New Southbound Policy Portal
กระทรวงแรงงาน วันที่ 19 ต.ค. 65
กระทรวงแรงงาน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ขึ้นในหัวข้อ “การส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในความมั่นคงทางสาธารณสุขด้านการประกอบอาชีพ ในยุคดิจิทัล” ณ กรุงไทเป ในระหว่างวันที่ 18 – 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาในกรุงไทเป โดยได้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทยและสหรัฐอเมริกา และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางสาธารณสุขในการประกอบอาชีพของไต้หวัน เข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและผลกระทบต่อความมั่นคงทางสาธารณสุขในการประกอบอาชีพ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ตลอดจนร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีดิจิทัลด้านความมั่นคงทางสาธารณสุขในการประกอบอาชีพ พร้อมยกกรณีตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจด้วย
พิธีเปิดการประชุมในครั้งนี้ มีนายเฉินหมิงเหริน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่เป็นประธาน พร้อมทั้งติดต่อเชิญนายอู๋ซ่างเหนียน เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของเอเปค และอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมกล่าวปราศรัย นอกจากนี้ ยังได้เชิญ Mr. Park Dong Sun ประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปค (APEC Human Resources Development Working Group, HRDWG) นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี ประธานคณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Working Group, HWG) Ms. Jessica Russell เจ้าหน้าที่ประสานงานในคณะทำงานกลุ่มย่อยของ APEC HRDWG ด้านแรงงานและหลักประกันทางสังคม ให้เข้าร่วมและแสดงปาฐกถาในการประชุมครั้งนี้
รมช.เฉินฯ กล่าวว่า แม้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาบูรณาการและประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมก้าวสู่อีกระดับซึ่งมีความล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังถือเป็นการยกระดับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงในประเด็นความท้าทายด้านความมั่นคงทางสาธารณสุข อาทิ การควบคุมเครื่องจักรกลของกลุ่มแรงงาน รวมถึงการการขาดความสมดุลระหว่างการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อรับมือต่อความท้าทายนานาประการ ทั้งสถานการณ์โรคโควิด – 19 และการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization, ILO) จึงได้กำหนดให้ความมั่นคงทางสาธารณสุขด้านการประกอบอาชีพถือเป็นส่วนหนึ่งใน “แถลงการณ์ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานการประกอบอาชีพ” ในระหว่างการประชุมสมัชชาแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 110 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนรัฐบาลไต้หวันได้บังคับใช้ “กฎหมายว่าด้วยหลักประกันและความคุ้มครองด้านภัยพิบัติ สำหรับกลุ่มแรงงาน” ในวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันแรงงานสากล โดยมีแนวทางการสร้างหลักประกันที่สมบูรณ์และครอบคลุมให้แก่กลุ่มผู้ใช้แรงงานในยุคหลังโควิด - 19
อธิบดีอู๋ฯ กล่าวว่าไต้หวันเป็นอาณาจักรแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับภูมิภาคของ APEC ซึ่งขานรับต่อการให้ความสำคัญในประเด็นด้านการพัฒนาทางดิจิทัล และการฟื้นฟูด้านการยอมรับซึ่งกันและกันในยุคหลังโควิด – 19 ของกลุ่มเขตเศรษฐกิจ APEC โดยการประชุมในครั้งนี้มีส่วนช่วยในการบรรลุแผนปฏิบัติการ “Aotearoa Plan of Action” ที่การประชุมผู้นำกลุ่ม APEC ให้การยอมรับ อีกทั้งเป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยึดมั่นในหลักการยอมรับซึ่งกันและกันในระดับภูมิภาคของ APEC โดย Mr. Park Dong Sun ได้ให้การยอมรับต่อผลสัมฤทธิ์ของไต้หวันในการผลักดัน “กรอบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัลของ APEC” ด้วยการส่งเสริมมาตรการการสร้างหลักประกันทางสังคมในยุคดิจิทัล ส่วนนพ.พงศธร ได้ให้การยอมรับต่อการผลักดันความร่วมมือในการประชุมข้ามพรมแดนของไต้หวัน ซึ่งได้สร้างคุณประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมสวัสดิการด้านสุขภาพและความมุ่งมั่นในการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานในยุคหลังโควิด – 19 และ Ms. Russell กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด – 19 เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นความมั่นคงทางสาธารณสุข ซึ่งสมควรที่จะเร่งเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อตอบสนองและส่งเสริมการทำงานในอนาคต ตลอดจนให้ความเคารพต่อเหล่าผู้ใช้แรงงานต่อไป