New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวัน จัดเลี้ยงต้อนรับคณะตัวแทน “การประชุมสมาชิกรัฐสภาด้านหลักประกันทางความมั่นคงของญี่ปุ่น” พร้อมคาดหวังที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีในเชิงลึกระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่นต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 28 ก.ค. 65
 
คณะตัวแทน “การประชุมสมาชิกรัฐสภาด้านหลักประกันทางความมั่นคงของญี่ปุ่น” ที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นแบบข้ามพรรค ได้เดินทางมาถึงไต้หวันเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยในช่วงค่ำของวันเดียวกันนั้น นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับ Mr. Ishiba Shigeru และ Mr. Yasukazu Hamada สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม Mr. Nagashima สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ Mr. Shimizu Takayuki รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการทั่วไป วุฒิสภาญี่ปุ่น พร้อมแสดงความยินดีในการต้อนรับจากใจจริง
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า สมาชิกคณะที่เดินทางมาเยือนในครั้งนี้ ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านความมั่นคงและสถานการณ์ในภูมิภาคของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่รัสเซียได้ทำการรุกรานยูเครน ถือเป็นการสั่นคลอนกฎระเบียบพื้นฐานของประชาคมโลก อีกทั้งรัฐบาลจีนและรัสเซียยังได้ประสานความร่วมมือในการข่มขู่ประเทศโดยรอบ และส่งผลต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก การที่คณะตัวแทนเดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่างๆ ของไต้หวัน นอกจากจะเปี่ยมด้วยนัยยะที่พิเศษยิ่งแล้ว ยังถือเป็นการสร้างกำลังใจให้แก่ประชาชนไต้หวันอีกด้วย โดยรมว.อู๋ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้ในการแสดงความขอบคุณและร่วมไว้อาลัยต่ออดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่น ที่ล่วงลับไปอย่างกระทันหัน พร้อมเน้นย้ำว่าจะสานต่อความตั้งใจของอดีตนรม.อาเบะ ในการเร่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่นให้เกิดความแนบแน่นยิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเน้นย้ำว่า ความทะเยอทะยานที่รัฐบาลจีนต้องการเข้าครอบครองไต้หวัน นับวันยิ่งมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น จนเป็นที่จับตาของประชาคมโลก ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น โดยรัฐบาลไต้หวันได้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวันบนเวทีนานาชาติอยู่บ่อยครั้ง พร้อมทั้งระบุถึงจุดยืนอันแน่วแน่ว่า ไม่อนุญาตให้ประเทศใดประเทศหนึ่งใช้กำลังอาวุธในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของภูมิภาคในปัจจุบัน โดยไต้หวันจะยังคงปกป้องอำนาจอธิปไตยของตนอย่างหนักแน่นต่อไป ควบคู่กับการเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่มาจากประเทศเผด็จการ
 
รมว.อู๋ฯ แถลงว่า หลักประกันด้านความมั่นคงครอบคลุมประเด็นในวงกว้าง นอกจากการป้องกันประเทศโดยกองทัพแบบดั้งเดิมแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงหลักประกันด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ข่าวปลอม ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความยืดหยุ่นทางโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญและด้านสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนที่ไต้หวัน – ญี่ปุ่นสามารถเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในภายภาคหน้า
 
Mr. Shigeru ได้แสดงความขอบคุณต่อการร่วมไว้อาลัยต่ออดีตนรม.อาเบะ พร้อมกล่าวว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของอดีตนรม.อาเบะยังไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง คณะตัวแทนจึงขอรับหน้าที่สืบสานอุดมการณ์ของอดีตนรม.อาเบะต่อไป เพื่อธำรงรักษาลัทธิประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้คงอยู่ต่อไป ตลอดจนจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับไต้หวันที่ยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม ให้เกิดความแนบแน่นมากขึ้น โดย Mr. Shigeru ระบุว่า ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก และอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในดัชนีความสุขโลก โดยความมั่นคงและเสถียรภาพของไต้หวันมีความสำคัญต่อญี่ปุ่นและทั่วโลกเป็นอย่างมาก พร้อมนี้ Mr. Shigeru ยังได้แสดงความเห็นด้วยต่อบทวิเคราะห์สถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครนของรมว.อู๋ฯ ตลอดจนคาดหวังว่า จะมีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับไต้หวัน ในมุมมองด้านกฎหมายระหว่างประเทศและกิจการด้านกลาโหม นอกจากนี้ Mr. Hamada ยังกล่าวว่า นอกจากเราจะให้ความสำคัญต่อประเด็นหลักประกันทางความมั่นคงแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่นอีกด้วย โดยไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมากในภูมิภาค ไต้หวัน – ญี่ปุ่นจึงควรที่จะจัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในประเด็นต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึกต่อไป
 
โดยงานเลี้ยงอาหารค่ำในครั้งนี้ ยังได้เชิญ Mr. IZUMI Hiroyasu ผู้แทนญี่ปุ่นประจำไต้หวันจากสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน และนายหลินเฉิงเว่ย ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยความมั่นคงทางกลาโหมเข้าร่วมด้วย เพื่อร่วมพูดคุยหารือกันในเชิงลึกในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านกลาโหม การทูต ห่วงโซ่อุปทาน และหลักประกันทางเศรษฐกิจอย่าง “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)” ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่นที่จะร่วมเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในเชิงลึกต่อไป