New Southbound Policy Portal

หุบเขาไท่หลู่เก๋อจากมุมมองที่หลากหลาย ทีมอาสาสมัครผู้คอยดูแล เส้นทางเดินเขาทุกเส้น

หุบเขาไท่หลู่เก๋อ(1)

 

หุบเขาไท่หลู่เก๋อ หรือที่รู้จักกันในนาม ทาโรโกะ เกิดจากมวลหมู่หินปูนที่สะสมอยู่ใต้ก้นทะเล หลายสิบล้านปีก่อน ถูกแผ่นเปลือกโลกกระแทกและอัดจนเปลี่ยนรูปร่าง จากนั้นเมื่อ 6 ล้านปีที่แล้ว ถูกเปลือกโลกดันขึ้นมา และถูกแม่น้ำลี่อู้ซีค่อย ๆ กัดเซาะ จนกลายเป็นหุบเหวลึก และภูมิทัศน์ที่มีความหลากหลาย ทั้งแปลกและสะดุดสายตาเป็นอย่างมาก

 

เส้นทางเดินเขาที่ไท่หลู่เก๋อ มีตั้งแต่ที่ความสูงไม่กี่สิบเมตรไปจนถึงเกือบ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย ในครั้งนี้ ทีมงานของเราได้เลือกเดินไปตามเส้นทางเดินเขา “ซาข่าตัง” ที่อยู่บนความสูง 60 เมตรจากระดับน้ำทะเล และเส้นทางโบราณ “จุยลู่” ซึ่งอยู่บนความสูง 765 เมตรจากระดับน้ำทะเล เพื่อลองสังเกตระบบนิเวศบริเวณโกรกธารของหุบเขาลึกและหินปูน พร้อมทั้งติดตามทีมอาสาสมัครประจำเส้นทางเดินเขาในอุทยานแห่งชาติไท่หลู่เก๋อ (Taroko National Park) ไปยังเส้นทางเดินเขาต้าหลี่ เพื่อดูว่าพวกเขาได้นำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในไท่หลู่เก๋อ มาใช้ทำบันไดหิน และดูแลรักษาเส้นทางเดินเขาได้อย่างไร

 

เส้นทางเดินเขาซาข่าตัง : แม่น้ำลี่อู้ซีอันเชี่ยวกราก

เส้นทางเดินเขาซาข่าตังอยู่ติดกับแม่น้ำลี่อู้ซี ขณะที่เดินไปตามเส้นทางนี้ นักท่องเที่ยวจะสามารถได้ยินเสียงของแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว สะท้อนไปมาภายในหุบเขาไท่หลู่เก๋อ และยังมีโอกาสได้เห็นระบบนิเวศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแบบ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางภูมิทัศน์ของแนวหินตามหุบเขาที่เกิดขึ้นจากการกัดเซาะของลำน้ำเป็นเวลานานนับล้านปี คุณหลินเม่าเย่า (林茂耀) ซึ่งเป็นไกด์อาวุโสบอกกับเราว่า เส้นทางเดินเขาสายนี้ถูกบุกเบิกขึ้นในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวัน เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาแหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ จึงได้มีการระเบิดหินในบริเวณนี้เพื่อตัดถนนสำหรับใช้ในการก่อสร้าง “ช่วงกลางของเส้นทางเดินเขา ยังเห็นท่อน้ำที่ใช้สำหรับส่งน้ำจากแม่น้ำลี่อู้ซี” หลินเม่าเย่าบอกอีกว่า ในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน โรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำลี่อู้ซีถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในไต้หวัน แต่ในปัจจุบันถูกใช้สำหรับเพิ่มเสถียรภาพของกำลังไฟฟ้าเท่านั้น

“ซาข่าตัง (砂卡礑)” ในภาษาไท่หลู่เก๋อหมายถึง “ฟันกราม” หลินเม่าเย่าเล่าว่า การนำคำว่าซาข่าตังมาใช้ในการตั้งชื่อ มีที่มาที่ไป 2 ตำนานด้วยกัน ตำนานแรกคือ ในสมัยก่อน เมื่อครั้งที่ชาวเผ่าไท่หลู่เก๋อตั้งชุมชนที่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำซาข่าตัง ได้ขุดพบฟันกรามของบรรพบุรุษ ตำนานที่ 2 คือ ชุมชนต้าถงที่อยู่บริเวณต้นน้ำ มีลักษณะคล้ายฟันกราม จึงนำมาใช้ในการตั้งชื่อ ในช่วงที่เราเดินไปตามเส้นทางเดินเขา บางครั้งจะมีโอกาสได้พบกับผู้อาวุโสของชนเผ่าไท่หลู่เก๋อ หลินเม่าเย่ามักจะก้มศีรษะแสดงความเคารพพร้อมเรียกพวกเขาว่า Baki (คุณปู่) หรือ Payi (คุณย่า) 

อุทยานแห่งชาติไท่หลู่เก๋อมีอากาศที่ดีมาก ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากพืชที่อยู่ในละแวกนั้น หลินเม่าเย่าชี้ขึ้นไปบนหน้าผาที่มีไลเคนเกาะอยู่ ดูแล้วเหมือนกับขึ้นรา พร้อมบอกกับเราว่า “เจ้าพวกนี้ จะขึ้นเฉพาะในบริเวณที่อากาศดีและมีความชื้นที่เหมาะสม” ไลเคนคือสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันแบบภาวะที่ต้องการพึ่งพาของรากับสาหร่าย โดยราได้อาหารจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย ในขณะที่สาหร่ายก็ดูดซึมแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ได้จากความชื้นของรา การจับคู่ระหว่างสาหร่ายและราที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดไลเคนที่มีสีสันแตกต่างกันไป ดังนั้น บนเส้นทางเดินเขาในแถบไท่หลู่เก๋อ จะมีไลเคนมากมายหลายแบบให้เราได้เห็นกัน นอกจากนี้ ไลเคนยังปลดปล่อยสารบางอย่างที่มีฤทธิ์เป็นกรด เพื่อกัดเซาะหินและถือเป็นการเร่งปฏิกิริยาให้กลายเป็นดิน ทำให้พืชสามารถเติบโตได้ง่าย ดังนั้น จึงทำให้เราได้เห็นระบบนิเวศหลากสีสันอยู่บนหน้าผาที่เต็มไปด้วยหินที่แข็งกระด้าง

ชีวิตของชาวไท่หลู่เก๋อหลีกไม่พ้นที่จะต้องมีความเกี่ยวพันกับต้นไม้ ซึ่งพฤกษานานาพันธุ์ที่อยู่บนเส้นทางเดินเขาซาข่าตังเหล่านี้ ถูกสะท้อนออกมาผ่านทางวัฒนธรรมของชาวไท่หลู่เก๋อด้วย หลินเม่าเย่าชี้ไปที่ป่านรามี ซึ่งมีขอบใบเป็นรอยหยักแล้วบอกว่า “นี่คือวัตถุดิบที่ชนพื้นเมืองใช้ในการทำเสื้อผ้า” ชนเผ่าไท่หลู่เก๋อมีความเข้าใจในธรรมชาติ ได้นำป่านรามีไปต้ม แล้วนำมาตากแห้ง จากนั้นจะดึงเอาเส้นใยออกมาถักทอเป็นผืนผ้า ที่ใช้ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าต่อไป และที่ช่วงกลางของเส้นทางเดินเขา จะเป็นที่ตั้งของ 5D Cabin หรืออู่เจียนอู (五間屋) ซึ่งหมายถึงบ้าน 5 หลัง อันเป็นบริเวณที่ชาวไท่หลู่เก๋อใช้ในการเพาะปลูก และมีบ้านตั้งอยู่ 5 หลังจนกลายมาเป็นชื่อของสถานที่แห่งนี้ ชาวไท่หลู่เก๋อเรียกที่นี่ว่า Swiji ซึ่งหมายถึงต้นไทรนั่นเอง เห็นได้ชัดว่าต้นไทรคือพืชชนิดพันธุ์เด่น (Dominant Species) ในแถบซาข่าตัง ภาพของต้นไทรที่มีรากอากาศไชชอนไปตามหินผาจึงปรากฏอยู่มากมายในบริเวณนี้

 

เส้นทางโบราณจุยลู่ : ยืนชมหุบเขาที่ริมหน้าผา

เส้นทางโบราณจุยลู่ซึ่งอยู่เลียบริมหน้าผา ถือเป็นเส้นทางเดินเขาที่อันตรายที่สุดในไท่หลู่เก๋อ แต่ก็มีทิวทัศน์ที่งดงามตระการตาเป็นอย่างมาก จากที่นี่ไม่เพียงแต่จะสามารถมองเห็นปุยเมฆที่ลอยอยู่บนยอดเขาถ่าซานที่อยู่ฟากตรงข้าม หากแต่ยังสามารถก้มลงไปชมแม่น้ำลี่อู้ซีและถนนที่อยู่ด้านล่างบนความสูงกว่า 700 เมตรด้วย ตลอดเส้นทางเราจะพบเห็นพืชพันธุ์อันหลากหลายและมีความพิเศษขึ้นอยู่มากมาย หลินเม่าเย่าบอกว่า “สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในแถบนี้ ได้อพยพลงมาทางใต้จนมาถึงไต้หวันในยุคน้ำแข็ง แต่หลังจากพ้นยุคน้ำแข็งไปแล้ว ก็เกิดช่องแคบไต้หวันขึ้น สิ่งมีชีวิตที่โยกย้ายมาอยู่ที่นี่จึงมีชะตาชีวิตเพียงแค่ 2 ทาง คือสูญพันธุ์หรือวิวัฒนาการจนกลายเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่นที่มีในไต้หวันเท่านั้น โดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติไท่หลู่เก๋อ สภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการโยกย้ายถิ่นฐาน จึงทำให้พืชจำนวนไม่น้อยเกิดวิวัฒนาการในพื้นที่เล็ก ๆ จนกลายเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่นที่มีอยู่ในไท่หลู่เก๋อเท่านั้นเช่นกัน”

“จากการวิจัยในปัจจุบันพบว่า มีพืชมากกว่า 70 ชนิดที่ถูกเรียกชื่อตามสถานที่หรือภูเขาที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไท่หลู่เก๋อ เช่น ต้นโอ๊กไท่หลู่เก๋อ กุหลาบเลื้อยไท่หลู่เก๋อ กุหลาบพันปีหนานหู หรือ กล้วยไม้แดงฉีไหล เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ มีมากถึง 56 ชนิดที่เป็นพันธุ์เฉพาะถิ่นของไต้หวันด้วย” โดยหลินเม่าเย่ายังอธิบายอีกว่า แม้ลักษณะทางธรณีวิทยาของไต้หวันจะถือว่า ยังมีอายุไม่มากนัก แต่ก็มีพืชพันธุ์โบราณเติบโตอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย จนทำให้เกิดเป็นคำพูดที่ว่า “ไต้หวันเป็นได้ทั้งหนุ่มทั้งแก่ ทั้งเล็กทั้งใหญ่”

สถานีตำรวจปาต๋ากังที่อยู่บนเส้นทางโบราณจุยลู่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นหินซึ่งสภาพอากาศแห้งเป็นอย่างมาก จากที่นี่ เราจะได้เห็นต้นโอ๊กไท่หลู่เก๋อซึ่งใบมีลักษณะแหลม ๆ เมื่อเดินขึ้นไปเรื่อย ๆ หลินเม่าเย่าชี้ให้ดูต้นฮอร์นบีมไท่หลู่เก๋อ และต้นบาเบอรี่ไท่หลู่เก๋อ “ศูนย์อนุรักษ์พฤกษศาสตร์ ดร. ซิซีเลีย คู (Dr. Cecilia Koo Botanic Conservation Center) ซึ่งทำงานด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืชเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนจากทั่วโลก ได้ให้ความสำคัญกับต้นฮอร์นบีมไท่หลู่เก๋อเป็นอย่างมาก” แม้ว่าเส้นทางโบราณจุยลู่จะตั้งอยู่บนพื้นที่ในแถบกึ่งเขตร้อน และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่ถึง 1,000 เมตร แต่การที่ถูกลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีค่อนข้างต่ำ จนสามารถพบเห็นต้นสนฟอร์โมซา ซึ่งมักจะอยู่ในเขตอากาศหนาว มาเจริญงอกงามอยู่ที่นี่ด้วย

เส้นทางโบราณจุยลู่ซึ่งมีระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ ในสมัยญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน เดิมทีเป็นเส้นทางสำหรับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการตรวจตราความเคลื่อนไหวของชนเผ่าไท่หลู่เก๋อซึ่งอยู่ในหุบเขา และใช้ในการขนถ่ายสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิต ในปี ค.ศ. 2014 มาสะ ยูเมซาว่า สารวัตรตำรวจที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญการตัดถนนบนเขา” ได้นำทีมงานมาบุกเบิกที่นี่ เหล่าคนงานที่เดินทางจากญี่ปุ่นมายังไท่หลู่เก๋อต่างก็พากันขอถอนตัวในทันทีที่ได้เห็นช่องเขาขาดจุยลู่ ยูเมซาว่าจึงต้องว่าจ้างแรงงานวัยฉกรรจ์จากในชุมชนของชนพื้นเมืองให้มาช่วยระเบิดหินและเจาะหน้าผาเพื่อทำถนนแทน

หลังผ่านไป 7 เดือน เส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อระหว่างช่องเขาขาดจุยลู่ก็เสร็จสมบูรณ์ โดยมีคนงาน 37 คนเสียชีวิตระหว่างการทำงานที่นี่ และมีการค้นพบจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า หลังจากเส้นทางสายนี้สร้างเสร็จแล้ว ก็เริ่มมีนักวิชาการชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาทำการสำรวจระบบนิเวศบริเวณพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำลี่อู้ซี เช่น ดร. มาซามิสุ โอชิม่า ซึ่งเป็นผู้ค้นพบปลาแซลมอนไต้หวัน ก็เดินทางไปตามเส้นทางนี้โดยการอารักขาของตำรวจ จนไปถึงสถานีตำรวจถาปี่ตัว (ปัจจุบันคือแถบเทียนเสียง) พร้อมทั้งประกาศต่อชาวไท่หลู่เก๋อว่า จะขอซื้อไก่ฟ้ามิคาโดะ (帝雉) หรือไก่ฟ้าจักรพรรดิ โดยยินดีให้ราคาอย่างงาม จนสามารถนำไก่ฟ้าจักรพรรดิจำนวน 15 คู่เดินทางกลับไปญี่ปุ่นด้วย
 

หุบเขาไท่หลู่เก๋อ(2)

 

จากนักเดินเขากลายเป็นอาสาสมัครประจำขุนเขา

ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินเขาซาข่าตังที่เป็นทางราบและเดินง่าย หรือเส้นทางโบราณจุยลู่ที่ทั้งสูงชันและเปี่ยมไปด้วยอันตราย ต่างก็มีอาสาสมัครคอยดูแลรักษาเส้นทางเหล่านี้ แต่เนื่องจากวิธีการดูแลรักษานั้นเน้นเรื่องการหลอมรวมเข้ากับธรรมชาติ จึงทำให้นักท่องเที่ยวแทบไม่รับรู้ถึงผลงานของพวกเขาเหล่านี้เลย

