New Southbound Policy Portal

IMD ให้ไต้หวันได้อันดับที่ 7 ของโลกด้านความสามารถในการแข่งขันปี 2022

คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ วันที่ 15 มิ.ย. 65
 
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลกประจำปี 2022 (IMD World Competitiveness Yearbook)พบว่า ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 7 จากทั้งหมด 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ขยับขึ้น 4 อันดับจากปี 2021 ซึ่งถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ครองอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี ในเขตเศรษฐกิจที่มีประชากรในประเทศเกิน 20 ล้านคน
 
โดย 4 ปัจจัยชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านดีและด้านที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ในส่วนของ “ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐาน” ขยับขึ้น 1 อันดับมาอยู่อันดับที่ 6 และ 13 ตามลำดับ “ประสิทธิภาพของภาครัฐ” มีอันดับเทียบเท่ากับปีที่แล้ว สำหรับในส่วนของ “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” เนื่องจากเมื่อปี 2020 ไต้หวันได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ไม่รุนแรง จึงมีอันดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศยกระดับ “มาตรการป้องกันโควิดเป็นระดับ 3” ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่สถานการณ์โรคโควิด – 19 ภายในประเทศได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ไต้หวันตกลงมา 5 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 11
 
จากรายการประเมินต่างๆ ทั้งหมด 20 รายการ “เศรษฐกิจในประเทศ” และ  “การบริหารจัดการ” ต่างถูกจัดให้อยู่ใน 5 อันดับแรกทั่วโลก ซึ่งไต้หวันมีหลายปัจจัยย่อยที่ขึ้นครอง 3 อันดับแรกของโลก โดยในจำนวนนี้ “มูลค่าการใช้จ่ายของประชากรในประเทศผ่านบัตรเครดิต” “สัดส่วนผู้ใช้เครือข่าย 4G และ 5G ในตลาด” และ “บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 1000 คน” ต่างก็เป็นปัจจัยที่ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของโลก
 
1. “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” จากอันดับ 6 ในปีที่แล้ว ตกมาอยู่ที่อันดับ 11

(1) การที่เศรษฐกิจในประเทศมีอันดับที่ลดลง เป็นผลมาจากปีที่ใช้เป็นฐานการคำนวณ เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการจัดอันดับ ล้วนประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020 แต่ในปีเดียวกันนั้น เศรษฐกิจไต้หวันกลับสามารถขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์โควิด – 19 อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 สถานการณ์โรคโควิด – 19 ในประเทศทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ทำให้ “เศรษฐกิจในประเทศ” ตกลง 1 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 4 ในส่วนของ “การว่าจ้าง” มีอันดับลดลง 11 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 28 แต่ทั้งนี้ การจัดอันดับดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ ไต้หวันกลับถูกจัดให้อยู่อันดับ 2 ประกอบกับความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ที่ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 6
 
ระยะนี้ ทั่วโลกต่างเข้าสู่กลไกการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาของวัตถุดิบและราคาน้ำมัน ต้องผันแปรไปตามราคาในตลาดโลก จึงทำให้การกำหนด “ราคา” สินค้าในประเทศ มีอันดับลดลง 5 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 17 แต่อัตราเงินเฟ้อหรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยังคงอันดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
 
(2) การค้าระหว่างประเทศมีส่วนเกี่ยวพันกับมาตรการควบคุมพรมแดน โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ ในด้าน “การค้าระหว่างประเทศ” จึงมีอันดับลดลง จากอันดับที่ 18 มาอยู่อันดับที่ 33 แต่สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ยังคงครอบอันดับ 3 ของโลก นอกจากนี้ “การลงทุนระหว่างประเทศ” ก็ลดลงมาอยู่อันดับที่ 29 ด้วย
 
2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ ยังคงรักษามาตรฐานเดิมไว้ได้ที่อันดับ 8 ของโลก

(1) “นโยบายภาษี” “โครงสร้างระบบ” และ “กฎหมายด้านการค้า” ต่างขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 6 , 8 และ 21 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการจัดตั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
 
(2) “สถานการณ์การคลัง” และ “โครงสร้างทางสังคม” ต่างลดลงมาอยู่อันดับที่ 10 และ 15 ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการฟื้นฟูและเยียวยาทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราส่วนของเงินคงคลังต่อ GDP มีอันดับลดลง นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ก็ถดถอยลงเช่นเดียวกัน มีเพียงด้านสัดส่วนการใช้งบประมาณของรัฐบาลต่อ GDP ที่ยังคงถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 2 ของโลก โดยที่ดัชนีวัดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น (อยู่อันดับที่ 7) 

3. ประสิทธิภาพของภาคธรุกิจ ขยับขึ้นจากอันดับ 7 มาอยู่อันดับที่ 6 ในปีนี้

(1) ปัจจัยด้าน “กำลังการผลิตและประสิทธิภาพในการผลิต” และ “การเงิน” มีอันดับที่เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่อันดับ 8 ของโลก แต่ “การบริหารจัดการ” ยังคงอยู่ในอันดับเดิม

(2) “ตลาดแรงงาน” และ “ทัศนคติและค่านิยมของพฤติกรรม” ต่างลดลง 1 และ 4 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 17 และ 9 ตามลำดับ โดยผู้บริหารในภาคธุรกิจต่างเห็นว่า สาเหตุหลักมาจากการที่บุคลากรในประเทศ อพยพย้ายถิ่นฐานไปทำงานในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ในขณะที่ดัชนีการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลของกลุ่มผู้ประกอบการ ก็มีอันดับที่ถดถอยลง มีเพียงระบบคุณค่าทางสังคมของไต้หวัน ที่มีส่วนช่วยยกระดับศักยภาพทางการแข่งขัน ถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 3 ของโลก
 
4. โครงสร้างพื้นฐาน ขยับขึ้นจากอันดับที่ 14 มาอยู่อันดับที่ 13 ในปีนี้

(1) “โครงสร้างพื้นฐาน” และ “โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี” ต่างมีอันดับที่พัฒนาขึ้นจากปีที่แล้ว ส่วน “โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์” และ “การศึกษา” ยังคงรักษาอันดับเดิม 

(2) “การแพทย์และสภาพแวดล้อม” ลดลง 2 อันดับมาอยู่อันดับที่ 26 อย่างไรก็ตาม ในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ ล้วนมีความสอดคล้องกับความต้องการทางสังคม โดยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับ 8 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 4 ในปีนี้ 

การที่ไต้หวันยังคงรักษาอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลกไว้ได้อย่างมีเสถียรภาพ ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด – 19 แสดงให้เห็นว่า ศักยภาพทางการแข่งขันในภาพรวมของไต้หวัน ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ซึ่งนี่เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความมุ่งมั่นร่วมกันของภาคประชาชน โดยในอนาคต รัฐบาลจะอ้างอิงจากรายการที่ได้รับอันดับที่น่าพึงพอใจและในส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในการขยายธุรกิจไปสู่ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ประกอบการชาวไต้หวันกลับเข้ามาลงทุนในประเทศ รวมถึงมุ่งมั่นผลักดันภารกิจในการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรม เช่น โครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต ยุทธศาสตร์ 6 อุตสาหกรรมหลัก และแผนปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 ควบคู่ไปกับการผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันโดยภาพรวมของไต้หวันต่อไป