New Southbound Policy Portal
อะบิว ผลไม้ที่มีแหล่งกำเนิดจากลุ่มน้ำอเมซอนหรือแอมะซอน (Amazon River) ถูกนำเข้ามาปลูกในไต้หวันราวปี ค.ศ. 1980 หลังผ่านการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ให้ดีกว่าพันธุ์เดิม ทำให้ผลอะบิวที่ปลูกในไต้หวันมีรูปร่างที่กลมสวย เนื้อหวานอร่อย ในขณะที่ผลไม้เขตร้อนชนิดอื่น ๆ เช่น แอปเปิลและละมุดที่ถูกนำเข้ามาปลูกตั้งแต่ในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวัน กลับเป็นผลไม้ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักและมีการปลูกอยู่เพียงประปรายในแถบภาคกลางและภาคใต้ กระทั่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นจากการบอกต่อของเหล่าผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น
เช้าวันหนึ่งในฤดูหนาว เราเดินทางมาถึงสวนออร์แกนิกฟงเหอในแถบเกาซู่ของเมืองผิงตง สวนผลไม้แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 12 ไร่ รายล้อมไปด้วยต้นอะบิวยืนตระหง่านเรียงรายอย่างเป็นระเบียบรอบบริเวณสวน จนมีพื้นที่เหลือเฟือสำหรับให้กิ่งก้านสาขาของต้นอะบิวเจริญงอกงามได้อย่างเต็มที่
รสชาติอันหอมหวานจากลุ่มน้ำอเมซอน
“หลังจากนำมาผ่าครึ่ง ก็สามารถใช้ช้อนตักทานได้เลย วิธีนี้นับเป็นวิธีการรับประทานที่ผมชอบที่สุด” คุณจวงถิงซี (莊庭溪) เจ้าของสวนออร์แกนิกฟงเหอกล่าว ส่วนวิธีการรับประทานอีกวิธีหนึ่งจะคล้ายกับการรับประทานส้มเช้ง คือหั่นเป็นชิ้น แล้วบิเนื้อออกมารับประทาน แต่วิธีที่ว่านี้จะทำให้น้ำยางที่อยู่บนเปลือกเหนียวติดมือ เนื้อสีขาวของผลอะบิวที่ถูกหั่นครึ่ง ให้รสสัมผัสที่นุ่มลิ้นและมีรสชาติคล้ายกับเยลลี่ หากนำไปแช่เย็นก่อนแล้วค่อยนำออกมารับประทาน จะอร่อยมากขึ้น เหมือนรับประทานของหวาน ซึ่งไม่เหมือนกับผลไม้อื่น ๆ ที่เคยรับประทานมาก่อน
ความหวานของผลอะบิวจะไม่มีรสเปรี้ยวแฝงอยู่ แต่การหาคำมาบรรยายถึงรสชาติของมัน เชื่อว่าแต่ละคนจะมีคำตอบที่ไม่เหมือนกัน จวงถิงซีเห็นว่า บางคนรู้สึกว่าผลอะบิวมีความหอมที่คล้ายคลึงกับผลน้อยหน่า แต่บางคนบอกว่าเหมือนกับลิ้นจี่หรือลำไย โดยยังมีคนเห็นว่า มีกลิ่นหอมของน้ำผึ้งผสมอยู่ด้วย
ผลอะบิวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าดงดิบแถบลุ่มน้ำอเมซอน ถูกนำเข้าจากสิงคโปร์มาปลูกในไต้หวันเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1987 โดยสถานีทดลองพันธุ์พืชเขตร้อนสาขาฟ่งซานของสถาบันวิจัยเกษตรกรรมไต้หวัน หลังจากทดลองปลูกแล้วพบว่า พื้นที่ทางภาคใต้ของไต้หวันซึ่งมีความชื้นและอุณหภูมิสูง มีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเจริญเติบโตของต้น อะบิว คุณเหยียนชังรุ่ย (顏昌瑞) ผู้อำนวยการศูนย์เกษตรอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีผิงตง (NPUST) เห็นว่า ผลอะบิวรุ่นแรกที่ปลูกในไต้หวัน มีเปลือกที่สวยงามและหวานมาก แต่ขนาดของผลค่อนข้างเล็กมีน้ำหนักผลเพียง 200 กรัมเท่านั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี จึงจะสามารถเก็บผลผลิตได้ และไม่สามารถติดผลในช่วงฤดูหนาว
