New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 พ.ค. 65
กระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs, MOFA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ชี้แจงต่อกรณีที่นางหลี่ลี่เฟิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health and Welfare, MOHW) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เตรียมนำ “คณะปฏิบัติการเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก” ของเยือนนครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อผลักดันแผนเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลกของไต้หวัน
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 75 ในปีนี้ มีกำหนดการจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22 – 28 พ.ค. ที่จะถึงนี้ โดยถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการจัดประชุมในสถานที่จริง หลังจากเกิดสถานการณ์โรคโควิด – 19 เป็นต้นมา ทำให้ทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ต่างเร่งแสวงหาโอกาสในการเข้าร่วมการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างเต็มกำลัง
นายเฉินสือจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไต้หวัน ได้ประกาศในงานแถลงข่าวชี้แจงสถานการณ์โรคระบาดในไต้หวัน เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า ในปีนี้ MOHW ได้มอบหมายให้นางหลี่ลี่เฟิน รมช.สาธารณสุข นำ“คณะปฏิบัติการเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก” เดินทางเยือนนครเจนีวา เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อเรียกร้องและความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการเข้าร่วมการประชุม WHA พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนกับคณะตัวแทนของนานาประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณสุขและการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด โดยกต.ไต้หวันได้ให้ความช่วยเหลือในด้านที่เกี่ยวข้องแก่คณะปฏิบัติการอย่างเต็มที่
ที่ผ่านมา ไต้หวันได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังได้อุทิศคุณประโยชน์ในการแบ่งปันประสบการณ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันอย่างกระตือรือร้น ซึ่งได้รับการยอมรับและความเห็นพ้องจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันและประชาคมโลก ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเข้าร่วมการประชุม WHA ของไต้หวันในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันได้รับพลังเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างล้นหลาม อาทิ Mr. Brian McKeon รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องต่อหน้า Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ให้ติดต่อเชิญให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ รายงานหนังสือปกครามด้านการต่างประเทศฉบับล่าสุดที่ประกาศโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ก็ได้มีการระบุอย่างชัดเจนในการให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA เนื่องจากเล็งเห็นว่า การป้องกันโรคระบาดมิควรมีการละเว้นที่ใดๆ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ ยังได้มีมติผ่านญัตติ “ร่างกฎหมายว่าด้วยการเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันในการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การ WHO ในฐานะผู้สังเกตการณ์” นอกจากนี้ หน่วยงานสภานิติบัญญัติของเดนมาร์ก ลัตเวียและสโลวัก รวมถึงรัฐสภายุโรปต่างร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวัน ผ่านการยื่นหนังสือและการผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน กต.ไต้หวันรู้สึกขอบคุณด้วยใจจริงต่อการสนับสนุนและการร่วมเป็นกระบอกเสียงของทุกประเทศ โดยกต.ไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและประเทศพันธมิตร รวมถึงกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการกระตุ้นให้องค์การ WHO ติดต่อเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ในเร็ววันต่อไป
MOFA ได้ใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ในระหว่างประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการเข้าร่วมการประชุม WHA ของประชาชนชาวไต้หวัน 23.5 ล้านคน ผ่านทางสื่อโซเชียล วิดีทัศน์การประชาสัมพันธ์ และการเสนอบทความพิเศษ รวมถึงการยื่นเสนอบทความในการประชุม WHA ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมและเสริมสร้างพลังเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลก โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา MOFA ได้เปิดตัววิดีทัศน์สั้น ภายใต้ชื่อ “มิตรสหายจากแดนไกล” (Sweetness of Friendship) เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงคุณประโยชน์ที่ไต้หวันร่วมอุทิศในโครงการความร่วมมือทางการแพทย์ในต่างประเทศตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา