New Southbound Policy Portal

ออเดรย์ ถัง รมว.ประจำสภาบริหารเป็นตัวแทนไต้หวันเข้าร่วมพิธีประกาศ “ปฏิญญาว่าด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคต” ผ่านช่องทางออนไลน์

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 29 เม.ย. 65
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาตะวันออกของสหรัฐฯ ทำเนียบขาวสหรัฐฯ ได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับ “ปฏิญญาว่าด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคต” (A Declaration for the Future of the Internet) โดยมี Mr.Jake Sullivan ที่ปรึกษาทำเนียบขาวเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีจาก 5 ประเทศผู้บุกเบิก ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น อังกฤษและคณะกรรมาธิการยุโรป เข้าร่วมการประชุมในสถานที่จริง ส่วนพันธมิตรอื่นๆ ที่คิดเห็นตรงกัน ต่างเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ โดยออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ พร้อมร่วมลงนามในปฏิญญาข้างต้นร่วมกับตัวแทนเจ้าหน้าที่กว่า 50 ประเทศ โดยตัวแทนจากทุกประเทศต่างให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตดำเนินไปอย่างเปิดกว้าง เปี่ยมด้วยเสรีภาพ สอดคล้องต่อโลกาภิวัตน์  ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ อย่างมีความเชื่อถือได้และปลอดภัย
 
สหรัฐฯ ได้ร่วมผลักดันปฏิญญาฉบับนี้ร่วมกับไต้หวันและพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ภายใต้กรอบ “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย” (Summit for Democracy) ที่สหรัฐฯ จัดขึ้นเมื่อเดือนธ.ค. ปี 2021 โดยพันธมิตรที่ร่วมลงนามในปฏิญญาข้างต้น ต่างให้คำมั่นว่าจะประสานความร่วมมือในการผลักดันกลไกที่สามารถเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย กระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย คุ้มครองความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมทางอินเทอร์เน็ตที่มีเสรีภาพและสอดคล้องกับเศรษฐกิจระดับสากล
 
รัฐบาลไต้หวันยึดมั่นในหลักการที่ว่า “เครือข่ายบรอดแบนด์เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” โดยเห็นว่าสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและการแสดงความคิดเห็นไม่ถูกควบคุม เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงเร่งประสานความร่วมมือกับสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมผลักดันเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง มีเสรีภาพ เชื่อถือได้และปลอดภัย รวมไปถึงคำมั่นด้านเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ตและการต่อต้านข่าวปลอม ที่ไต้หวันได้ประกาศใน “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย” และการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในประเด็นการรู้เท่าทันสื่อและการต่อต้านข่าวปลอม ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ซึ่งต่างก็ได้ผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลกแล้ว
 
หลายปีมานี้ ไต้หวันได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประสานความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งรวมถึงการผลักดันค่านิยมด้านประชาธิปไตยในระหว่าง “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย” เพื่อต่อต้านลัทธิอำนาจนิยม การให้ความช่วยเหลือในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทั่วโลก และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสอีโบลาในภูมิภาคแอฟริกา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐฯ สนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ อันแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความตั้งใจของไต้หวันในการสร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาคมโลก โดยไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ถือเป็นความท้าทายระดับโลก ตลอดจนเร่งเสริมสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับมวลมนุษยชาติสืบไป