New Southbound Policy Portal

Mr. Ed Markey ประธานคณะอนุกรรมาธิการต่างประเทศ ด้านเอเชีย – แปซิฟิกของวุฒิสภาสหรัฐฯ นำคณะเดินทางเยือนไต้หวัน ปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในเชิงลึก เพื่อร่วมธำรงรักษาเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกให้คงอยู่ต่อไป

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 15 ส.ค. 65
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 15 ส.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Mr. Ed Markey, D-MA ประธานคณะอนุกรรมาธิการต่างประเทศ ด้านเอเชีย – แปซิฟิกของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา และคณะ โดยปธน.ไช่ฯ แถลงว่า ไต้หวัน - สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่ร่วมยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในเชิงลึกต่อไป ตลอดจนร่วมธำรงรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกให้คงอยู่สืบไป โดยปธน.ไช่ฯ ยังคาดหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้ากับมิตรประเทศที่ยึดมั่นในค่านิยมสากลเดียวกัน เพื่อร่วมจัดตั้งห่วงโซ่อปุทานที่มีความมั่นคง นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังคาดหวังที่จะร่วมลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน” (ADTA) กับสหรัฐฯ โดยเร็ววัน เพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะร่วมลงทุนแบบทวิภาคีในสหรัฐฯ หรือในไต้หวัน
 
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า Mr. Markey ได้เข้ารับตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 1976 ตราบจนปัจจุบัน โดยในปี 1979 Mr. Markey ได้เข้าร่วมทำการประเมินพิจารณา “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ในรัฐสภาสหรัฐฯ พร้อมทั้งลงมติเสียงสนับสนุน ซึ่งเป็นหลักชัยสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ตราบจนปัจจุบัน
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ Mr. Markey เข้ารับตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมาธิการต่างประเทศ ด้านเอเชีย – แปซิฟิกของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ก็ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันผ่านทุกช่องทางอย่างกระตือรือร้น ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เมื่อปีที่แล้ว Mr. Markey ก็ได้ให้ความช่วยเหลือไต้หวันในการจัดหาวัคซีน ปธน.ไช่ฯ รู้สึกขอบคุณด้วยใจจริงต่อมิตรภาพที่ Mr. Markey ส่งมอบให้ผ่านการสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น
 
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า ในปีนี้ จากสถานการณ์การรุกรานยูเครนของรัสเซีย สะท้อนให้เห็นถึงภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของประเทศเผด็จการ ประกอบกับช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ทำการฝึกซ้อมทางทหารในบริเวณน่านน้ำและน่านฟ้าของไต้หวัน ติดต่อกันเป็นช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค ซึ่งพวกเรานอกจากจะเร่งประสานความร่วมมือกับพันธมิตรนานาประเทศทั่วโลกแล้ว ยังได้จับตาการเคลื่อนไหวทางทหารอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเป็นการแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในอันที่จะรักษาความมีเสถียรภาพในปัจจุบันของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันอย่างกระตือรือร้น
 
 ปธน.ไช่ฯ ยังได้ระบุว่า เมื่อปลายเดือนมิ.ย. ปีนี้ ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้จัดการประชุมครั้งแรกภายใต้แผนริเริ่มการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21 โดยพวกเราคาดหวังที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในเชิงลึกผ่านแพลตฟอร์มอันแข็งแกร่งนี้ พร้อมคาดหวังที่จะร่วมลงนามความตกลงทางการค้ามาตรฐานสูงกับสหรัฐฯ ภายใต้พื้นฐานค่านิยมที่มีร่วมกัน โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเห็น Mr. Markey และสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ ให้การสนับสนุนไต้หวันในประเด็นนี้ ในที่ประชุมรัฐสภาสหรัฐฯ ต่อไป
 
ปธน.ไช่ฯ เผยว่า ไต้หวันได้สั่งสมประสบการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มาเป็นเวลายาวนาน โดยพวกเรายินดีที่จะวางรากฐานการลงทุนในสหรัฐฯ อย่างกระตือรือร้น โดยปธน.ไช่ฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ แบบข้ามพรรคให้การสนับสนุน “ร่างกฎหมายว่าด้วยแผ่นชิปวงจรรวม” (CHIPS Act) ซึ่งได้เสร็จสิ้นกระบวนการบัญญัติกฎหมายอย่างสมบูรณ์แล้ว เชื่อว่าจะเป็นข้อได้เปรียบที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน เดินทางเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ เป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น
 