ในช่วงปี ค.ศ. 1990 เหยียนชังรุ่ยเริ่มนำเมล็ดอะบิวจากฟิลิปปินส์เข้ามาปลูก ต้นอะบิวสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากฟิลิปปินส์ชุดนี้ แม้ผลจะดูไม่สวยงามเหมือนพันธุ์จากสิงคโปร์ แต่มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 600-900 กรัมต่อลูก และยังเริ่มเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูกเพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดเด่นที่เหนือกว่าพันธุ์จากสิงคโปร์ จนทำให้เหยียนชังรุ่ยอยากที่จะทดลองปลูก จากนั้นจึงนำเข้าพันธุ์จากฮาวายมาทดลองอีก พร้อมทั้งทำการศึกษาค้นคว้าการขยายพันธุ์ต้นอะบิวอย่างจริงจัง เหยียนชังรุ่ยเล่าให้เราฟังพร้อมเสียงหัวเราะว่า “ในตอนแรกได้รับเมล็ดพันธุ์จากฟิลิปปินส์มาปลูก 30 เมล็ด จนถึงทุกวันนี้ยังเหลืออยู่อีก 20 กว่าต้น ที่ยังเจริญงอกงามอยู่ใน NPUST แถมยังออกดอกติดผลเป็นประจำทุกปีด้วย”
ดินอันอุดมสมบูรณ์และเทคนิคการปลูกที่ดีของไต้หวัน ทำให้ผลไม้เขตร้อนหลายชนิดมาลงหลักปักฐานที่นี่ ถือเป็นการเปิดประตูให้คนไต้หวันได้สัมผัสผลไม้ที่มีรสชาติหลากหลายเกินกว่าจินตนาการ
อะบิวเป็นผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ มีรูปลักษณ์สวยงามเป็นที่พึงพอใจของผู้พบเห็น และยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศทางภาคกลางและใต้ของไต้หวันได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับมะม่วง ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี ตั้งแต่การเพาะเมล็ดจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ในขณะที่การปลูกส้มที่ต้องใช้เวลา 4-5 ปี หรือลูกพีชก็ต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ส่วนต้นอะบิวซึ่งปลูกที่ผิงตง สามารถออกดอกได้โดยใช้เวลาเร็วที่สุดเพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้น และหากมีเทคนิคในการต่อกิ่งหรือการทาบกิ่งที่ดี จะสามารถลดระยะเวลาลงได้อีก ประกอบกับแมลงศัตรูพืชก็มีไม่มาก เพียงห่อผลและใส่ปุ๋ยอย่างเหมาะสมก็เพียงพอแล้ว ถือเป็นผลไม้ที่ดูแลไม่ยากชนิดหนึ่ง
แม้เดิมทีต้นอะบิวที่ปลูกในไต้หวันจะนำเข้าพันธุ์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่คุณหลิวปี้เจวียน (劉碧鵑) ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถานีทดลองพันธุ์พืชฟ่งซานเห็นว่า ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีการเพาะปลูกต้นอะบิว เช่น ที่ออสเตรเลียก็มีการศึกษาและทดลองปลูก แต่ก็ไม่ได้ปลูกเป็นจำนวนมาก ไต้หวันมีเนื้อที่เพาะปลูกต้นอะบิวรวมประมาณ 1,875 ไร่ จึงเชื่อว่า นอกจากในถิ่นกำเนิดเดิมแล้ว ที่นี่น่าจะเป็นแหล่งที่มีการเพาะปลูกต้นอะบิวในเชิงพาณิชย์เพียงแห่งเดียวของโลก
ผลไม้ที่กลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่
