New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 ก.ค. 65
“การประชุม Ketagalan-ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2022” (Ketagalan Forum: 2022 Indo-Pacific Security Dialogue)” ที่ร่วมจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และมูลนิธิ The Prospect Foundation ไต้หวัน ได้ปิดฉากลงอย่างราบรื่นเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 การประชุมในครั้งนี้จึงได้จัดขึ้นในรูปแบบไฮบริด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมทั้งเชิญแขกผู้มีเกียรติที่มีบทบาทสำคัญขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวที ตลอดจนร่วมหารือกับนักการเมือง สมาชิกรัฐสภา รวมถึงนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมุ่งเน้นการอภิปรายไปที่ประเด็นความขัดแย้งในรูปแบบสงครามเย็นระหว่างประเทศประชาธิปไตยและเผด็จการ แนวทางการรับมือต่อผลกระทบด้านความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ที่เกิดจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน สงครามการค้าระหว่างจีน - สหรัฐฯ รวมถึงประเด็นการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ว่าจะส่งผลอย่างไรต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลก
ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมกล่าวปราศรัยในพิธีเปิด ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า โดยปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า เมื่อต้องเผชิญหน้ากับลัทธิอำนาจนิยม พันธมิตรด้านประชาธิปไตยจำเป็นต้องใช้มาตรการรับมือที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประชาชนชาวไต้หวันมุ่งมั่นปกป้องประเทศชาติ พร้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตแห่งประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยไต้หวันเป็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยที่ไม่สามารถขาดได้ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ซึ่งไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลก ปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเสริมสร้างความสามัคคีกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อปกป้องค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกันต่อไป โดยปธน.ไช่ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้กล่าวไว้อาลัยต่ออดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่น พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณอย่างสูงต่ออดีตนรม.อาเบะที่ได้จัดวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในภูมิภาค นอกจากนี้ Mr. Behgjet Pacolli อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐคอซอวอ ก็ได้ร่วมกล่าวอวยพรผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า โดยชี้ว่า จากสงครามรัสเซีย - ยูเครน สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรเร่งเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างกัน เพื่อปกป้องประชาธิปไตย และรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎระเบียบสากล
Mr. Kono Taro รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ก็ได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม โดยได้ประณามพฤติกรรมของรัสเซียอย่างรุนแรง พร้อมชี้ว่า การที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียข่มขู่ประชาคมโลกด้วยอาวุธสงคราม ก็เพื่อต้องการสร้างหายนะเฉกเช่นตำนานการเปิดกล่องแพนดอร่า ซึ่งเป็นกล่องแห่งหายนะตามตำนานกรีก หากความทะเยอทะยานของรัสเซีย มิได้รับการควบคุมด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาด อาจจะกลายเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดๆ ให้แก่ประเทศที่ต้องการเข้ารุกรานประเทศอื่น โดย Mr. Taro เน้นย้ำว่า หากยังคงให้รัสเซียและประเทศที่ใช้กำลังทหารรุกรานผู้อื่น มีอำนาจยับยั้งข้อมติใดๆ ได้โดยสิ้นเชิง ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สหประชาชาติ (UN) ก็จะไม่สามารถสำแดงหลักการแห่งการรักษาสันติภาพ ภายใต้กรอบสหประชาชาติไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ Mr. Taro จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎบัตรของสหประชาชาติ 2.0 โดยกำหนดให้ไม่มีประเทศใดที่สามารถ มีอำนาจยับยั้งข้อมติใดๆ ได้โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ Mr. Taro ยังเผยว่า จีนเป็นตัวแปรสำคัญในด้านความมั่นคงในภูมิภาค หากรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้ารุกรานไต้หวัน ญี่ปุ่นก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันร่วมสกัดกั้นอิทธิพลของจีนอย่างเด็ดขาด เพื่อให้จีนรับรู้ว่า การเข้ายึดครองไต้หวันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะทำได้
Ms. Janet Napolitano อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ กล่าวสุนทรพจน์ในระหว่างงานเลี้ยงอาหารกลางวัน โดยระบุว่า ในวาระการดำรงตำแหน่งของ Ms. Napolitano ได้กำหนดให้ไต้หวันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรมยกเว้นการขอวีซ่า (Visa Waiver Program) แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ นอกจากนี้ Ms. Napolitano ยังชี้ว่า ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเริ่มต้นจากพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากต้องลาดตระเวณตรวจการณ์ความมั่นคงตามแนวชายแดนแล้ว ความมั่นคงทางไซเบอร์ก็เป็นความท้าทายรูปแบบใหม่ในด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิด้วยเช่นกัน
Mr. Toomas Hendrik Ilves อดีตประธานาธิบดีเอสโตเนีย กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีปิดการประชุม โดยระบุว่า ยุคหลังสงครามที่กำหนดโดยกฎบัตรสหประชาชาติ ที่ห้ามมิให้ประเทศสมาชิกใช้กำลังอาวุธในการเข้ารุกรานประเทศอื่นๆ โดยพลการได้สิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศสมาชิกถาวร ได้ทำการบุกโจมตียูเครนอย่างไม่ใยดีต่อข้อห้ามของกฎบัตรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนจีนในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งประเทศสมาชิกถาวร ได้ปฏิเสธที่จะร่วมประณามรัสเซีย แสดงให้เห็นว่า อนาคตของสหประชาชาติเปี่ยมไปด้วยความไม่แน่นอน อดีตปธน. Ilves จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้ง “พันธมิตรดิจิทัล” (Digital Alliance) ขององค์การนาโต้ (NATO) โดยกำหนดให้กลุ่มประเทศที่ยึดมั่นในเสรีภาพและประชาธิปไตย รวมถึงไต้หวันเข้าร่วม เพื่อทำลายกรอบจำกัดด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
โดยการประชุมในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ “สงครามเย็นรูปแบบใหม่” “การอภิปรายระหว่างสมาชิกรัฐสภาไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น” “แนวทางการรับมือต่อผลกระทบด้านความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ที่เกิดจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครน” และ “ผลกระทบจากการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่มีต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลก”