New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 26 พ.ค. 65
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำในวัน “Europe Day” พร้อมกล่าวขอบคุณสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก ที่ให้ความสนับสนุนไต้หวันอย่างเหนียวแน่นมาเป็นเวลายาวนาน และขอบคุณทุกฝ่ายที่ยังคงให้ความสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การอนามัยโลกและความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับภูมิภาค
ปธน.ไช่ฯ แถลงว่า ในระหว่างที่พวกเรากำลังทุ่มเทความพยายามเพื่อให้หลุดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เรายังต้องเผชิญกับความท้าทายของลัทธิอำนาจนิยมไปพร้อมกันด้วย โดยไต้หวันยินดีร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจของประชาคมโลกและป้องกันการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย ผู้นำไต้หวันยังย้ำว่า ความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) จะส่งผลให้เราสามารถก้าวไปสู่ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอย่างเป็นรูปธรรมและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ด้วยการประสานความร่วมมือกันในรูปแบบของหุ้นส่วนและพันธมิตรเพื่อสร้างอนาคตอันงดงามและรุ่งเรืองสืบไป
เนื้อหาการกล่าวปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญดังนี้
ก่อนอื่น ข้าพเจ้าขอขอบคุณประธานจางฮั่นซูแห่งหอการค้ายุโรปประจำไต้หวัน (European Chamber of Commerce TAIWAN, ECCT) ที่เชิญมาร่วมงานในวันนี้ และรู้สึกดีใจที่ได้พบกันอีกครั้ง หลังจากที่ได้พบปะและสนทนากันอย่างมีอรรถรส ใน “งานเลี้ยงอาหารค่ำบุคคลยอดเยี่ยม” เมื่อเดือนมกราคมปีนี้
ภายใต้การนำของประธานจาง ภารกิจของหอการค้ายุโรปฯ มีความก้าวหน้าและเติบโตขึ้น จำนวนสมาชิกมีมากกว่า 1,000 รายและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการขยายสายงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน
ข้าพเจ้ายังต้องขอบคุณ Mr.Filip Grzegorzewski ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรป (European Economic and Trade Office ,EETO) ประจำไต้หวัน หลังจากที่ท่านเดินทางมารับตำแหน่งในไต้หวันตั้งแต่ปีค.ศ.2019 เป็นต้นมา ได้พยายามส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับสหภาพยุโรป ให้มีความแข็งแกร่งและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จนทำให้ไต้หวันกลายเป็นพันธมิตรที่สหภาพยุโรปมิอาจขาดไปได้
ข้าพเจ้าจำได้ว่า ผอญ. Grzegorzewski เคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกับสหภาพยุโรป เรามีค่านิยมร่วมกันในด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ค่านิยมเหล่านี้เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของยีนของชาวยุโรปและก็เป็นยีนของชาวไต้หวันเช่นกัน ดังนั้นเรากับไต้หวันจึงสามารถเจรจาหารือกันในหลากหลายประเด็นที่มีนัยสำคัญได้อย่างง่ายดาย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้มีการเจรจาหารือกันอย่างมีนัยสำคัญในหลากหลายประเด็น ไต้หวันกับสหภาพยุโรปได้หารือกันอย่างกระตือรือร้นและถี่ถ้วน ในด้านการค้า เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนด้านวิชาการและเทคโนโลยี ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทาน การประชุมด้านสิทธิมนุษยชนและการประสานความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย เป็นต้น โดย EETO ได้ส่งเสริมให้จัดการประชุมที่มีความสร้างสรรค์มากมาย ถือเป็นการวางรากฐานให้แก่ความสัมพันธ์เชิงความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างไต้หวันกับสหภาพยุโรปในอนาคต ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณสหภาพยุโรปและบรรดาประเทศสมาชิก ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเหนียวแน่นมาเป็นเวลายาวนาน ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งที่สนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การอนามัยโลกและความร่วมมือด้านมั่นคงระดับภูมิภาค มา ณ ที่นี้ และที่ต้องขอเอ่ยถึงเป็นกรณีพิเศษก็คือ เมื่อปีที่แล้วไต้หวันมีความต้องการวัคซีนโควิด-19 อย่างเร่งด่วน ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการบริจาควัคซีนให้ไต้หวัน ทำให้เราสามารถนำมาใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ในช่วงแรกได้ ซึ่งไต้หวันจะขอจดจำเรื่องนี้ไว้ในใจตลอดไป
