New Southbound Policy Portal

สภาบริหารไต้หวันประกาศ รายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 ต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) พร้อมนำเสนอผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการผลักดันความเสมอภาคทางเพศ ที่สามารถครองอันดับหนึ่งในภูมิภาค รวม 3 รายการ

สภาบริหาร วันที่ 15 มิ.ย. 65
 
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานแถลงข่าวประกาศรายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 ต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) โดยรายงานฉบับนี้ได้นำเสนอให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี การยกระดับสิทธิสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ในช่วงระหว่างปี 2017 – 2020 พร้อมทั้งระบุถึงการจัดอันดับของไต้หวันที่ขึ้นครองอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตลอดช่วงปีที่ผ่านมา รวม 3 รายการ ประกอบด้วย ดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index, GII) ในปี 2019 อันดับความเสมอภาคทางเพศของไต้หวันถูกจัดให้อยู่อันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับในปี 2019 ไต้หวันยังได้มีมติเห็นชอบผ่านกฎหมายว่าด้วยการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน เป็นประเทศแรกในเอเชีย นอกจากนี้ หลังการเลือกตั้งในปี 2020 สัดส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นผู้หญิงครองจำนวนกว่าร้อยละ 40 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนมากสุดในภูมิภาคเอเชีย
 
โดยงานแถลงข่าวในครั้งนี้ มีนายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารและเลขานุการบริหารคณะกรรมการความเสมอภาคทางเพศ ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยนายหลัวฯ กล่าวปราศรัยว่า ไต้หวันได้รับความสนใจในด้านต่างๆ จากประชาคมโลก ทั้งในด้านผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาคทางเพศและความคืบหน้าด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แม้ว่าไต้หวันจะมิใช่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) แต่ก็ได้ให้ความเคารพในการดำเนินภารกิจ ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับสากลอย่างต่อเนื่อง อันจะเห็นได้จากการให้คำมั่นที่แน่วแน่ การบรรลุกฎบัตรในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) การอ้างอิงรูปแบบการจัดการประชุมนานาชาติเพื่อตรวจสอบการดำเนินการตามอนุสัญญาขึ้น การบูรณาการประสบการณ์ในท้องถิ่น และจัดตั้งกลไกการตรวจสอบการดำเนินการตามอนุสัญญาในรูปแบบไต้หวันขึ้น โดยในปัจจุบัน 6 ใน 9 ฉบับภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายภายในประเทศแล้ว โดย CEDAW ถือเป็นอนุสัญญารุ่นบุกเบิกในการบัญญัติเข้าสู่กฎหมายในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการจัดทำรายงานแห่งชาติแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ซึ่งนับว่ามีความสมบูรณ์ในกลไกการดำเนินงานแล้ว นอกจากนี้ แนวทางการพิจารณารายงานระหว่างดำเนินการตามอนุสัญญา CEDAW ยังเป็นสิ่งที่ไต้หวันคิดค้นขึ้น โดยประชาคมโลกสามารถอ้างอิงเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการบรรลุตามหลักปฏิญญาสากล ซึ่งการบรรลุข้อตกลงในอนุสัญญา CEDAW จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องในการผลักดัน
 
รมว.หลัวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2022 นี้ เป็นปีแห่งการผลักดันสิทธิมนุษยชนในไต้หวัน ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงครึ่งปีแรก ไต้หวันได้มีมติผ่านแผนปฏิบัติการด้านอุตสาหกรรมการประมงและสิทธิมนุษยชนเป็นครั้งแรก รวมถึงแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนมีการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบรายงานแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “กติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับ” เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีการจัดการประชุมนานาชาติเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้ทุพพลภาพ (CRPD) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)
 
ลวี่ซินเจี๋ย หนึ่งในคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่เห็นรัฐบาลเร่งผลักดันประเทศให้ก้าวสู่ทิศทางความหลากหลาย ความเสมอภาค และการเปิดกว้าง โดยการประสานความร่วมมือกับกลุ่มเอกชนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันความเสมอภาคทางเพศ นอกจากนี้ โครงสร้างนโยบายว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศ ยังได้เล็งเห็นถึงความยากลำบากและความต้องการของกลุ่มสตรีที่ประสบกับการเลือกปฏิบัติแบบทับซ้อน (intersectional discrimination) จึงได้ร่างมาตรการรับมือเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่ว่า “ไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง” (Leave No One Behind) ของสหประชาชาติ (UN) รวมถึงสอดคล้องกับแนวทางของอนุสัญญา CEDAW ด้วย
 
นอกจากนี้ นางอู๋ซิ่วเจิน ผู้อำนวยการสำนักงานความเสมอภาคทางเพศ ยังได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าของภารกิจตามอนุสัญญา CEDAW ที่รัฐบาลเร่งผลักดันตลอดช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย ระบบกฎหมายที่สมบูรณ์เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศทั้งรูปแบบดิจิทัลและออนไลน์ ผลักดัน 5 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ (ระหว่างปี 2018-2022) การสร้างความร่วมมือแบบข้ามกระทรวงในการผลักดันการจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็กสาธารณะ การยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจแก่สตรี ขจัดกรอบความคิดและอคติที่มีต่อเพศสถานะ ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศ ยื่นเสนอ “แนวทางการรับมือกับภาวะโครงสร้างประชากรเด็กเกิดใหม่น้อย (ในช่วงระหว่างปี 2018-2022)” จัดตั้งระบบการดูแลเด็กวัย 0 – 5 ขวบอย่างครอบคลุม รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตรต่อครอบครัวที่มีเด็กเล็ก การปกป้องดูแลสิทธิทางสุขภาพของเด็ก การกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อการให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตร กำหนดและดำเนินการตาม “คำอธิบายและการดำเนินการ ตามการตีความของสภายุติธรรม ข้อที่ 748“  ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งไต้หวันเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่บัญญัติกฎหมายว่าด้วยการสร้างหลักประกันสำหรับกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน รวมไปถึงการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ “ระเบียบแนวทางการให้ความช่วยเหลือต่ออุบัติเหตุในการคลอดบุตร” “ระเบียบการป้องกันและปราบปรามการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชน” “กฎหมายการจัดหางาน” และ “กฎหมายแพ่ง” เป็นต้น รวมถึงการยกระดับสภาพแวดล้อมในการคลอดบุตร ห้ามการค้ามนุษย์และห้ามการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชน ปรับลดอายุให้ผู้ที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์สามารถแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ้างอิงได้ที่ เว็บไซต์ https://gec.ey.gov.tw/
 
สนง.ความเสมอภาคทางเพศฯ มีกำหนดการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบรายงานแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 28 พ.ย. – 2 ธ.ค. โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีระดับนานาชาติเดินทางมาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบที่ไต้หวัน ตามหมายกำหนดการข้างต้น เพื่อให้คำชี้แนะอย่างเป็นรูปธรรมต่อการผลักดันสิทธิสตรีในไต้หวันในอนาคตต่อไป นอกจากนี้ ยังจะเชิญตัวแทนจาก 5 สภาของไต้หวัน และเปิดให้กลุ่มเอกชนเข้ามีส่วนร่วม เพื่อจัดตั้งแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ ผ่านการพิจารณาทบทวนการดำเนินงานตามอนุสัญญา CEDAW ที่เตรียมจะจัดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยในอนาคต รัฐบาลจะดำเนินการร่างแนวทางการปฏิบัตภารกิจตามคำชี้แนะและข้อสรุปความคิดเห็นที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะ พร้อมทั้งกำหนดให้มุมมองด้านความเสมอภาคทางเพศ เข้าเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อสรรค์สร้างสังคมที่เคารพในความหลากหลายและความเสมอภาคทางเพศต่อไป