตแพทย์ได้สอนให้นักกีฬาทำการปรับอารมณ์ด้วยจังหวะการหายใจและพูดให้กำลังใจตนเอง เว่ยจวินเหิงเล่าว่าเขามักได้ยินทังจื้อจวินพูดกับตัวเองเสมอว่า “ทังจื้อจวิน เป็นแชมป์โอลิมปิก”
ความกลมเกลียวและการดูแลซึ่งกันและกัน
ความกลมเกลียวของทีมยิงธนูชายช่วยสร้างกำลังใจในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี หลินจั่นหมิง (劉展明) โค้ชอีกคนหนึ่งในทีมผู้ฝึกสอนบอกว่า พวกเขาไม่ได้ร่วมทีมกันเป็นครั้งแรกจึงมีความรู้ใจกันในระดับหนึ่งแล้ว ก่อนการแข่งขันโอลิมปิกจะเริ่มขึ้น ทีมยิงธนูชายได้จำลองสถานการณ์หลายอย่าง ซ้อมจัดลำดับในการเข้าแข่งขัน “เมื่อลมค่อนข้างแรง เว่ยจวินเหิงจะเป็นมือที่ 1 เขารั้งคันธนูได้มากกว่า ผลกระทบจากแรงลมมีน้อยและจะได้ให้ข้อมูลแก่รุ่นน้องได้ เติ้งอวี่เฉิงที่มีความสุขุมจะเป็นมือที่ 2 ส่วนทังจื้อจวินมีจังหวะการยิงธนูที่ค่อนข้างเร็ว จึงให้อยู่ลำดับแรกหรือลำดับท้ายก็ได้ทั้งนั้น”
ผู้คนในศูนย์การฝึกซ้อมกีฬาแห่งชาติต่างรู้ดีว่า ทีมยิงธนูมีความกลมเกลียวกันมาก โค้ชหลิวจั่นหมิงพูดระคนรอยยิ้มว่า “พวกเราไม่แบ่งทีมชายหญิง ในวันหยุดมักไปกินอาหารด้วยกัน ดูหนังด้วยกัน”
“ในการแข่งขันกีฬา เป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันเอง แต่ในทีมยิงธนู พวกเขาดูแลกันและกันด้วย” กัวฉุนเอินยังจำได้ว่า ก่อนแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ตอนทำการฝังเข็มให้กับเว่ยจวินเหิง ทังจื้อจวินจะคอยดูที่ด้านข้างอย่างตั้งใจ เธอพูดด้วยรอยยิ้มว่า “ฉันเดินไปข้างหน้า เขาก็เดินไปข้างหน้า ฉันเดินไปข้างหลัง เขาก็ตามไปข้างหลัง” ที่แท้ทังจื้อจวินต้องการจดจำจุดตำแหน่งฝังเข็ม จะได้ช่วยรุ่นพี่นวดคลายกล้ามเนื้อในสนามโดยไม่ได้คิดว่าในการแข่งขันแบบบุคคล บนสนามแข่งพวกเขาก็คือคู่แข่งกัน
หลังการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกปิดฉากลง นักกีฬาทั้งสามคนได้พักผ่อนเพียงไม่นาน จากนั้นก็เข้าสมรภูมิกันต่อ เว่ยจวินเหิงไปเข้าร่วมการแข่งขันยิงธนูชิงแชมป์โลก 2021 คว้าเหรียญทองแดงประเภททีมชายจาก Recurve Bow ส่วนเติ้งอวี่เฉิงและทังจื้อจวินไปร่วมแข่งขันกีฬาแห่งชาติได้เหรียญทองและเหรียญเงินในประเภททีมชาย จากนั้น พวกเขาต้องแข่งกันเองเพื่อเป็นตัวแทนทีมชาติไปเข้าร่วมลงแข่งในเอเชียนเกมส์ 2022 แม้ว่าโควตาจะมีจำนวนจำกัด แต่พวกเขายึดมั่นตลอดว่า “ยิงธนูด้วยใจเบิกบาน มีความสุขไปกับการแข่งขัน” ไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้เข้าแข่งขันก็จะร่วมให้กำลังใจกัน เพราะว่าการแข่งขันในทุกสนามล้วนเป็นการเริ่มต้นใหม่ แต่ที่สุดแล้ว ในกีฬายิงธนู ศัตรูที่แท้จริงก็คือตัวของเราเอง
เพิ่มเติม