New Southbound Policy Portal

รมว.อู๋ฯ ให้สัมภาษณ์แก่ TaiwanPlus ชี้แจงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - กลุ่มประเทศในยุโรป การข่มขู่ไต้หวันจากรัฐบาลจีน บทเรียนที่ได้รับจากสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน รวมถึงความสำคัญของประเทศพันธมิตรที่มีต่อไต้หวัน

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 12 เม.ย. 65
 
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Divya Gopalan ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวแพลตฟอร์ม TaiwanPlus โดยได้ชี้แจงถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - ยุโรป การข่มขู่ไต้หวันจากรัฐบาลจีน บทเรียนที่ได้รับจากสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน รวมถึงความสำคัญของประเทศพันธมิตรที่มีต่อไต้หวัน โดยวิดีทัศน์การให้สัมภาษณ์ช่วงต้น ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนแล้วเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ได้รับกระแสตอบรับและความสนใจเป็นอย่างมาก  ส่วนเนื้อหาการสัมภาษณ์ในช่วงท้ายนั้น มีกำหนดจะนำออกเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนหน้า
 
เนื่องจากเป็นช่วงประจวบเหมาะกับการเดินทางมาเยือนไต้หวันของ “กลุ่มสมาชิกรัฐสภายุโรปและสมาคมสมาชิกรัฐสภาไต้หวัน - สวีเดน” รมว.อู๋ฯ จึงหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจง โดยระบุว่า หลายปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ยุโรปพัฒนาไปอย่างรุดหน้า โดยจะเห็นได้จากกรณีเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2021 รัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบให้ผ่านญัตติ “รายงานความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไต้หวัน - EU” เป็นฉบับแรกในประวัติศาสตร์  ซึ่งถือได้ว่าความสัมพันธ์ทางความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ได้ก้าวสู่หลักชัยใหม่ นอกจากนี้ กลุ่มรัฐสภาฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก และอิตาลี ต่างก็ได้ทยอยผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน รมว.อู๋ฯ ชี้แจงว่า ในช่วงครึ่งปีมานี้ รัฐสภายุโรปและฝรั่งเศส รวมถึง 3 ประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบคาบสมุทรบอลติก และสวีเดน ต่างก็ทยอยรวบรวมจัดตั้งคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อไต้หวันของกลุ่มประเทศยุโรป ตลอดจนเป็นการให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า การที่สหภาพยุโรป (EU) และไต้หวันเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน มีพื้นฐานมาจากการที่ไต้หวัน – EU ต่างยึดมั่นในค่านิยมสากลด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ร่วมกัน  ในทางกลับกัน รัฐบาลจีนดำเนินการทูตแบบนักรบหมาป่า (Wolf Warrior diplomacy) ด้วยการแผ่ขยายอำนาจไปยังทั่วทุกพื้นที่ในโลก ทำให้ประเทศสมาชิก EU สัมผัสได้ถึงวิกฤตความท้าทายที่เกิดจากการแผ่ขยายของลัทธิอำนาจนิยม อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันยังคงสวมบทบาทที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยไต้หวันยินดีที่จะธำรงรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของกลไกห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศในยุโรปจึงได้ร่วมแสดงความห่วงใยต่อวิกฤตที่อาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันและเศรษฐกิจทั่วโลก อันเกิดจากการข่มขู่ไต้หวันของจีนด้วยกำลังทหาร
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า เฉพาะในปีที่แล้ว จีนได้ส่งเครื่องบินทหารรุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวันนับพันครั้ง ตลอดจนเข้าแทรกแซงด้วยการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และด้วยสงครามจิตวิทยาและสงครามทางไซเบอร์ เป็นต้น โดยไต้หวันได้เตรียมพร้อมรับมือเพื่อปกป้องประเทศอย่างกระตือรือร้น  

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลโจ ไบเดนได้ประกาศอนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ที่ปธน.โจ ไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสหรัฐฯ เป็นต้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันในการป้องกันประเทศอย่างทันท่วงที และเพื่อยกระดับแสนยานุภาพในการสกัดกั้นการโจมตี อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อความต้องการด้านกลาโหมของไต้หวันอีกด้วย
 
ต่อบทเรียนที่ไต้หวันได้รับจากสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า การที่ยูเครนสามารถยืนหยัดในการต่อกรกับรัสเซียได้นั้น เป็นผลอันเนื่องมาจากการที่ประชาชนในประเทศมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศ ประยุกต์ใช้กำลังทหารที่ขาดความสมดุลอย่างเหมาะสม ตลอดจนผนึกกำลังกับภาคประชาชนอย่างเหนียวแน่น โดยไต้หวันนอกจากจะยึดถือไว้เป็นบทเรียนแล้ว ก็ยังจะเร่งพัฒนาแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดความสมดุลควบคู่กันไป พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันประเทศของภาคประชาชนให้เกิดความแข็งแกร่ง ตลอดจนประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการต่อต้านการรุกรานของประเทศอำนาจนิยมต่อไป
 
สำหรับกลุ่มประเทศพันธมิตรของไต้หวันที่มีทั้งหมด 14 ประเทศนั้น รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ทุกประเทศล้วนมีความสำคัญต่อไต้หวันด้วยกันทั้งสิ้น  โดยกลุ่มประเทศพันธมิตรเหล่านี้ ยอมรับว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยในประชาคมโลก ซึ่งการยอมรับเช่นนี้เปี่ยมด้วยนัยยะที่สำคัญยิ่ง นอกจากนี้ กลุ่มมิตรประเทศของไต้หวันยังได้ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างกระตือรือร้น ผ่านการร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในเวทีนานาชาติที่สำคัญ อย่างสหประชาชาติ (UN) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคนไม่ควรถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบขององค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ไต้หวันยังมุ่งมั่นในการประสานความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศทั่วโลก ตาม “รูปแบบไต้หวัน” ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านการเกษตร การแพทย์ การศึกษาและการฝึกอบรมทางวิชาชีพ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับประเทศพันธมิตรต่อไป
 
TaiwanPlus เป็นแพลตฟอร์มสื่อนานาชาติภาคภาษาอังกฤษ แพลตฟอร์มแรกที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดตั้งขึ้น โดยมอบหมายให้สำนักข่าว CNA เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล โดยได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว เพื่อเป็นสื่อในการเปล่งเสียงของไต้หวันให้ดังกึกก้องสู่ประชาคมโลก