New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 15 พ.ค.65
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้ง 7 ประเทศ หรือกลุ่ม G7 ในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศเยอรมนี โดยในแถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้นการประชุมได้มีการย้ำถึงความสำคัญของเสถียรภาพและสันติภาพของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมสนับสนุนให้แก้ปัญหาความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายด้วยสันติวิธี อีกทั้งยังสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเข้าร่วมการประชุมทางเทคนิคของ WHO ด้วย จึงถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่กลุ่มประเทศ G7 ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G7 ได้ประกาศแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันและสนับสนุนให้ไต้หวันมีส่วนร่วมใน WHO มาแล้ว การที่กลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศของ G7 ได้ออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนไต้หวัน ก่อนการประชุม WHA กำลังจะเริ่มขึ้นในครั้งนี้ จึงถือว่ามีนัยยะที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง กต.ไต้หวัน ขอแสดงความขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง ต่อความสนับสนุนและการยอมรับที่เหล่าสมาชิกกลุ่มประเทศ G7 มีต่อไต้หวัน
ในแถลงการณ์ร่วมชี้ว่า สมาชิกกลุ่มประเทศ G7 จะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย หากมีประเทศใดก็ตามที่กระทำการอันถือเป็นการละเมิดต่อกฎระเบียบสากลอย่างเปิดเผย พร้อมทั้งย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ความปลอดภัย และเสถียรภาพ โดยนอกจากได้มีการประณามรัสเซียอย่างรุนแรงต่อการรุกรานยูเครนแล้ว ยังได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ รวมถึงพื้นที่โดยรอบด้วย อีกทั้งยังแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งต่อการกระทำที่จะก่อให้เกิดความตึงเครียด และทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค รวมถึงกระทำการใดๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของระเบียบสากล โดยได้กล่าวถึงประเทศจีนด้วยว่า ควรปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติเกี่ยวกับหลักการในการแก้ไขข้อขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยไม่ใช้การคุกคาม ข่มขู่ หรือใช้กำลังทหาร
ทั้งนี้ นอกจากไต้หวันจะร่วมมีบทบาทในการปกป้องคุณค่าแห่งประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกแล้ว ยังพร้อมจะร่วมมือในเชิงลึกกับสมาชิกกลุ่มประเทศ G7 ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความผาสุกทางสุขภาพของทั่วโลกในยุคหลังโควิด-19 ด้วย