จวงถิงซี หัวเราะตัวเองพร้อมเล่าว่า วันแรกที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรก็เริ่มปลูกต้นอะบิวทันที เดิมเขาเคยถูกบริษัทส่งไปทำงานในโรงงานด้านเทคโนโลยีที่ประเทศจีน แต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาตัดสินใจกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในไต้หวันเพราะต้องการกลับมาดูแลพ่อแม่ที่มีอายุมากแล้ว จวงถิงซีจึงตัดสินใจใช้ชีวิตหลังอายุ 40 กว่าปีด้วยการเป็นเกษตรกร และเขาก็รู้ตัวดีว่า เกษตรกรมือใหม่คงไม่สามารถสู้กับเกษตรกรรุ่นเก่า จึงตัดสินใจเริ่มต้นด้วยผลไม้ชนิดใหม่
จวงถิงซีเห็นว่า ผลอะบิวบอบบางและไม่สามารถเก็บได้นาน หากกระทบกับอะไรเข้า ก็จะเป็นรอยช้ำที่เปลือก ซึ่งจะทำให้ขายยาก จึงไม่เหมาะจะวางขายในตลาดสด จวงถิงซีจึงเริ่มทำการตลาดจากการทำผลไม้ใส่กล่องของขวัญ ซึ่งหลังจากปลูกอะบิวมา 13 ปี ปัจจุบันนี้เขามีฐานลูกค้าอยู่ในมือเป็นจำนวนไม่น้อย
แม้ผลอะบิวจะถูกนำเข้ามาปลูกในไต้หวันในระยะเวลาเพียง 30 ปี แต่ด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ของเกษตรกรและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ทำให้สามารถคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดออกมาได้ดังเช่นในปัจจุบันนี้
จวงถิงซียึดมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์ ผืนแผ่นดินจึงตอบแทนด้วยผลไม้ รสหอมหวาน
นอกจากผลอะบิวแล้ว แอปเปิลสตาร์หรือลูกน้ำนมซึ่งเป็นไม้ผลในวงศ์พิกุล (Sapotaceae family) กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้เช่นกัน โดยพันธุ์ที่ปลูกในไต้หวันคือพันธุ์เปลือกชมพูที่ได้มาจากการผสมพันธุ์เปลือกสีม่วงดำเข้ากับเปลือกสีเขียว ลูกน้ำนมมีชื่อในภาษาจีนว่า “ซิงผิงกั่ว (แอปเปิลสตาร์)” เพราะเมื่อนำผลสุกมาผ่าขวางแล้ว จะเห็นแนวของเมล็ดเรียงรายกันอยู่เป็นรูปดาว โดยเนื้อของลูกน้ำนมจะมีน้ำสีขาวขุ่น จึงมีชื่อเรียกในภาษาเวียดนามว่า “vú sữa” ที่หมายถึงน้ำนม และหลังจากที่มีชาวเวียดนามย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวันมากขึ้น แอปเปิลสตาร์จึงถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า หนิวหน่ายกั่ว (牛奶果) ซึ่งหมายถึงลูกน้ำนมนั่นเอง
การรับประทานลูกน้ำนมมีหลายวิธี สามารถนำผลมาผ่าครึ่งแล้วใช้ช้อนตักเนื้อออกมารับประทาน หรือสามารถรับประทานในแบบของคนเวียดนาม ด้วยการเจาะรูแล้วใช้หลอดดูด เนื้อของผลไม้ที่ถูกดูดเข้าปากช่วยเพิ่มรสสัมผัสและความรู้สึกในการรับประทานลูกน้ำนมสมชื่อจริงๆ
ทุกท่านอย่าเพิ่งคิดว่า ทั้งผลอะบิวและลูกน้ำนมเป็นผลไม้ที่เพิ่งนำเข้ามาปลูกในไต้หวันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพราะที่จริงแล้วผลไม้ทั้งสองชนิดถูกนำเข้ามาในไต้หวันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 โดยอาจารย์โอชิม่า คินทาโร่ นักวิชาการชาวญี่ปุ่น เมื่อครั้งที่ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนเกษตรและวนศาสตร์แห่งไต้หวัน (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัย National Chung Hsing University: NCHU) นอกจากนี้ ลูกม่อนไข่หรือท้อเซียนที่เราเห็นกันบ่อย ๆ บนโต๊ะเครื่องเซ่น รวมไปถึงทุเรียนและละมุด ซึ่งเป็นผลไม้เขตร้อน ต่างก็ถูกนำเข้ามาในไต้หวันตั้งแต่ช่วงที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวันเช่นกัน คุณหวังรุ่ยหมิ่น (王瑞閔) นักเขียนผู้ใช้นามปากกาว่า “ต้นไม้อ้วน” (胖胖樹) ซึ่งได้ออกหนังสือเกี่ยวกับผลไม้เมืองร้อนหลายเล่ม ได้เริ่มศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพืชเขตร้อนอย่างจริงจังตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เขาเห็นว่า ความนิยมปลูกต้นไม้เขตร้อนในไต้หวันในยุคการปกครองญี่ปุ่นนั้น เป็นเพราะไต้หวันมีสภาพภูมิอากาศที่มีความเหมาะสมมากกว่าญี่ปุ่น ไต้หวันจึงกลายเป็นฐานสำคัญในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพืชเขตร้อนของญี่ปุ่น ส่งผลให้มีการนำเข้าผลไม้เขตร้อนเข้ามาเป็นจำนวนมาก
หวังรุ่ยหมิ่นเห็นว่า แม้ยุคที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวันจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ยังคงมีการปลูกผลไม้เขตร้อนเหล่านี้อยู่ประปรายทางภาคกลางและภาคใต้ ตอนเด็กๆ ตัวเขาเองเคยมีโอกาสได้เห็นผลไม้หลายชนิดที่ตลาดดอกไม้ของไทจง แต่มีปริมาณไม่มากนัก จนมาถึงช่วงทศวรรษ 1990 ที่มีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติเดินทางเข้าสู่ไต้หวันมากขึ้น พวกเขาพบว่า ไต้หวันก็มีผลไม้แบบเดียวกับในภูมิลำเนาเดิม จึงพากันหาซื้อมารับประทานเพื่อคลายความคิดถึงบ้าน ส่งผลให้มีเกษตรกรไต้หวันจำนวนไม่น้อยหันมาเพาะปลูกผลไม้เหล่านี้มากขึ้น
หลังจากที่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่พำนักอาศัยอยู่ในไต้หวันเป็นเวลานานขึ้น ทำให้หลายคนเริ่มปลูกผักผลไม้จากบ้านเกิดในที่ดินของตัวเอง คุณฟ่านซื่อชิว (范氏秋) ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จากเวียดนามที่อาศัยอยู่ในเมืองผิงตงก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
ฟ่านซื่อชิวหัวเราะพร้อมกับเล่าให้เราฟังว่า “ตอนที่ฉันอยู่เวียดนาม เคยตัดเย็บเสื้อผ้าและเป็นครู แต่ไม่เคยปลูกผัก” หลังจากแต่งงานและย้ายมาอยู่ในไต้หวันแล้ว เห็นว่าพี่น้องชาวเวียดนามต่างก็มีความคิดถึงผลไม้จากบ้านเกิด จึงทำให้เกิดความคิดที่จะทดลองปลูกขึ้น ฟ่านซื่อชิวที่เป็นคนมองโลกในแง่ดี แม้จะเคยประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นที่พัดผ่าน และทำให้บรรดาต้นอ่อนที่เพาะไว้ปลิวกระจายจนหมดแปลง เธอก็เพียงแค่หัวเราะแล้วก็เริ่มปลูกใหม่ ภายหลังการลองผิดลองถูกมาสิบกว่าปี จึงค่อย ๆ ขยายพื้นที่ของสวนให้ใหญ่ขึ้น ในวันที่เราไปเยือน สวนของฟ่านซื่อชิวมีผลไม้เขตร้อนปลูกอยู่หลายชนิด ทั้งลูกน้ำนม เงาะ อินทผลัม ทุเรียน ขนุน และมะกอกฝรั่ง ทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับเดินเข้าไปสู่ประเทศในอาเซียน จึงไม่น่าแปลกใจที่ฟานซื่อชิวบอกว่า ทุกครั้งที่เพื่อน ๆ ชาวเวียดนามมาเที่ยวเล่นที่นี่ ต่างก็รู้สึกดีใจมาก เพราะทุกแห่งหนคือผลไม้ที่ตัวเองคุ้นเคย เกิดความรู้สึกราวกับได้กลับบ้านเลยทีเดียว
ผลไม้ชนิดใหม่นำมาซึ่งโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
คนไต้หวันส่วนใหญ่นิยมผลไม้รสหวาน แต่ผลไม้ส่วนใหญ่ที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีรสอมเปรี้ยว ซึ่งหวังรุ่ยหมิ่นเห็นว่า สภาพภูมิอากาศของอาเซียนเป็นเขตร้อน การที่มีรสเปรี้ยวจะช่วยให้เจริญอาหาร แม้ว่าผลไม้จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางชนิดจะมีรสเปรี้ยวฝาด ซึ่งคนไต้หวันไม่ชอบรับประทาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลไม้จำนวนมากที่ปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าในไต้หวัน จึงทำให้มีการพัฒนาไปสู่วัฒนธรรมการกินที่หลากหลาย
ตัวอย่างเช่น กล้วยหอม ซึ่งคนไต้หวันส่วนใหญ่จะนิยมรับประทานแบบสด ๆ แต่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะนิยมรับประทานกล้วยน้ำว้าที่สามารถนำไปปรุงแต่งต่อได้ และมีวิธีการรับประทานที่หลากหลายมาก เช่น กล้วยทอด หรือนำไปต้มและใส่สาคูเป็นขนมหวาน ทำเป็นไส้บ๊ะจ่าง หรือเอาไม้เสียบแล้วนำไปปิ้ง ซึ่งต่างก็มีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป ส่วนมะกอกฝรั่งซึ่งผลสดจะมีรสเปรี้ยวฝาด วิธีกินของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ นำไปจิ้มกับเกลือหรือเอาไปดองรวมกับพริก เมื่อลองรับประทานดูแล้ว รสชาติจะไม่เหมือนผลไม้ แต่กลับเหมือนเป็นยำมากกว่า รสเปรี้ยว ๆ เผ็ด ๆ ช่วยให้เจริญอาหารได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราสามารถไปลิ้มลองรสชาติแปลก ๆ เหล่านี้ได้ ที่ศูนย์การค้าอาเซียนสแควร์ในไทจง ย่านมะนิลาน้อยบนถนนจงซานเป่ยลู่ในไทเป และตลาด มู่จ้าในเขตเหวินซานของไทเป
หวังรุ่ยหมิ่นเห็นว่า ไต้หวันมีเทคนิคในการเพาะเลี้ยงต้นอ่อนที่ดีมาก ทำให้สามารถปลูกผลไม้ได้แทบทุกชนิด ประกอบกับในช่วงหลายปีมานี้ จำนวนวันในฤดูหนาวค่อย ๆ ลดน้อยลง ทำให้ผลไม้เมืองร้อนเหล่านี้สามารถมีชีวิตรอดได้ง่ายขึ้น การที่ไต้หวันไม่ได้อยู่ห่างจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนัก ทำให้มีการนำเอาผลไม้จากแถบนี้เข้ามาปลูก แต่ปัจจุบันคนไต้หวันก็มีการนำเอาผลไม้จากอเมริกากลางและลาตินอเมริกาเข้ามาปลูกมากขึ้น เขาเคยมีโอกาสได้ รับประทานผลไม้ที่มีอยู่ทั่วไปในอเมริกากลางและใต้ซึ่งถูกนำมาปลูกในไต้หวัน นั่นก็คือถั่วอินคา เราหวังว่าจะมีต้นไม้ใหม่ ๆ มาลงหลักปักฐานในไต้หวันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติที่หลากหลาย และช่วยทำให้ไต้หวันมีความอุดมสมบูรณ์สมกับที่ได้รับการยกย่องให้เป็นราชาแห่งผลไม้ด้วย
เพิ่มเติม
ใช้ผลไม้เชื่อมโยง สู่ทุกมุมโลก ผลไม้ต่างถิ่นที่มาลงหลักปักฐานในไต้หวัน
โซนวิดีทัศน์