New Southbound Policy Portal
กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 22 มี.ค. 65
เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เข้าร่วมกิจกรรมปลูกฝังรักการอ่านและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียอี้ (National Chiayi University, NCYU) วางแผนจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่เป็นภาษาแม่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน โดยมีเป้าหมายหลักคือ “ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาแม่” “ปลูกฝังการรักการอ่านในครอบครัว” และ “การสืบสานวัฒนธรรม” เป็นต้น หลังดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ทีมบุคลากรได้ออกแบบสื่อการเรียนการสอนแล้วเสร็จเป็นจำนวน 3 ชุด ชุดละ 10 เล่ม รวมทั้งหมด 30 เล่ม ซึ่งครอบคลุมภาษาแม่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน รวม 7 ภาษา ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชาและไทย โดยได้มีการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวสื่อการเรียนการสอนและผลการดำเนินโครงการข้างต้นขึ้น เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาแม่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ เข้าร่วมแบ่งปันสื่อการสอนฉบับภาษาแม่ รวมถึงบอกเล่าประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมปลูกฝังรักการอ่าน ตลอดจนนำเสนอผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการออกแบบสื่อการเรียนการสอนในครั้งนี้
นางหลี่อวี้เจวียน อธิบดีกรมการศึกษาตลอดชีพ กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ณ สิ้นเดือนมกราคม ปี 2022 ที่ผ่านมา ยอดผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน มีจำนวนกว่า 570,000 คน โดยผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มาจากภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และประเทศอื่นๆ ถือเป็นสมาชิกสำคัญในสังคมของไต้หวันไปแล้ว เพื่อรับมือกับ “โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับ 12 ปี” กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้ภาษาแม่ของกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นหนึ่งในหลักสูตรวิชาภาคบังคับของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น นับตั้งแต่ปี 2017 ที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำ “โครงการผลักดันและออกแบบสื่อการเรียนการสอนภาษาแม่ของครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” โดยวางแผนให้มีการริเริ่มปลูกฝังการเรียนรู้ตั้งแต่ก่อนปฐมวัย ผ่านสื่อการสอนและกิจกรรมที่ผ่านการออกแบบและประเมิน กอปรกับเพิ่มเติมความหรรษาในการเรียนรู้ภาษา เพื่อให้สมาชิกครอบครัวของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มีโอกาส ในการสอดแทรกการเรียนรู้ภาษาถิ่นกำเนิดของตน ตลอดจนทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางครอบครัวระหว่างผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และบุตรธิดา ตลอดจนบ่มเพาะข้อได้เปรียบทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของถิ่นกำเนิดให้แก่บุตรธิดา ควบคู่ไปกับการขยายวิสัยทัศน์ระดับนานาชาติ ยกระดับศักยภาพในการเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งดื่มด่ำกับวัฒนธรรมที่หลากหลายไปพร้อมๆ กัน
นางเย่อวี้จิง ศาสตราจารย์คณะการศึกษาปฐมวัยแห่ง NCYU และเป็นประธานของโครงการนี้ กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมให้เนื้อหาของสื่อมีความสอดคล้องกับภาษาที่ใช้สนทนาในชีวิตประจำวัน สื่อการสอนจึงเลือกที่จะจัดทำขึ้นในรูปแบบหนังสือนิทานรูปภาพ โดยได้เชิญศิลปินผู้เชี่ยวชาญการวาดภาพประกอบให้ช่วยวาดภาพประกอบลงในสื่อการเรียนการสอน โดยสื่อการเรียนการสอนชุดแรกมุ่งเน้นไปที่การสนทนาในชีวิตประจำวัน ชุดที่ 2 ได้เพิ่มเติมเนื้อหาให้เป็นไปในเชิงลึกยิ่งขึ้น โดยได้อ้างอิงโครงสร้างหลักสูตรตามกิจกรรมการสอนและดูแลเด็กเล็ก ส่วนชุดที่ 3 เป็นเรื่องราวนิทานที่เกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ การพึ่งพาตนเอง การสร้างสรรค์ตามภาพจินตนาการ การแสดงออกซึ่งความห่วงใยและชีวิตครอบครัว เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทยอยเพิ่มคำศัพท์และเนื้อหาให้เพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทั้งนี้ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นบุตรธิดาของบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มีความเข้าใจและยอมรับต่อวัฒนธรรมที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการ แถลงว่า สื่อการเรียนการสอนของโครงการนี้ เหมาะสำหรับการอ่านร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว ตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยสื่อการเรียนการสอนทุกเล่มล้วนออกแบบให้มีเกมการแข่งขันหรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัว โดยในระหว่างที่ผู้ปกครองที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่อ่านสื่อการเรียนการสอน ก็สามารถเรียนรู้ภาษาจีนไปพร้อมกัน นอกจากนี้ เพื่อขานรับการเรียนผ่านสื่อการเรียนการสอนดังกล่าว จึงได้จัดทำหนังสือเสียงอิเล็กทรอนิกส์แบบสองภาษา และเกมคำศัพท์รูปแบบออนไลน์ เป็นต้น เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างเพลิดเพลินและมีสีสัน คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากกิจกรรมดังกล่าวจะสามารถส่งเสริมให้ครอบครัวของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และหน่วยงานให้บริการ ให้ความสนใจกับการเรียนรู้ภาษาแม่ พร้อมส่งเสริมให้ครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพื่อให้สื่อการเรียนการสอนถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น