ข้าพเจ้าได้กำหนดให้ปีที่แล้วเป็นปีแห่งความสัมพันธ์เชิงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างไต้หวัน-สหภาพยุโรป ซึ่งในปีนี้ก็จะยังสานต่อและพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเช่นนี้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ข้าพเจ้าเห็นพ้องกับความคิดเห็นของผอญ. Grzegorzewski ที่ว่า นี่คือความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมด้านประชาธิปไตยที่มีร่วมกันทั้งสองฝ่าย
รัฐสภายุโรปและรัฐสภาของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้แสดงถึงความสนับสนุนที่มีต่อไต้หวันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ตลอดปีที่แล้ว คณะตัวแทนจากยุโรปได้เดินทางมาเยือนไต้หวัน ภายใต้รูปแบบการจับคู่การเดินทางระหว่างกันเพื่อภารกิจทางการทูต พร้อมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
คณะตัวแทนไต้หวันที่นำโดยนายเฉินเจิ้งฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ รวม 24 คน อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนลิทัวเนียและกรุงบรัสเซล เมืองหลวงของเบลเยี่ยม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การหารือจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ก่อให้เกิดประสิทธิผล โดยเฉพาะในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีชีวภาพ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนของ “การประชุมว่าด้วยห่วงโซ่อุปทานระหว่างอียู-ไต้หวัน” (EU-Taiwan Supply Chains Forum) และ “การประชุมว่าด้วยการลงทุนอียู” (EU Investment Forum) ที่ได้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน
จากการประชุมเหล่านี้ผู้นำภาคธุรกิจของไต้หวันกับสหภาพยุโรปมีโอกาสเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกันในเชิงลึก ส่งผลให้เรามีเป้าหมายของนโยบายที่ตรงกัน ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้แก่ความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต ข้าพเจ้าหวังว่า ไต้หวันกับสหภาพยุโรปจะร่วมมือกันจัดตั้งความร่วมมือด้านความมั่นคง และห่วงโซ่อุปทานที่มีความเข้มแข็งและยืดหยุ่น ความร่วมมือในด้านพลังงานสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้การลงทุนของไต้หวันในยุโรปเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนสะสมในไต้หวันของภาคธุรกิจยุโรปก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ยุโรปกลายเป็นกลุ่มเงินทุนต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อปีที่แล้วมูลค่าการค้าระหว่างไต้หวันกับยุโรปทะลุหลัก 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว
ในช่วงระหว่างที่ต้องธำรงไว้ซึ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เราต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับ การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและการปกป้องประชาธิปไตย
เพื่อตอบสนองโครงการ “ประตูสู่โลก” (Global Gateway) เราได้เสนอ “โครงการเสริมสร้างการเชื่อมโยงกับยุโรป” โครงการนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (NDC) ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออก โดยกองทุนนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือและการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีเลเซอร์และอื่นๆ ข้าพเจ้าขอย้ำ ณ ที่นี้ว่า ไต้หวันพร้อมที่จะร่วมมือและยินดีให้ความช่วยเหลือเพื่อร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
ในระหว่างที่พวกเรากำลังทุ่มเทความพยายามเพื่อให้หลุดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับความท้าทายของลัทธิอำนาจนิยม ไต้หวันยินดีร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจของประชาคมโลกและป้องกันการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย ซึ่งข้าพเจ้าขอย้ำว่า ความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) จะส่งผลให้เราสามารถก้าวไปสู่ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอย่างเป็นรูปธรรมและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ด้วยการประสานความร่วมมือกันในรูปแบบของหุ้นส่วนและพันธมิตรเพื่อสร้างอนาคตที่งดงามและรุ่งเรืองสืบไป