New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ “สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของนิวซีแลนด์” (TVNZ) พร้อมย้ำว่า ไต้หวันจะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันจากจีน และควรให้ประชาชนไต้หวันเป็นผู้ตัดสินอนาคตของไต้หวันเอง

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 20 ต.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Cushla Norman ผู้สื่อข่าว “สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของนิวซีแลนด์” (TVNZ) โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านบทความพิเศษในแต่ละช่วงเวลาของการออกอากาศ ซึ่งบทความฉบับแรกได้ถูกเผยแพร่ผ่านรายการข่าวและเว็บไซต์ “1 News” ในวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นแล้ว และได้รับความสนใจในวงกว้างจากหลายฝ่ายของนิวซีแลนด์
 
ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ รมว.อู๋ฯ ได้ประณามคำพูดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ระบุว่า ประเด็นของไต้หวันเป็นประเด็นภายในประเทศของจีน และอนาคตของไต้หวันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของจีน ซึ่งรมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า การที่จีนไม่ให้คำมั่นว่าจะล้มเลิกการใช้กำลังทหารต่อไต้หวัน ถือเป็นการข่มขู่ในรูปแบบหนึ่ง การซ้อมรบด้วยกระสุนจริงในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวันของจีนในช่วงที่ผ่านมา ขัดต่อหลักการขั้นพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ระบุไว้ใน “กฎบัตรของสหประชาชาติ” อย่างรุนแรง รมว.อู๋ฯ ยืนยันว่า ไต้หวันมุ่งมั่นในการธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวันอย่างเต็มที่ โดยจะไม่ก่อประเด็นข้อพิพาทใดๆ แต่จะเตรียมพร้อมรับมือต่อพฤติกรรมการข่มขู่ด้วยกำลังทหารที่อาจเกิดขึ้นจากจีน และประชาชนไต้หวันจะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของไต้หวันเอง
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า การที่รัฐบาลและประชาชนชาวยูเครน ร่วมกันต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย ด้วยความกล้าหาญ ถือเป็นแบบอย่างที่ดี โดยไต้หวันก็มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการต่อต้านการรุกรานจากภายนอกอย่างเต็มที่ ด้วยการเร่งเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันประเทศของตนเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแสวงหาพลังสนับสนุนอันหนักแน่นจากประชาคมโลก รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า นอกจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่อนุมัติการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ในการป้องกันประเทศให้แก่ไต้หวันอย่างสม่ำเสมอแล้ว ประเทศในกลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ต่างก็ให้ความสำคัญและส่งมอบความห่วงใยต่อการที่สถานภาพเดิมระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ถูกจีนทำลายความสงบเรียบร้อยลงด้วยเช่นกัน พร้อมนี้ ต่างก็ได้เรียกร้องให้จีนยุติการใช้กำลังทหารในการคุกคามไต้หวันด้วย
 
รมว.อู๋ฯ แสดงความขอบคุณด้วยใจจริงต่อรัฐบาลนิวซีแลนด์ ที่เน้นย้ำความสำคัญของการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ ในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ในระหว่าง “การประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างนิวซีแลนด์ - สหรัฐฯ” ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา และมีการประกาศแถลงการณ์ร่วมใน “การประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างนิวซีแลนด์ - อังกฤษ” เมื่อเดือน ก.ค. ด้วย ซึ่นิวซีแลนด์ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศโดยมิหวั่นเกรงต่อแรงกดดันจากจีน สร้างความซาบซึ้งใจให้แก่ไต้หวันเป็นอย่างมาก
 
เมื่อกล่าวถึงระบบห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไต้หวัน โดยในจำนวนนี้ การผลิตชิปด้วยกระบวนที่ทันสมัยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 92 ของการผลิตทั่วโลก พวกเราจึงหวังที่จะสร้างหลักประกันด้านเสถียรภาพและความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทรัพยากรที่ถือเป็นกุญแจสำคัญของไต้หวันนี้ ควรจะเป็นผลประโยชน์สำหรับทั่วโลก  มิใช่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองหรือข่มขู่ประเทศใด ซึ่งรวมถึงจีนด้วย หากจีนสั่งซื้อแผ่นชิปจากไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ แล้วนำไปใช้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อข่มขู่ไต้หวันหรือประเทศอื่นใดบนโลก พันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นชิปข้างต้น ก็จะร่วมกันรับมือด้วยแนวทางที่เหมาะสมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้หยิบยกคำเตือนของ Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ได้แถลงไว้เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า หากกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ต้องหยุดชะงักลงอันเนื่องมาจากภัยสงคราม ทั่วโลกก็จะตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
 
ต่อกรณีที่จีนใช้วิธีการหลอกล่อให้ประเทศพันธมิตรไต้หวันตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน และหันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนนั้น รมว. อู๋ฯ เห็นว่า เป้าหมายของการที่จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับหมู่เกาะโซโลมอน และสาธารณรัฐคิริบาส ในปี 2019 นอกจากจะเป็นการบีบพื้นที่ในเวทีนานาชาติของไต้หวันแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ในการขยายอิทธิพลไปสู่กลุ่มประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกของรัฐบาลปักกิ่งด้วย โดยในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา จีนได้ร่วมลงนามความตกลงทางความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอน พร้อมทั้งอาศัยสถานีเรดาร์ของคิริบาส ติดตามความเคลื่อนไหวของดาวเทียมสหรัฐฯ จึงเห็นได้ชัดว่า จีนพยายามทุกวิถีทางที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด โดยไม่คำนึงถึงความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศเลย ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันจึงควรมีความสามัคคีในการรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลและการรุกรานของอำนาจเผด็จการในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและทั่วโลก
 
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – นิวซีแลนด์ รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันและนิวซีแลนด์เป็นพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน อีกทั้งต่างก็เป็นประเทศที่ยึดมั่นในค่านิยมพื้นฐานด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนาม “ความตกลงทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - นิวซีแลนด์” (ANZTEC) ระหว่างกัน มูลค่าทางการค้าแบบทวิภาคีก็ขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชาวไต้หวัน ต่างมีความชื่นชอบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของนิวซีแลนด์เป็นอย่างมาก ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันได้บรรรลุคำมั่นทางการค้าระหว่างประเทศ และเคารพต่อกฎระเบียบทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ตามมาตรฐานสูง รมว.อู๋ฯ จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ต่อไป นอกจากนี้ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและแคนาดา ต่างก็เป็นประเทศผู้บุกเบิก “ความตกลงทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าของชนพื้นเมือง (Indigenous Peoples Economic and Trade Cooperation Arrangement, IPETCA)” รมว.อู๋ฯ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นไต้หวัน – นิวซีแลนด์ เร่งเสริมสร้างความร่วมมือทางการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มชนพื้นเมืองแบบทวิภาคีระหว่างกันในภายภาคหน้าต่อไปด้วยเช่นกัน