วีรบุรุษนิรนามเหล่านี้ ได้เข้ามาดูแลรักษาเส้นทางเดินเขาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว มีบางคนยังทำหน้าที่เป็นนักอนุรักษ์อาสาสมัครหรือมัคคุเทศก์อาสาสมัครด้วย จนถูกเพื่อนร่วมงานเรียกว่าเป็นพวก “สะเทินน้ำสะเทินบก” คุณหลินกั๋วเหวิน (林國文) ที่ถูกเรียกว่าเฮียสอง ถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากที่สุด มีความเชี่ยวชาญในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในทีม อันมีส่วนช่วยให้การก่อสร้างและงานดูแลรักษาเส้นทางเดินเขาสำเร็จลงได้อย่างราบรื่น เจียงเจิงเหวยเจิน (江曾為真) ที่มีความเชี่ยวชาญทั้ง 3 ด้าน หวังว่าจะสามารถนำเอาเรื่องราวของการสร้างและดูแลเส้นทางเดินเขามาใช้ในการอธิบายให้นักท่องเที่ยวได้ฟังด้วย เพื่อให้พวกเขาเข้าใจถึงหลักการของระบบนิเวศที่อยู่เบื้องหลังการก่อสร้างและการดูแลเส้นทางต่างๆ คุณฟางรุ่ยข่าย (方瑞凱) ซึ่งยังทำหน้าที่เป็นนักอนุรักษ์อาสาสมัครที่อุทยานแห่งชาติหยางหมิงซานด้วย บอกกับเราว่า ทิวทัศน์ของไท่หลู่เก๋อมีความงดงามเป็นอย่างมาก จนทำให้เขาไม่สามารถไปจากผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้ ส่วนคุณจางเฉาเหนิง (張朝能) ซึ่งชื่นชอบความท้าทายในการพิชิตเส้นทางเดินเขาที่ยากลำบาก ก็มักจะรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากเมื่อได้ยินคำชื่นชมจากเหล่านักท่องเที่ยว

“ก่อนหน้านี้ ตอนที่หัวหน้าทีมกู้ภัยภูเขาได้นำทีมค้นหาและพาเดินไปทางยอดเขาตะวันออกของหนานหู ตอนเข้าไปเป็นช่วงเวลาดึกดื่น แต่ตอนลงเขากลับออกมาฟ้าสว่างแล้ว ถึงได้รู้สึกว่าทางเดินมันกว้างขึ้น ตอนแรกก็นึกว่าเดินผิดทาง แต่สุดท้ายถึงได้รู้ว่า กลุ่มอาสาสมัครดูแลเส้นทางเดินเขาเป็นผู้ที่ทำทางเดินเส้นนี้ขึ้นในวันเดียวกันนั้นเอง”

เมื่อเราถามถึงสาเหตุที่ทั้ง 4 คนตัดสินใจมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของทีมอาสาสมัคร ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม “เราทุกคนต่างก็ชอบเดินเขา จึงเป็นผู้ที่ใช้งานเส้นทางเดินเขาเยอะมาก” เจียงเจิงเหวยเจินเคยประสบอุบัติเหตุเดินสะดุดก้อนหินจนข้อเท้าเคล็ด ระหว่างที่เดินไปบึงเจียหมิงหู ดังนั้น หลังจากที่เข้าร่วมทีมอาสาสมัครแล้ว เธอกับสมาชิกในทีมจึงได้เก็บก้อนหินขนาดใหญ่ออกไปจากเส้นทางเดินเขาที่กลับมาจากบึงเจียหมิงหู หรือจางเฉาเหนิงที่ได้ยินว่า มีคนลื่นหกล้มจนได้รับบาดเจ็บที่ภูเขาผิงฟงซานบ่อยครั้ง ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกของทีมงานค้นหาเส้นทางใหม่ของอุทยานแห่งชาติไท่หลู่เก๋อด้วย

หลินกั๋วเหวินเห็นว่า แม้การใช้แรงงานคนในการดูแลรักษาเส้นเดินเขาจะต้องเสียเวลาเป็นอย่างมาก แต่ก็ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มความสบาย และช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศ “หัวใจสำคัญของการดูแลรักษาเส้นทางเดินเขาด้วยแรงงานคนก็คือ ใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ เพราะจะไม่ทำลายระบบนิเวศ และเราจะทำงานจากมุมมองของนักเดินเขา เพื่อทำให้เป็นเส้นทางที่เดินแล้วมีความสะดวกสบายมากที่สุด”

 

ใช้วัสดุในพื้นที่มาดูแลรักษาเส้นทางเดินเขา

ทีมอาสาสมัครดูแลรักษาเส้นทางเดินเขาจะให้ความสำคัญในการทำงานเป็นทีม แต่ละคนจะพยายามทำในสิ่งที่ตนถนัด หลินกั๋วเหวินจะจับคู่ทำงานร่วมกับฟางรุ่ยข่าย พวกเขาร่วมกันสังเกตพื้นทางเดิน ก่อนจะไปหาหินก้อนใหญ่มา “การจะหาวัสดุมาใช้ ต้องไปหามาจากพื้นที่ซึ่งอยู่ไกลออกไปมากกว่า 20 เมตร โดยห้ามไปทำอะไรกับพื้นที่บริเวณไหล่ทางของทางเดิน” หลินกั๋วเหวินอธิบาย “การทำทางเดินต้องให้ไปตามเส้นทางไหลของน้ำ และทำคูน้ำเพื่อชักน้ำให้ไหลออกไปทางอื่น มิฉะนั้น หากมีน้ำไหลผ่านบ่อย ๆ จะทำให้มีโคลนติดอยู่ตามหน้าดิน ส่งผลให้เหล่านักเดินเขาจะเดินได้ไม่สะดวก” ในขณะเดียวกัน ฟางรุ่ยข่ายก็ยกหินก้อนใหญ่กลับมา ทั้งคู่ช่วยกันคิดว่าจะจัดวางยังไง ก่อนจะฝังก้อนหินลงไปในดินแล้วช่วยกันเคาะให้แตกเพื่อให้เศษหินกลบบนพื้นจนเรียบ “แบบนี้เวลาเหยียบลงไปจะรู้สึกสบายมาก และช่วยไม่ให้เกิดเป็นโคลนขึ้นมาด้วย” หลินกั๋วเหวินกล่าว

ปัจจุบัน การทำเส้นเดินเขาด้วยแรงงานคนบนเส้นทางเดินเขาต้าหลี่ ทำไปได้ 700 เมตรแล้ว ทีมอาสาสมัครจึงขอเชิญชวนเหล่านักท่องเที่ยวว่า นอกจากเส้นทางเดินเขาเต๋อข่าหลุนแล้ว ยังมีเส้นทางต้าหลี่สายนี้ ที่สามารถใช้เดินทางไปยังชุมชนต้าถงและต้าหลี่ แม้ว่าทางเข้าอาจจะอยู่ลึกลับไปสักหน่อย แต่จะทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับความสะดวกสบายในการเดินเขาจากเส้นทางที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือของพวกเขา พร้อมทั้งเรียนรู้ถึงจิตวิญญาณแห่งการอนุรักษ์ระบบนิเวศผ่านเทคนิคที่ใช้ในการสร้าง และทำความรู้จักกับทรัพยากรทางธรณีวิทยาอันอุดมสมบูรณ์ของไท่หลู่เก๋อจากก้อนหินทุกก้อน ไปพร้อมกับชื่นชมความงามของภูมิทัศน์แห่งระบบนิเวศอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

 

เพิ่มเติม

หุบเขาไท่หลู่เก๋อจากมุมมองที่หลากหลาย ทีมอาสาสมัครผู้คอยดูแล เส้นทางเดินเขาทุกเส้น