New Southbound Policy Portal

สภาบริหารแถลงว่า ไต้หวันได้เข้าร่วมการหารือในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (WTO MC 12) อย่างกระตือรือร้น พร้อมเรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับความไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส

สภาบริหาร วันที่ 13 มิ.ย. 65
 
การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นการประชุมสำคัญที่มีบทบาทในการกำหนดแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าระดับโลก โดยการประชุมครั้งที่ 12 (WTO MC 12) ที่ถูกเลื่อนออกไปในก่อนหน้านี้  ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 15 มิ.ย. ณ กรุงเจนีวา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ WTO โดยมีสาธารณรัฐคาซัคสถานเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมในครั้งนี้
 
โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้ดึงดูดองค์การนอกภาครัฐ (NGO) กว่า 200 องค์การ จาก 50 กว่าประเทศ ร่วมส่งตัวแทนเข้าร่วมและจับตาความคืบหน้าของการประชุม ประกอบด้วย สหพันธ์แรงงานอเมริกันและสภาอุตสาหกรรมองค์กร (AFL-CIO) สมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย (Confederation of Indian Industry) องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières, MSF) เป็นต้น
 
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ตลอดช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาทบทวนและแสวงหาแนวทางที่เกี่ยวข้องกับกลไกการบริหารของ WTO และการแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆ ที่ทั่วโลกมุ่งให้ความสนใจ เพื่อจัดตั้งมาตรการรับมือต่อความท้าทายในอนาคต ล้วนเป็นปัญหาที่การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกในครั้งนี้ต้องร่วมเจรจา เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน โดยประเด็นต่างๆ ที่ทั่วโลกต่างจับตาให้ความสำคัญ ประกอบด้วย แนวทางการพยุงให้เวชภัณฑ์ที่จำเป็นอย่างวัคซีน อุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด ผลิตภัณฑ์ยาและเสบียงอาหาร ยังคงตอบสนองต่ออุปสงค์อย่างเพียงพอ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังจำเป็นต้องควบคุมการไหลเวียนของภาคประชาชนและการส่งออกสินค้า เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตสาธารณสุข เป็นประเด็นที่ทุกคนล้วนจับตาให้ความสนใจเป็นพิเศษ ส่วนประเด็นที่ว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาจะได้รับอนุมัติสิทธิบัตรด้านทรัพย์สินทางปัญญาในการผลิตวัคซีนได้หรือไม่ ก็มีส่วนเกี่ยวพันกับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของมวลมนุษยชาติในประชาคมโลกโดยตรง นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าด้วยการส่งเสริมให้มีการทำการประมงอย่างยั่งยืน ป้องกันวิกฤตการประมงเกินขนาด อันจะส่งผลให้ทรัพยากรการประมงรร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
 
นายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลไต้หวันเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะร่วมเจรจาหารือกับบรรดารัฐมนตรีกว่า 160 ประเทศในประเด็นข้างต้นแล้ว ยังได้มีการระบุว่า มีบางประเทศที่สร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อประเทศสมาชิก WTO และการที่ไต้หวันให้ความเคารพตามกฎระเบียบระหว่างประเทศ สอดคล้องกับการให้ความสำคัญในสปิริตด้านระบบเศรษฐกิจแบบตลาดของกลุ่มประเทศสมาชิก WTO โดยใจความสำคัญของการแสดงความคิดเห็นของรมว.เติ้งฯ สรุปโดยสังเขปได้ดังนี้ :

- ต่อต้านการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ เรียกร้องให้ทั่วโลกให้ความเคารพต่อกฎระเบียบของ WTO ร่วมแสวงหาสิทธิประโยชน์ที่ไต้หวันพึงมี ในด้านการส่งออกสัปปะรด ชมพู่ น้อยหน่า และปลากะรัง

- ไต้หวันและกลุ่มประเทศสมาชิกต่างประกาศแถลงการณ์ร่วม เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ยูเครนที่ถูกรัสเซียรุกรานทางการทหาร พร้อมระบุว่า WTO ควรสำแดงศักยภาพในการธำรงรักษาชีวิตและการประกอบอาชีพเพื่อการดำรงชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด – 19 และสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาค รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน

- แสวงหาแนวทางการรับมือกับวิกฤตที่คล้ายคลึงอันจะเกิดในอนาคต จากสถานการณ์โรคโควิด – 19

- WTO จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงแบบพหุภาคี

- ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับโลก กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันได้ขอเข้าร่วม  “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)”  

นอกจากนี้ รมว.เติ้งฯ ยังได้ชี้แจงต่อนานาประเทศทั่วโลกว่า ไต้หวันยินดีที่จะก้าวผ่านทุกอุปสรรค ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด โดยคาดหวังว่าประชาคมโลกจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ในเวทีนานาชาติที่ไต้หวันพึงมีอย่างยุติธรรม
 
ระหว่างการกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม กลุ่มรัฐมนตรีจากนานาประเทศต่างเสนอให้  WTO ต้องก้าวทันยุคสมัย ทั้งนี้ เพื่อให้ WTO สอดรับต่อความต้องการในภาคสังคมเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งปฏิรูปองค์การในเชิงลึก ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น คาดการณ์ว่า ในช่วงระหว่างการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีจากนานาประเทศจะยังคงร่วมหารือในประเด็นนี้ในเชิงลึกต่อไป