New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 1 ต.ค. 65
เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไต้หวันและองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย จึงได้ร่วมจัดการประชุมนานาชาติ ในหัวข้อ “การจัดตั้งระบบการบินพลเรือนที่มั่นคงปลอดภัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาในรูปแบบสีเขียวอย่างยั่งยืน ” ภายใต้กรอบความร่วมมือและการฝึกอบรม GCTF (GCTF Seminar on Building a Sustainable Aviation System: Safe and Green) ในระหว่างการประชุมสมัชชาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 41 โดยผู้เข้าร่วมการประชุมต่างให้การยอมรับในการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระดับโลก เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านการบินและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
นับเป็นครั้งแรกที่ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และผลสัมฤทธิ์ด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางการบินภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF ในระหว่างการประชุม ICAO โดยการประชุมครั้งนี้ถูกจัดขึ้นในรูปแบบไฮบริดซึ่งมีทั้งการประชุมในสถานที่จริงและแบบออนไลน์ โดยมีนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายเจิงโห้วเหริน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำแคนาดา Mr. Brent Christensen อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) Ms. Ingrid Larson ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอเมริกาในไต้หวัน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (AIT/Washington) Mr. IZUMI Hiroyasu ผู้แทนญี่ปุ่นประจำไต้หวันจากสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน และ Ms. Jenny Bloomfield ผู้แทนรัฐบาลออสเตรเลียประจำไต้หวัน ทยอยเข้าร่วมกล่าวปราศรัย
รมว.อู๋ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันมีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของสังคมการบินพลเรือนระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ ICAO และรักษามาตรฐานสูงสุดด้านความมั่นคงปลอดภัยทางการบินมาโดยตลอด ซึ่งในระยะนี้ จีนได้ดำเนินการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบน่านน้ำไต้หวัน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการบินในระดับภูมิภาคและระดับโลก สะท้อนให้เห็นว่า ICAO ควรยอมรับไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งในระบบ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลเขตแถลงข่าวการบิน (Flight Information Region) ของนานาประเทศทั่วโลก ร่วมธำรงรักษาความมั่นคงด้านการบินระหว่างประเทศ ให้มีความรัดกุมยิ่งๆ ขึ้นไป โดยผู้แทนเจิงฯ ได้แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายใน ICAO
Mr. Christensen แถลงว่า การที่ไต้หวันไม่สามารถเข้ามีส่วนร่วมใน ICAO ทำให้ทั่วโลกไม่ได้รับผลประโยชน์จากการอุทิศคุณประโยชน์ของไต้หวัน ไต้หวันควรได้รับโอกาสในการเข้าร่วมในภารกิจที่เกี่ยวข้องของ ICAO อย่างมีความหมาย Ms. Larson กล่าวว่า ไต้หวันยังคงมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ ICAO ด้วยความสมัครใจอย่างเคร่งครัด ถือเป็นหุ้นส่วนด้านการรักษาความมั่นคงทางการบินที่เชื่อถือได้ โดยการซ้อมรบของจีนเมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ ICAO ควรเปิดรับไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในระบบ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนแก่ไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่ไต้หวันจะสามารถสร้างคุณประโยชน์ที่มากยิ่งขึ้นให้แก่ประชาคมโลกต่อไป
Mr. Hiroyasu เน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ของญี่ปุ่น ที่ยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย โดย Mr. Hiroyasu ได้ชื่นชมกรมการบินพลเรือนและบริษัทสายการบินของไต้หวันที่มุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงทางการบินและการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ Ms. Bloomfield ยังได้ชื่นชมต่อไต้หวันที่มุ่งมั่นในการรักษากลไกการบริหารและการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 พร้อมนี้ Ms. Bloomfield ยังระบุว่า ก่อนเกิดสถานการณ์โรคโควิด – 19 ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศของไต้หวันครองอันดับที่ 11 ของโลก แสดงให้เห็นว่าไต้หวันมีบทบาทสำคัญในด้านการบินระหว่างประเทศ โดยนายหลินจวิ้นเหลียง หัวหน้าคณะปฏิบัติการพิเศษ ICAO และรองอธิบดีกรมการบินพลเรือน ภายใต้กระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวปราศรัยในพิธีปิดว่า การประชุมภายใต้กรอบ GCTF ในครั้งนี้ มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบินพลเรือนระหว่างไต้หวันและประชาคมโลก โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศได้ติดต่อประสานงาน เพื่อส่งเสริมให้ความมั่นคงทางการบินระหว่างประเทศได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีระบบแบบแผนต่อไป
การประชุมในครั้งนี้ กรมการบินพลเรือน พร้อมด้วยกต.ไต้หวันได้ร่วมจัดการประชุมในกรุงไทเป โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐประจำไต้หวันและกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบินเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมทั้งเชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ควบคุมดูแลด้านการบินและผู้เชี่ยวชาญด้านการบินพลเรือนนับร้อยคนจากสหภาพยุโรป และอีก 14 ประเทศในทวีปต่างๆ ประกอบด้วย อินโด – แปซิฟิก อเมริกา ยุโรปและแอฟริกา โดยมี Mr. Julian Spencer-Churchill รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Concordia ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