New Southbound Policy Portal
สถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ITRI) วันที่ 14 มิ.ย. 65
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายเฉินเจิ้งฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายหวงจวินเย้า เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันประจำลิทัวเนีย ได้นำ Ms.Jovita Neliupšienė รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการและนวัตกรรมของสาธารณรัฐลิทัวเนีย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานการค้าและการลงทุน รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ เดินทางเข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ITRI) ของไต้หวัน โดยมีนายหลิวเหวินสวง ผู้อำนวยการสถาบัน ITRI และนายจางเผยเหริน รองผู้อำนวยการ ITRI ให้การต้อนรับด้วยตนเอง โดยเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายได้ร่วมหารือกันในประเด็นความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมเลเซอร์ โดยไต้หวันจะให้ความช่วยเหลือลิทัวเนียในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ในขณะที่ลิทัวเนียซึ่งมีอุตสาหกรรมเลเซอร์ซึ่งมีศักยภาพในระดับนานาชาติ ก็จะร่วมสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างกันด้วย
หลังจากช่วงปลายเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่ง รมช.เฉินฯ ได้นำคณะเดินทางเยือนลิทัวเนีย พร้อมจัดการประชุมเจรจาด้านเศรษฐกิจระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย หลังจากนั้นไม่นาน Ms. Neliupšienė ก็ได้นำคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวัน โดยมีกำหนดการเข้าเยี่ยมชมสถาบัน ITRI เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ประกอบกับเมื่อปีที่แล้ว ไต้หวันได้จัดตั้ง “สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในลิทัวเนีย” ขึ้น ทั้ง 2 ประเทศจึงได้มีแลกเปลี่ยนกันอย่างใกล้ชิดในด้านเศรษฐกิจและการค้าเพิ่มมากขึ้น โดยลิทัวเนียเลื่องชื่อในด้านเทคโนโลยีเลเซอร์และเทคโนโลยีชีวภาพในระดับนานาชาติเป็นอย่างมาก ส่วนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ก็ครองบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก รมช.เฉินฯ ชี้ว่า ITRI เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่สำคัญระดับประเทศ และเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรด้านการออกแบบแผงวงจรรวมในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน โดยเราจะให้ความช่วยเหลือลิทัวเนียในการวางรากฐานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ในด้านการออกแบบชิ้นส่วนอุตสาหกรรม การตรวจสอบและการผลิต บนพื้นฐานจากประสบการณ์และจุดเด่นของสถาบัน ITRI ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างกันในอนาคตต่อไป
ผอ.หลิวฯ กล่าวว่า เทคโนโลยีเลเซอร์ของลิทัวเนีย มีบทบาทสำคัญในระดับโลก โดยเฉพาะเครื่องพิโคเซคเคิน เลเซอร์ (Pico-second Laser Spectrometers) ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมอันดับ 1 ของโลก ส่วนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันก็อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก พร้อมทั้งมีเทคโนโลยีในการผลิตเวเฟอร์ที่ทันสมัยที่สุดในโลก การที่ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ให้พัฒนาขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่ง จึงเป็นความร่วมมือระหว่างกันของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีการพัฒนาไปสู่อีกระดับหนึ่งได้อย่างแน่นอน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในด้านเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างไต้หวันและลิทัวเนีย ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานความร่วมมือด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมระดับนานาชาติร่วมกัน
Ms. Neliupšienė ขอบคุณสำหรับการต้อนรับและการร่วมแลกเปลี่ยนของเจ้าหน้าที่ ITRI ในครั้งนี้ Ms. Neliupšienė กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ในการเสริมสร้างโอกาสความร่วมมือที่หลากหลายกับไต้หวันในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของลิทัวเนีย เช่น เลเซอร์ และออปโตอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะประยุกต์ใช้จุดเด่นของทั้ง 2 ฝ่าย ในการประสานความร่วมมือแบบทวิภาคี ส่วนในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ขณะนี้ลิทัวเนียยังอยู่ระหว่างการวิจัยขั้นพื้นฐาน โดยจุดประสงค์หลักของการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ นอกจากจะเข้าทำความเข้าใจกับผลสัมฤทธิ์ด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเซมิคอนดักเตอร์ของสถาบัน ITRI แล้ว ยังเป็นการปฏิบัติภารกิจตามคำชี้แนะของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์แบบข้ามหน่วยงานที่รวบรวมโดย ITRI ซึ่งได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ในลิทัวเนียเมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้มีการระบุลงในแผนปฏิบัตการ หลังเสร็จสิ้นการประชุมเจรจาด้านเศรษฐกิจระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาอีกด้วย
เทคโนโลยีเลเซอร์ของลิทัวเนีย มีความทันสมัยในระดับโลก โดยผลิตภัณฑ์เลเซอร์หลายรายการของลิทัวเนีย ต่างครองส่วนแบ่งการตลาดโลกมากถึงร้อยละ 50 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากชิ้นส่วนอะไหลแม่นยำที่สัมผัสโดยตรงต่อผู้ใช้งาน โดยก่อนหน้านี้ สถาบัน ITRI และสมาคมอุตสาหกรรมเลเซอร์ของลิทัวเนีย (LLA) ได้ร่วมจัดตั้ง“คณะทำงานเฉพาะกิจในการประสานความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเลเซอร์ระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย” เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เลเซอร์ระหว่าง 2 ประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมคิดค้นแนวทางการประยุกต์ใช้ต้นกำเนิดของ ultrafast laser โดยไต้หวันคาดหวังที่จะจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานด้านเลเซอร์ที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นในภูมิภาคเอเชียต่อไป