Mr. Markey กล่าวขณะปราศรัยว่า นับเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเดินทางเยือนไต้หวัน ซึ่งรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก ปธน.ไช่ฯ เป็นอีกหนึ่งผู้นำประเทศที่สมควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ การขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวัน ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้หญิงอีกจำนวนมากบนโลกใบนี้ Mr. Markey รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมเดินทางมาเยือนไต้หวันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบข้ามพรรคจำนวนมาก ซึ่งประกอบด้วย Mr. John Garamendi, D-CA ที่เป็นส.ส.จากรัฐแคลิฟอร์เนียพร้อมด้วยภริยา Mr. Alan Lowenthal, D-CA ส.ส.จากรัฐแคลิฟอร์เนียพร้อมด้วยภริยา  Mr. Don Beyer, D-VA ส.ส.จากรัฐเวอร์จิเนียพร้อมด้วยภริยา และ Ms. Aumua Amata Coleman Radewagen, R-AS ส.ส.จากอเมริกันซามัวพร้อมด้วยสามี ส่วนภริยาของ Mr. Markey มีชื่อว่า Ms. Susan มีอาชีพเป็นแพทย์ ได้ร่วมเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ด้วย ซึ่ง Ms. Susan ได้แสดงความชื่นชมต่อผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันเป็นอย่างมาก
 
Mr. Markey ระบุว่า ในฐานะที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการต่างประเทศ ด้านเอเชีย – แปซิฟิกของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้าได้ให้การสนับสนุนการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับที่ปธน.ไช่ฯ ระบุไว้ในข้างต้นว่า ในปี 1979 เมื่อครั้งที่ตนยังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็ได้มีส่วนร่วมในการลงมติเสียงสนับสนุน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ถือเป็นสมาชิกรัฐสภาน้อยคนที่เคยเข้าร่วมการบัญญัติ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ที่ยังคงอยู่ดำรงตำแหน่งในรัฐสภาสหรัฐฯ ในปัจจุบัน โดยหลังจากการบัญญัติกฎหมายในครั้งนั้น ตราบจนปัจจุบันล่วงเลยมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้ว การสนับสนุนที่ Mr. Markey มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ นับวันยิ่งทวีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น
 
Mr. Markey เผยว่า เมื่อเดือนมิ.ย. ปีที่แล้ว เขาได้จัดการประชุมประชาพิจารณ์ครั้งแรกขึ้นที่วุฒิสภาสหรัฐฯ โดยได้อ้างอิงโครงการ Mansfield Program ที่ดำเนินการโดยสหรัฐฯ – ญี่ปุ่น ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ประสบความสำเร็จ พร้อมยื่นเสนอการบัญญัติ “กฎหมายว่าด้วยการอนุมัติทุนการศึกษาสำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีความประสงค์จะเดินทางไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนในไต้หวัน” (Taiwan Fellowship Act) โดยต้องการให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐของสหรัฐฯ ใช้ชีวิตและทำงานในไต้หวันได้อย่างถูกกฎหมาย ภายใต้พื้นฐานกฎหมายข้างต้น นอกจากนี้ เขายังได้ผลักดันการเข้าร่วมบัญญัติกฎหมายของสมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรรค เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันในช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมในสาขาต่างๆ สามารถเข้าร่วมกิจการที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน ตลอดจนเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านกลาโหมเพื่อการป้องกันประเทศให้แก่ไต้หวันต่อไป
 
Mr. Markey แถลงว่า เขารู้สึกเชื่อมั่นในความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ พร้อมเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ จะขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21 ต่อไปอย่างแน่นอน
 
Mr. Markey ชี้ว่า ไต้หวันเป็นประภาคารที่สำคัญในด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ไต้หวันกลับต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปกป้องค่านิยมสากลเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป อีกทั้งไต้หวันยังเป็นผู้นำด้านการป้องกันโรระบาดทั่วโลก นอกจากนี้ ไต้หวันก็ถือเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมในด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เมื่อใดที่ความเชี่ยวชาญและแนวทางการเป็นผู้นำของไต้หวันได้รับการมองเห็นจากประชาคมโลก เมื่อนั้นทั่วโลกก็จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันถ้วนหน้า
 
Mr. Markey กล่าวว่า กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) เป็นกลไกที่สามารถสำแดงศักยภาพของบุคลากรไต้หวันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมในด้านต่างๆ อาทิ สาธารณสุข ความมั่นคงด้านพลังงาน การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ และการส่งเสริมศักยภาพสตรี เป็นต้น พวกเราจึงจำเป็นต้องมุ่งมั่นในการผลักดันให้ไต้หวันเข้าร่วมมีบทบาทในการหารือระดับโลก เพื่อร่วมกันแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายที่ทั่วโลกเผชิญหน้าในปัจจุบัน อาทิ ภัยคุกคามที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น