New Southbound Policy Portal
สภาบริหาร วันที่ 18 ส.ค. 65
หลังจากเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้จัดการประชุมครั้งแรกภายใต้แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน - สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21 ก็ได้มีการจัดเตรียมและร่วมอภิปรายอย่างละเอียดรอบคอบมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะเปิดการเจรจาทางการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ อย่างเป็นการทาง สำนักงานเจรจาการค้า สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ในระหว่างการเตรียมการ ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงออกถึงความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นเป็นอย่างมาก จึงหวังว่าจะเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน และสามารถร่วมลงนามในความตกลงทางการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้
สำหรับแนวทางการเจรจาในอนาคต ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดประเด็นและขอบเขตไว้รวม 11 รายการ ได้แก่ (1) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (2) แนวทางการบังคับใช้กฎระเบียบที่เหมาะสม (3) การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (4) ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (5) การเกษตร (6) มาตรฐาน (7) การค้ารูปแบบดิจิทัล (8) แรงงาน (9) สิ่งแวดล้อม (10) กิจการรัฐวิสาหกิจ และ (11) กลยุทธ์และแนวทางที่เกี่ยวเนื่องกับกลไกการตลาด (Non-market Strategy) โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเจรจาภายใต้พื้นฐานของความยุติธรรมและเสมอภาค
สนง.เจรจาการค้า สภาบริหาร ยังแถลงว่า แม้ว่าการเจรจาในครั้งนี้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นภาษี แต่มีเป้าหมายหลัก 4 ประการ ดังนี้ :
1.เสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมระดับประเทศ ครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมการค้าในสินค้าเกษตรระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ การให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในการขยายตลาดสหรัฐฯ เสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจดิจิทัลของไต้หวัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาภาพลักษณ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดลอมและการรักษาสิทธิมนุษยชนแรงงาน ที่ไต้หวันให้ความสำคัญและมุ่งมั่นดำเนินการมาเป็นเวลานาน
2. ส่งเสริมการลงทุนและการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ยกระดับความมั่นใจให้กลุ่มผู้ประกอบการระดับนานาชาติในการเข้าลงทุนในไต้หวัน เพื่อให้ไต้หวันมีโอกาสในการดึงดูดเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และทั่วโลก
3. ส่งเสริมการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบระหว่างไต้หวันและนานาประเทศทั่วโลก : การลงนามความตกลงทางการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ นอกจากจะมีส่วนช่วยให้ไต้หวันผลักดันตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)” แล้ว ยังเป็นการขยายพื้นที่บนเวทีนานาชาติไปพร้อมกัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ไต้หวันสามารถเชื่อมโยงกับนานาประเทศทั่วโลกอย่างมีระเบียบแบบแผนต่อไปในอนาคต
4. ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบตลาด โดยทั้งสองฝ่ายสามารถประสานความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับแนวทางและกลยุทธ์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับกลไกการตลาด
โดยทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่จะประสานความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือแก่สตรี กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งสอดคล้องต่อค่านิยมหลักของไต้หวันในด้านความหลากหลาย (diversity) ความเสมอภาคทางโอกาส (equality) และการยอมรับซึ่งกันและกันในสังคม (inclusiveness) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทิศทางการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศในปัจจุบัน อาทิ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (environment) หน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม (social) และการบริหารองค์กร (governance)
โดยในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลได้ทำการวางแผนด้วยการจำลองสถานการณ์หลายรูปแบบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวันได้จัดเตรียมการโครงร่างต่างๆ สำหรับการเจรจาครั้งนี้ ด้วยการอ้างอิงแนวโน้มสถานการณ์ระหว่างประเทศ เชื่อว่าการลงนามในความตกลงในภายภาคหน้า จะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐฯ ในเชิงลึกต่อไป