New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่ฯ แสดงปาฐกถาในการประชุมสุดยอด Concordia ประจำปี 2022 โดยเน้นย้ำว่า การสร้างหลักประกันด้านประชาธิปไตยของไต้หวัน มีบทบาทสำคัญต่อการธำรงรักษาเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในอนาคตของประชาคมโลก

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 20 ก.ย. 65
 
เมื่อรุ่งสางของวันที่ 20 ก.ย. ตามเวลาในไต้หวัน หรือช่วงเที่ยงของวันที่ 19 ก.ย. ตามเวลาในนครนิวยอร์ก ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ Concordia องค์การนอกภาครัฐนครนิวยอร์ก เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในการประชุมสุดยอด Concordia ประจำปี 2022 (2022 Concordia Annual Summit) ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า
 
ปธน.ไช่ฯ เผยว่า หลายปีมานี้ ไต้หวันต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากจีน ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ด้วยกำลังทหาร การอาศัยกลยุทธ์พื้นที่สีเทาในการส่งผลกระทบต่อไต้หวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการแทรกแซงวิถีชีวิตแห่งประชาธิปไตยที่พวกเรามุ่งมั่นในการธำรงรักษาไว้
 
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ค่านิยมด้านประชาธิปไตยเป็นปัจจัยหนึ่งในการยอมรับสถานภาพของตนเองสำหรับประชาชนชาวไต้หวันที่มิสามารถขาดได้ โดยการธำรงรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย มีบทบาทสำคัญต่อการธำรงรักษาเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนต่อไปในอนาคต เมื่อก้าวสู่บริบทในยุคหลังโควิด – 19 ความท้าทายที่พวกเราต้องเผชิญหน้ามีแต่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปธน.ไช่ฯ เชื่อว่า หากพวกเราจะประสานสามัคคีภายใต้ค่านิยมและแนวคิดที่ยึดมั่นร่วมกัน ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่พวกเรากำหนดไว้ได้
 
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไช่ฯ ในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
 
การจัดการประชุมประจำปีในครั้งนี้ ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากในระยะนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยและความสงบเรียบร้อยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหลังยุคสงครามเย็น
 
โดยพวกเรานอกจากจะต้องเร่งบรรเทาผลกระทบทางสุขภาพและเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 แล้ว ยังต้องต่อต้านการรุกล้ำประชาธิปไตยจากประเทศเผด็จการ ที่ต้องการจะละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดขวางการเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมนานาชาติของภาคประชาชนชาวไต้หวัน
 
รัสเซียบุกโจมตียูเครนอย่างไม่มีสาเหตุ ประกอบกับการที่ไต้หวันต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลเผด็จการต้องการแผ่ขยายอิทธิพลโดยไม่สนใจต่อความเสียหายที่ทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบเลยแม้แต่น้อย
 
สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่พวกเราต้องเผชิญหน้าในยุคสมัยนี้ นอกเหนือจากการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การยอมรับสกุลเงินซึ่งกันและกัน ความมั่นคงด้านเทคโนโลยีและห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น
 
หลายสิบปีก่อน ไต้หวันต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเราก็ได้มุ่งมั่นในการธำรงรักษาประชาธิปไตยให้คงอยู่มาตราบจนปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย จึงเป็นส่วนหนึ่งในการยอมรับต่อสถานภาพของตนเองสำหรับประชาชนชาวไต้หวัน ที่มิสามารถขาดได้
 
ในช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ไต้หวันได้บริจาคหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ พร้อมทั้งร่วมแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นโรคโควิด – 19 เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาคมโลก โดยพวกเราเตรียมพร้อมแล้วในการช่วยเหลือและเสริมสร้างความร่วมมือกับประชาคมโลก แม้ว่าไต้หวันจะมิใช่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) แต่พวกเราก็ยังคงให้ความช่วยเหลือแก่นานาประเทศทั่วโลกในการร่วมแก้ไขวิกฤตปัญหาต่างๆ ปธน.ไช่ฯ เชื่อว่า การเปิดรับให้ไต้หวันเข้าส่วนร่วมใน UN จะส่งผลให้พวกเราจะประสานความร่วมมือกันได้อย่างใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคตตามมา ตลอดจนธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากลต่อไป
 
ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ไต้หวันรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนชาวยูเครนที่ร่วมปกป้องประเทศชาติและเสรีภาพอย่างสุดกำลัง โดยหลังจากนี้ พวกเราจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างความเข้าใจต่อแผนกลยุทธ์ของประเทศเผด็จการ ตลอดจนทำความเข้าใจว่าประชาธิปไตยของไต้หวันมิได้เป็นเพียงเป้าหมายเดียวในการทำลายล้างของจีน การสร้างหลักประกันด้านประชาธิปไตยของไต้หวัน มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนต่อไปภายภาคหน้าของประชาคมโลก
 
พวกเรายังจำเป็นต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนตลอดจนปกป้องซึ่งกันและกัน หลายปีมานี้ แถลงการณ์ที่ประกาศโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําของโลก 7 ชาติ (Group of Seven, G7) สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และผู้แทนถาวรของประเทศพันธมิตรไต้หวันประจำสหประชาชาติ ล้วนเป็นกรณีตัวอย่างที่พวกเราควรเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับนานาประเทศทั่วโลก
 
การจัดตั้งสหประชาชาติเมื่อ 77 ปีก่อนมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ธำรงรักษาสิทธิมนุษยชน ตลอดจนรักษากฎระเบียบระหว่างประเทศให้คงมั่น เมื่อก้าวสู่บริบทในยุคหลังโควิด – 19 ความท้าทายที่พวกเราต้องเผชิญหน้ามีแต่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปธน.ไช่ฯ เชื่อว่า หากพวกเราประสานสามัคคีภายใต้ค่านิยมและแนวคิดที่ยึดมั่นร่วมกัน ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่พวกเรากำหนดไว้ได้