New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ Tempo Media Group ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ชี้แจงแนวทางการรับมือกับภัยคุกคามจากจีนของไต้หวัน และการพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคระหว่างไต้หวัน – อินโดนีเซีย

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 26 มิ.ย. 65
 
เมื่อไม่นานมานี้ นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ M. Reza Maulana หัวหน้าบรรณาธิการ และ Efri Ucok Ritonga เจ้าหน้าที่บรรณาธิการระดับอาวุโสด้านข่าวเศรษฐกิจของ Tempo Media Group ซึ่งเป็นสื่อยักษ์ใหญ่ระดับแนวหน้าของอินโดนีเซีย โดยได้ชี้แจงประเด็นว่าด้วยแนวทางการรับมือต่อภัยคุกคามจากจีนของไต้หวัน การพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์สำนักข่าว Koran Tempo ของอินโดนีเซียไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยได้รับกระแสตอบรับและความสนใจอย่างกว้างขวาง
 
รมว.อู๋ฯ แถลงว่า รัฐบาลจีนไม่เคยหยุดพฤติกรรมกดดันไต้หวันเลย โดยหลายปีมานี้ รัฐบาลจีนได้ส่งเครื่องบินทหารและเรือรบเข้าก่อกวนไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนลิดรอนสิทธิ์ในพื้นที่เวทีนานาชาติของไต้หวัน นอกจากนี้ ในระยะที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของจีนยังได้ประกาศว่า “สองฝั่งช่องแคบไต้หวันมิใช่น่านน้ำสากล” ซึ่งคำพูดเช่นนี้เป็นการสร้างความท้าทายและเป็นการข่มขู่ ตลอดจนเป็นการสร้างความตึงเครียดให้เกิดแก่ภูมิภาค
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า รัฐบาลจีนดำเนินการทูตแบบนักรบหมาป่า (Wolf Warrior diplomacy) ด้วยการแผ่ขยายอำนาจไปยังทั่วทุกพื้นที่ในโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ซึ่งจะเห็นได้จากการจัดตั้งฐานทัพเรือเรียม (Ream Naval Base) ในเมืองสีหนุวิลล์ของกัมพูชา และความตกลงว่าด้วยความมั่นคงที่จีนร่วมลงนามกับหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งล้วนแต่เป็นการกระตุ้นความสนใจจากประชาคมโลกให้ร่วมจับตามองอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพื่อธำรงรักษาพื้นที่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพและการเปิดกว้าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปอย่างเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศสและอังกฤษ ต่างได้ทยอยเสนอแผนยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกตามรูปแบบที่เกิดจากมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังได้จัดส่งเรือรบแล่นผ่านพื้นที่ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกเพื่อปฏิบัติภารกิจ “รักษาเสรีภาพในการเดินเรือ” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเป็นอย่างมาก
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า รัฐบาลจีนไม่เคยเข้าปกครองไต้หวันเลยแม้แต่วันเดียว ไต้หวันมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน มีธนบัตรและสกุลเงินเป็นของตนเอง การคงไว้ซึ่งสถานภาพในปัจจุบันเป็นนโยบายที่ไต้หวันยึดมั่นเสมอมา โดยไต้หวันตระหนักดีว่า การยอมโอนอ่อนจะยิ่งเป็นการนำภัยมาสู่ตนเอง เพื่อรับมือกับการข่มขู่ด้วยกำลังทหารของจีน ไต้หวันได้เร่งยกระดับศักยภาพด้านกลาโหม ควบคู่ไปกับการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารที่ขาดความสมดุล ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันประเทศด้วยการผนึกกำลังของภาคประชาชน ในขณะเดียวกัน ไต้หวันก็ได้แสวงหาพลังสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งพลังเสียงสนับสนุนที่ได้จากประชาคมโลก นับวันก็ยิ่งทวีความหนักแน่นและเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
 
รมว.อู๋ฯ ชี้แจงว่า หลายปีมานี้ หลายประเทศต่างแสดงจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน บนเวทีนานาชาติอย่างคึกคัก ดังกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน “การประชุมเจรจาแชงกรีลา” (Shangri-La Dialogue) ที่จัดขึ้นในสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันของประชาคมโลก นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้มุ่งมั่นในการอุทิศคุณประโยชน์ให้ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าไต้หวันเป็นพลังแห่งความดีของโลก ที่สำคัญที่สุดคือการที่ประชาชนชาวไต้หวันล้วนมีความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างสุดกำลัง เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งการคงอยู่ อำนาจอธิปไตย และวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและเสรีภาพ ให้คงอยู่สืบต่อไป
 
ต่อกรณีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – อินโดนีเซีย รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อินโดนีเซียยึดมั่นในนโยบายการต่างประเทศที่ช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง พร้อมมุ่งมั่นในการธำรงรักษาความเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน โดยไต้หวันเคารพต่อนโยบายการต่างประเทศของอินโดนีเซีย จึงคาดหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกในด้านต่างๆ ร่วมกัน อาทิ การค้าและการลงทุน การให้บริการทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น โดยเฉพาะในปี 2016 ที่รัฐบาลไต้หวันได้เร่งผลักดัน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - อินโดนีเซียในทุกมิติ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันยังได้เร่งผลักดันการขออนุมัติเครื่องหมายรับรองฮาลาล โดยในปัจจุบัน แหล่งท่องเที่ยวและศูนย์กลางคมนาคมขนส่งที่สำคัญๆ ทั่วทุกพื้นที่ของไต้หวัน ได้มีการจัดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม จึงขอเชิญชวนให้มิตรสหายชาวอินโดนีเซียเดินทางมาเยือนไต้หวันเพื่อทำความเข้าใจต่อไต้หวันในเชิงลึกยิ่งขึ้น โดยกลุ่มแรงงานต่างชาติและนักศึกษาต่างชาติของอินโดฯ จำนวนมากที่พำนักอาศัยในไต้หวัน ได้กลายเป็นสะพานเชื่อมโยงมิตรภาพที่สำคัญของภาคประชาชนระหว่างสองประเทศ โดยไต้หวันจะเร่งผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับอินโดนีเซีย ให้เป็นไปในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น
 
Tempo Media Group ก่อตั้งขึ้นในปี 2001 เป็นสื่อแนวหน้าระดับประเทศของอินโดนีเซีย ที่ประชาชนในประเทศรู้จักและคุ้นเคยดี โดยนับตั้งแต่ปี 2021เป็นต้นมา “หนังสือพิมพ์รายวัน Koran Tempo” ได้เปลี่ยนการนำเสนอเนื้อหามาเป็นรูปแบบดิจิทัล ซึ่งได้รับความนิยมจากบุคคลในแวดวงวิชาการ การเมือง และการพาณิชย์เป็นอย่างมาก