New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 16 มี.ค. 65
เพื่อขานรับการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี ครั้งที่ 66 (Commission on the Status of Women, CSW) แห่งสหประชาชาติ ประจำปี 2022 ในด้านความเท่าเทียมทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มูลนิธิพัฒนาและส่งเสริมสิทธิสตรี (Foundation of Women’s Rights Promotion and Development, FWRPD) และองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) ได้ร่วมจัด “การประชุมผู้นำด้านความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ” (Climate Justice Leaders Seminar) โดยมีนางหวังเหม่ยฮัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ (Ministry of Economic Affairs, MOEA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) Ms. Michelle Wu นายกเทศมนตรีเมืองบอสตันแห่งสหรัฐอเมริกา Ms. Natalie Louise Bennett สมาชิกรัฐสภาแห่งอังกฤษ และอดีตผู้นำพรรคกรีนแห่งอังกฤษและเวลส์ Ms. Kitlang Kabua รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ และนางเฉิงสูเฟิน หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ Cathay Financial Holding รวมถึงผู้นำในแวดวงธุรกิจและองค์การนอกภาครัฐที่เป็นสตรี เข้าร่วมการประชุมในระบบออนไลน์ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และผลสัมฤทธิ์ของพลังสตรีในการผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รมว.หวังฯ ชี้ว่า เนื่องจากไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก อีกทั้งไต้หวันยังตอบรับที่จะดำเนินการตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 โดยหลายปีมานี้ MOEA ได้แสวงหาแนวทางการประยุกต์ใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานไฮโดรเจน มาใช้ทดแทนในด้านพลังงานและอุตสาหกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการยกระดับกระบวนการผลิต วัสดุเชื้อเพลิงและดำเนินการตามเป้าหมายของเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งสัดส่วนของแรงงานสตรีในหน่วยงานด้านพลังงานก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมนอกชายฝั่ง ก็มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นสตรีในสัดส่วนกว่าร้อยละ 26 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสัดส่วนในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกที่มีร้อยละ 15 และทั่วโลกที่ร้อยละ 21
Ms. Bennett อดีตผู้นำพรรคกรีนแห่งอังกฤษและเวลส์ แสดงความคิดเห็นว่า นอกจากมนุษยชาติจะต้องเผชิญหน้ากับ “การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” (climate change) แล้ว ยังต้อง “เปลี่ยนแปลงระบบแนวคิด” (system change) ด้วย จึงจะสามารถทำลายกรอบจำกัดทางด้านความไม่เสมอภาคทางเพศ เพื่อสร้างสังคมที่เปี่ยมด้วยความยุติธรรมต่อไป
รมว. Kabua ระบุว่าหมู่เกาะมาร์แชลล์ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก อีกทั้งการประกอบอาชีพของกลุ่มสตรี ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลหมู่เกาะมาร์แชลล์จึงจำเป็นต้องแก้ไขนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มสตรีได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ รมว. Kabua ยังชี้ว่า ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่สำคัญของหมู่เกาะมาร์แชลล์ในด้านการแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไต้หวันได้ส่งมอบความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์แก่ภาคเศรษฐกิจของกลุ่มสตรีในพื้นที่เป็นอย่างมาก
Ms. Michelle Wu นายกเทศมนตรีเมืองบอสตันแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นชาวอเมริกันที่มีภูมิลำเนาเดิมจากไต้หวัน ได้ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลไต้หวันในการแสดงปาฐกถาเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่เข้ารับตำแหน่งเป็นต้นมา โดยได้ชี้แจงถึงการผลักดัน “นโยบายสีเขียวใหม่” ของเมืองบอสตัน พร้อมทั้งแบ่งปันการเรียนรู้การผลักดันมาตรการพลังงานสีเขียวของเมืองพี่เมืองน้องระหว่างกรุงไทเป – เมืองบอสตัน โดย Ms. Wu คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นเมืองต่างๆ ทั่วโลกได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ เพื่อร่วมสรรค์สร้างอนาคตที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นต่และแนวคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป
นางเฉิงฯ หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ Cathay Financial Holding และประธานสมาพันธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกลุ่มนักลงทุนในภูมิภาคเอเชีย” (AIGCC) ได้แบ่งปันแนวโน้ม “การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ภายใต้มุมมองของผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจ โดยนางเฉิงฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายระดับสากล ไม่มีรัฐบาลหรือองค์กรธุรกิจใด สามารถหลีกหนีวิกฤตนี้ได้
โดยจะมีการอัปโหลดการประชุมในครั้งนี้ลงบนเฟซบุ๊กของกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และจะมีการไลฟ์สดตลอดการประชุมผ่าน Youtube นอกจากนี้ เฟซบุ๊กของสำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศ ทั้งที่นครนิวยอร์ก ชิลี อิตาลี ไทย สวีเดน เบลเยี่ยมและอังกฤษ ต่างก็เผยแพร่การไลฟ์สดควบคู่ไปด้วยเช่นกัน