New Southbound Policy Portal
กระทรวงยุติธรรม วันที่ 20 เม.ย. 65
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption, UNCAC) จัดตั้งขึ้นเพื่อชี้แนะแนวทางการกำหนดนโยบายและกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตให้กับรัฐบาลทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกร่วมต่อต้านการทุจริตให้หมดไป ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ประเทศภาคีสมาชิกต่างได้ทยอยบรรลุข้อตกลงในอนุสัญญา ด้วยการบังคับใช้กลไกการพิจารณาทบทวนสถานการณ์การดำเนินการตามอนุสัญญา ซึ่งจนถึงเดือนมี.ค. 2022 มีเพียง 19 ประเทศจากทั้งหมด 189 ประเทศภาคีสมาชิกที่ประกาศรายงานแห่งชาติว่าด้วยการประเมินติดตามสถานการณ์การดำเนินการตามอนุสัญญา ครั้งที่ 1 แม้ว่าไต้หวันจะไม่ใช่หนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกของ UNCAC แต่เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับนานาชาติ พร้อมแสดงให้เห็นถึงคำมั่นด้านความสุจริตและโปร่งใสของรัฐบาล ในปี 2018 ไต้หวันจึงได้ตรวจสอบและดำเนินการตามอนุสัญญา พร้อมทั้งประกาศ “รายงานแห่งชาติฉบับที่ 1 ต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต” พร้อมทั้งดำเนินการตรวจสอบในระดับนานาชาติ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นครั้งแรกในโลกก็ว่าได้ และหลังจากผ่านไป 4 ปีที่ไต้หวันได้ดำเนินการด้วยตนเองตามอนุสัญญา ในปี 2022 ไต้หวันสามารถประกาศ “รายงานแห่งชาติฉบับที่ 2 ต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต” เป็นแห่งแรกของโลกแล้ว โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศเนื้อความในรายงานแห่งชาติฉบับดังกล่าวไลงบน “แพลตฟอร์ม UNCAC” ในเว็บไซต์ของสำนักงานต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น
สาระสำคัญของ UNCAC ครอบคลุมถึงมาตรการป้องกันพฤติกรรมการทุจริต การกำหนดบทลงโทษและการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ และการเรียกคืนทรัพย์สินผิดกฎหมาย โดยไต้หวันได้บรรลุกฎบัตรตามที่กำหนดไว้ใน UNCAC อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบรายงานแห่งชาติฉบับแรกขึ้น โดยรัฐบาลไต้หวันได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการทุจริตระดับนานาชาติ รวม 5 คน เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมที่ไต้หวัน และหลังเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว กลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติได้ยื่นเสนอข้อสรุปว่าด้วย “การปฏิรูปการต่อต้านการทุจริตของไต้หวัน” รวม 47 ประการ ซึ่งนอกจากจะให้การยอมรับต่อความมุ่งมั่นของไต้หวันในการดำเนินภารกิจต่อต้านการทุจริตที่บังเกิดผลสัมฤทธิ์แล้ว ยังได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายในการต่อต้านการทุจริตของไต้หวันในอนาคต เพื่อเป็นหลักอ้างอิงที่สำคัญในการกำหนดนโยบาย กฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตให้กับรัฐบาลไต้หวันต่อไป โดยในปี 2020 รัฐบาลไต้หวันยังได้ประกาศ “รายงานระหว่างดำเนินการตามข้อสรุปที่ได้จากการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบรายงานแห่งชาติฉบับแรก” เพื่อชี้แจงความคืบหน้าและผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการผลักดันตามข้อสรุปในการประชุมระดับนานาชาติครั้งก่อนหน้า
ในปี 2021 รัฐบาลไต้หวันทำการตรวจสอบการดำเนินการตามอนุสัญญา UNCAC อีกครั้ง โดยตรวจสอบการดำเนินการตามบทบัญญติทุกข้อทุกประเด็นที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ ทั้งในด้านระบบกฎหมาย และกลไกการดำเนินการ ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามร่วมกันของเหล่าผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐภายในประเทศ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 แต่ก็ยังสามารถจัดการประชุมเพื่อตรวจสอบการดำเนินตามอนุสัญญาขึ้นรวม 8 คร้ง ก่อนจะประสบความสำเร็จในการจัดทำ “รายงานแห่งชาติฉบับที่ 2 ต่ออนุสัญญา UNCAC” โดยได้มีการนำเสนอให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการดำเนินการตามข้อสรุปทั้ง 47 ประการที่ได้จากการประชุมเพื่อตรวจสอบรายงานฉบับแรก ตลอดจนพิจารณาติดตามสถานการณ์การดำเนินการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในปี 2018
ในด้านประสิทธิภาพในการดำเนินการ รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์ที่เป็นสาระสำคัญรวม 10 ประการ ประกอบด้วย การประเมินผลร่วมกันในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การประเมินผลในการบริหารธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย ดัชนีความสุจริตและโปร่งใสทางกลาโหม ซึ่งล้วนได้ผลที่น่าพอใจ นอกจากนี้ ไต้หวันยังขานรับกับนานาประเทศในการผลักดัน “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยรัฐบาลแบบเปิด” โดยขยายกลไกความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ตลอดจนใช้ความได้เปรียบทางประชาธิปไตยและเสรีภาพของไต้หวัน ในการผลักดันให้หน่วยงานจัดตั้งแพลตฟอร์มการจัดซื้อของภาครัฐเพื่อความโปร่งใส จัดตั้งรางวัลองค์กรโปร่งใส รณรงค์ให้ความรู้ในเชิงลึกเพื่อการบริหารราชการที่โปร่งใส ฝึกอบรมบุคลากรเพื่อต่อต้านการทุจริต พร้อมทั้งอายัดและเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขานรับต่อกฎบัตรของ UNCAC
สำหรับการดำเนินการต่อไปในภายภาคหน้านั้น รายงานฉบับนี้ได้ยื่นเสนอแนวทาง 5 ประการ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มในการกำหนดข้อกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตระดับนานาชาติ โดยจะเร่งผลักดันการลงโทษทางอาญา พร้อมทั้งจัดตั้งมาตรการความโปร่งใสในการจัดซื้อของภาครัฐ ตลอดจนเสริมสร้างประสิทธิภาพของหน่วยงานอัยการในการสืบสวนคดีทุจริต เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม
โดยในปีนี้ไต้หวันจะเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ 5 คนเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมเพื่อตรวจสอบการดำเนินการตาม UNCAC ครั้งที่ 2 ของไต้หวัน ระหว่างวันที่ 30 ส.ค. – 2 ก.ย. ที่จะถึงนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ระบบกฎหมายและนโยบายของไต้หวันสามารถเชื่อมโยงกับนานาชาติ ยกระดับการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชน การประกาศรายงานและจัดการประชุมตรวจสอบระดับนานาชาติในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ตลอดจนให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต เพื่อร่วมป้องกันและปราบปรามการทุจริตไปพร้อมกับนานาประเทศทั่วโลก
ความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการเดินหน้าเพื่อเชื่อมโยงการต่อต้านการทุจริตร่วมกับนานาชาติ ไม่เคยหยุดชะงัก หลังจากที่ไต้หวันได้ประกาศรายงานแห่งชาติฉบับแรกไปเมื่อปี 2018 ส่งผลให้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์ด้านการคอร์รัปชัน (CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรโปร่งใสนานาชาติ (TI) ของไต้หวัน ได้เพิ่มขึ้นจาก 63 คะแนน เป็น 68 คะแนน และมีอันดับที่ดีขึ้น จากอันดับที่ 31 ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 25 ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี (นับตั้งแต่ปี 2018 - 2021) ถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลไต้หวันหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานและเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่อต้านการทุจริตระดับนานาชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้และควรค่าแก่การยอมรับนับถือจากสังคมโลกต่อไป