New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 15 เม.ย. 65
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา นายจางจื่อจิ้ง รัฐมนตรีว่าการทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สภาบริหารไต้หวัน ได้นำคณะตัวแทนไต้หวันเข้าร่วม “การประชุมใหญ่ว่าด้วยมหาสมุทรของเรา (Our Ocean Conference, OOC) ครั้งที่ 7” พร้อมร่วมแสดงปาฐกถา โดยมีนายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางหลีเชี่ยนอี๋ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประจำสาธารณรัฐปาเลา นางหวงเซี่ยงเหวิน อธิบดีทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล (Ocean Affairs Council, OAC) และ Mr. Surangel S. Whipps, Jr. ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปาเลา รวมถึง Ms. Amatlain Kabua เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ประจำสหประชาชาติ (UN) ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและการพัฒนาอุตสาหกรรมการประมงอย่างยั่งยืน เป็นต้น
โดยปธน. Whipps และ Ms. Kabua ต่างก็เห็นว่า ไต้หวันมีเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเสบียงอาหารที่ก้าวหน้า อีกทั้งยังเปี่ยมด้วยความรู้ในเรื่องชั้นบรรยากาศเป็นอย่างดี ทำให้สามารถสร้างความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรและกลุ่มประเทศพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกได้ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันรับมือกับปัญหาในประเด็นต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านเสบียงอาหาร การพัฒนาอุตสาหกรรมการประมงอย่างยั่งยืน และภัยคุกคามจากการที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งรมช.เถียนฯ ก็ได้ให้คำมั่นว่า ไต้หวันจะนำเอาประสบการณ์และศักยภาพทางเทคโนโลยี มาใช้ในการสร้างประโยชน์ร่วมกันกับทั่วโลก ตลอดจนยึดมั่นในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อร่วมจับมือกับนานาประเทศในการพัฒนากิจการทางทะเลให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
รมว.จางฯ ได้ร่วมแสดงปาฐกถาในการประชุม “การรับมือแก้ไขปัญหามลพิษทางทะเล” (Tackling Marine Pollution) โดยได้กล่าวถึงการที่รัฐบาลของไต้หวันมุ่งมั่นในการส่งเสริมนโยบายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เชื่อมโยงกับนานาชาติ เพื่อร่วมแบ่งเบาภาระหน้าที่ในการปกป้องความเป็นอยู่ของโลก โดยไต้หวันได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยอัตราการรีไซเคิลขยะที่สูงกว่า 60% และอัตราการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET ที่สูงกว่า 90% นอกจากนี้ รมว.จางฯ ยังได้กล่าวถึง “นโยบายว่าด้วยการให้ความเคารพต่อมหาสมุทร” ที่รัฐบาลไต้หวันได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล การควบคุมและจัดการอวนจับปลาที่ถูกละทิ้งในแหล่งประมงต้นทาง การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลในแม่น้ำ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดแสดงผลสัมฤทธิ์ของบริษัทผลิตเส้ยใยสังเคราะห์ซินกวง (Shinkong Synthetic Fibers Corporation) ที่ได้จากการประยุกต์ใช้ขยะทางทะเลมาผลิตเป็นเสื้อฮาวาย เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ของการประชุม OOC ด้วย โดยผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากนโยบายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไต้หวัน ได้รับเสียงชื่นชมและการยอมรับจากตัวแทนนานาประเทศและกลุ่มเจ้าหน้าที่องค์การนอกภาครัฐ NGO ที่มาเข้าร่วมการประชุมอย่างถ้วนหน้า
นอกจากนี้ นายไช่ชิงเปียว รองประธานคณะกรรมการกิจการทางทะเล ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในการประชุม “การบรรลุความมั่นคงทางทะเล” ของการประชุม OOC ครั้งนี้ โดยนายไช่ฯ ในฐานะตัวแทนของไต้หวันได้แสดงคำมั่นว่า ไต้หวันจะเร่งดำเนินภารกิจตาม “โครงการจัดตั้งและพัฒนากลไกความมั่นคงปลอดภัยในการเดินเรือแบบอัจฉริยะ” เพื่อสร้างหลักประกันให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในการเดินเรือในท้องทะเล นอกจากนี้ ไต้หวันยังจะเร่งเสริมสร้างศักยภาพในการกู้ภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่นานาชาติ พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้ายาเสพติด รวมถึงขานรับนโยบายการป้องกันอาชญากรรมข้ามพรมแดน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไต้หวันให้การสนับสนุนต่อแนวคิดการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางทะเลของ OOC อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ในการประชุมรอบนอก นายถงชุนฟา ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยตงหัว (NDHU) ก็ได้ร่วมแบ่งปันความรู้และทักษะการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมของชนพื้นเมืองไต้หวัน และการเรียนรู้แนวคิดการอาศัยอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในท้องทะเล ในหัวข้อ “แนวทางการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานแห่งธรรมชาติตามแนวคิดของชาวออสโตรนีเซียน” ด้วย