New Southbound Policy Portal

รมว. กต. ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว CNN โดยวิเคราะห์บทเรียนจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน การสนับสนุนไต้หวันของกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน และบทบาทของไต้หวันในการร่วมปกป้องประชาธิปไตยในสังคมโลก

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 1 พ.ค. 65
 
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Fareed Zakaria ผู้สื่อข่าวอาวุโสของสถานีโทรทัศน์ช่อง CNN International ของสหรัฐฯ โดยรมว. อู๋ฯ ได้ชี้แจงในการประเด็นต่างๆ อาทิ การวิเคราะห์บทเรียนที่ได้รับจากสงครามระหว่างยูเครน – รัสเซีย การสนับสนุนไต้หวันของกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน รวมถึงการที่ไต้หวันร่วมปกป้องประชาธิปไตยเพื่อประชาคมโลก เป็นต้น โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ ได้ถูกเผยแพร่ผ่านรายการ The Global Public Square ของช่อง CNN ในช่วงค่ำของวันที่ 1 พ.ค. ตามเวลาในกรุงไทเป โดยได้รับความสนใจและกระแสตอบรับในเชิงบวกเป็นอย่างมาก
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า สงครามระหว่างยูเครน – รัสเซีย ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 2 เดือนกว่าแล้ว การที่ยูเครนสามารถยืนหยัดต่อกรกับรัสเซียได้นั้น เป็นผลอันเนื่องมาจากการที่ประชาชนในประเทศมีความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศ และประยุกต์ใช้กำลังทหารที่ขาดความสมดุลอย่างเหมาะสม ตลอดจนผนึกกำลังกับภาคประชาชนอย่างเหนียวแน่น โดยนอกจากไต้หวันจะยึดถือไว้เป็นบทเรียนแล้ว ก็ยังจะเร่งพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารที่ขาดความสมดุลควบคู่กันไป พร้อมทั้งสร้างศักยภาพด้านการป้องกันประเทศของภาคประชาชนให้เกิดความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ไต้หวันยังจะพยายามแสวงหาความสนับสนุนจากประเทศที่แนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างเต็มที่ เมื่อพิจารณาถึงการที่ยูเครนได้รับพลังเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ประกอบกับความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการป้องกันประเทศอย่างหนักแน่น ซึ่งจีนควรได้รับบทเรียนจากสงครามในครั้งนี้ เพื่อประเมินถึงความเสียหายในการเข้ารุกรานไต้หวัน รวมถึงการตอบสนองจากประชาคมโลก
 
รมว. อู๋ฯ กล่าวว่า การแผ่ขยายอำนาจของจีนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เป็นเครื่องกระตุ้นให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยตระหนักเห็นถึงการให้ความสำคัญกับไต้หวัน หลายปีมานี้ กลุ่มประเทศในยุโรปได้ยกระดับการให้ความสำคัญต่อสินติภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา นอกจากการประชุมเจรจาระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปที่มีการระบุถึงความสำคัญของสันติภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวันอย่างต่อเนื่องแล้ว สหภาพยุโรป เยอรมนี รวมถึง 3 ประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบคาบสมุทรบอลติกและสวีเดน ต่างก็จัดคณะผู้แทนเดินทางมาเยือนไต้หวัน แสดงให้เห็นว่า นับวันกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปจะยิ่งให้ความสำคัญต่อไต้หวันเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมมาโดยตลอด
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า หลังสงครามรัสเซีย - ยูเครน ปะทุขึ้น รัฐบาลโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงรวมตัวกันเดินทางมาเยือนไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงการให้ความสนับสนุนที่ “แข็งแกร่งดุจหินผา”(rock solid) ซึ่งสหรัฐฯ มีต่อไต้หวัน พร้อมนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้ทยอยจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างหลักประกันด้านการป้องกันประเทศอย่างมีประสิทธิภาพให้ไต้หวัน อย่างไรก็ตาม การรุกรานไต้หวันของจีนถือเป็นข้อเท็จจริงที่ยังคงมีอยู่ รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า การปกป้องไต้หวันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเรา ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นย่อมได้รับการปฏิบัติตอบเช่นเดียวกัน โดยไต้หวันจะเร่งประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป
 
รมว.อู๋ฯ ยังชี้ว่า จีนใช้กลยุทธ์ในแบบไม่ชัดเจน ด้วยการส่งเครื่องบินรบรุกล้ำเข้าสู่น่านฟ้าไต้หวันกว่าพันครั้งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนเข้าแทรกแซงด้วยสงครามจิตวิทยา โดยอาศัยค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นในการแพร่กระจาย “ข่าวปลอม” เพื่อต้องการสร้างความแตกแยกให้เกิดแก่สังคมไต้หวัน และสร้างความสับสนให้ประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อบีบบังคับให้ไต้หวันยอมจำนนแต่โดยดี อย่างไรก็ตาม รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันในฐานะประเทศที่อยู่ในแนวหน้า ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจใดๆ โดยไต้หวันจะยืนหยัดเคียงข้างประชาธิปไตย พร้อมต่อต้านระบอบเผด็จการ โดยไต้หวันมีหน้าที่ในการปกป้องประชาธิปไตยเพื่อประชาคมโลก พร้อมเชื่อว่า ในท้ายที่สุดแล้วประชาธิปไตยจะต้องได้รับชัยชนะ