New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 20 ต.ค. 65
การประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (APEC Economic Leaders' Meeting, AELM) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เตรียมเปิดฉากขึ้นในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 18 – 19 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการจัดการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจในสถานที่จริง หลังจากที่เว้นระยะไปเป็นเวลานานกว่า 3 ปีเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด - 19 โดยในช่วงเช้าของวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนที่จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจในกลุ่ม APEC ประจำปีนี้ ณ ทำเนียบประธานาธิบดีพร้อมทั้งประกาศแต่งตั้งให้ดร.จางจงโหมว ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้นำไต้หวัน ไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ประจำปี 2022
ปธน.ไช่ฯ หวังว่า ดร.จางฯ และคณะตัวแทน จะส่งผ่านข้อเรียกร้องของไต้หวัน ต่อกลุ่มประเทศสมาชิก APEC โดยพวกเราจำเป็นต้องแสวงหาความสมดุล ระหว่างการเปิดกว้างทางการค้าอย่างเสรีและการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทานและประสิทธิภาพในการบริหารงาน รวมไปถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นแผ่นแม่บททางเศรษฐกิจและกฎระเบียบที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และมีระเบียบแบบแผนที่สามารถใช้อ้างอิงได้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้นานาประเทศทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญต่อบทบาทของไต้หวันที่มีต่อระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความมุมานะในการพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวันให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ปธน.ไช่ฯ ยังหวังที่จะเห็นคณะตัวแทนร่วมแบ่งปัน “ประสบการณ์ของไต้หวัน” เพื่อถ่ายทอดให้ประชาคมโลกเห็นว่า ไต้หวันมีความยินดีที่จะอุทิศคุณประโยชน์ เพื่อร่วมกระตุ้นให้เกิดสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก สืบต่อไป
คำปราศรัยของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
ข้าพเจ้าขอแต่งตั้งให้ ดร.จางจงโหมว ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้นำไต้หวัน เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้น ณ กรุงเทพมหานครในเดือนหน้านี้
โดยดร.จางฯ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้นำของไต้หวัน เข้าร่วมการประชุม นับตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปี 2021 รวม 4 ครั้ง เพื่อส่งผ่านข้อคิดเห็นที่สำคัญในด้านการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค และทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำให้ไต้หวันได้รับความสนใจจากประชาคมโลก โดยดร.จางฯ เป็นตัวแทนผู้นำที่มีวุฒิภาวะและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนานาประเทศทั่วโลก จึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อดร. จางฯ ด้วยความนับถือสูงสุด
ในปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายนานาประการ ประเทศสมาชิกของเอเปคมีหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกัน ในการเปิดศักราชใหม่ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกหลังยุคโควิด – 19 สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะบริษัท TSMC เป็นผู้ประกอบการที่สวมบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลกทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจและการจับตามองจากทุกภาคฝ่าย
หลายปีมานี้ ไต้หวันได้รับความสนใจจากประชาคมโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งในการประชุมเอเปคครั้งนี้ แนวทางและจุดยืนของไต้หวันจะได้รับการจับตามองเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงหวังว่าดร.จางฯ และคณะตัวแทน จะร่วมแสดงจุดยืนที่สำคัญของไต้หวัน 3 ประการ ดังนี้ :
ประการแรก เรียกร้องต่อประเทศสมาชิกเอเปคว่า เราควรตระหนักถึงความขัดแย้งทางความคิดเห็นภายในภูมิภาค โดยมุ่งมั่นในการแสวงหาความสมดุลระหว่างการเปิดกว้างทางการค้าอย่างเสรีและการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ความมั่นคงทางระบบห่วงโซ่อุปทานและประสิทธิภาพในการบริหารงาน รวมไปถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นแผนแม่บททางเศรษฐกิจและกฎระเบียบที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างรุดหน้าและมีระเบียบแบบแผนที่สามารถใช้อ้างอิงได้
ประการที่ 2 พวกเราต้องการส่งเสริมให้ทั่วโลกตระหนักเห็นว่า ไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับโลก โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ในขณะเดียวกัน ก็ยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับหุ้นส่วนในภูมิภาค เพื่อจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่มั่นคง น่าเชื่อถือและมีความยืดหยุ่น
ประการที่ 3 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมไปจนถึงการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกับทั่วโลก การผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่แนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเต็มกำลัง ควบคู่ไปกับการยกระดับสวัสดิการแรงงาน สิทธิสตรี รวมไปถึงการจัดตั้งกลไกดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อมุ่งมั่นในการแสวงหาแนวทางการพัฒนาทางสังคมที่มีความสมดุล
จากนั้น ดร.จางฯ ได้กล่าวตอบว่า ตนขอตอบรับต่อการมอบหมายของปธน.ไช่ฯ ด้วยจิตใจที่อ่อนน้อมและเปี่ยมด้วยความเคารพ พร้อมกล่าวว่า ในปัจจุบัน พวกเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปี่ยมไปด้วยความท้าทาย เอเปคเป็นการประชุมนานาชาติที่สำคัญมากจนอาจถือได้ว่ามีความสำคัญมากที่สุดสำหรับเรา
ดร.จางฯ ชี้อีกว่า เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา ปธน.ไช่ฯ ได้กำชับให้คณะตัวแทนส่งผ่านสารสำคัญ ไปสู่กลุ่มประเทศสมาชิกและนานาประเทศทั่วโลก 2 ประการ คือ (1) ไต้หวันจะร่วมจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและเปี่ยมด้วยความยืดหยุ่น โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานด้านอิเล็กทรอนิกส์ (2) พวกเราได้เร่งดำเนินการตามภารกิจในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่รอการแก้ไข ซึ่งเราจะขอใช้การประชุมเอเปคเป็นเวทีในการประกาศความมุ่งมั่นเหล่านี้ของไต้หวันต่อประเทศสมาชิกและนานาประเทศทั่วโลก
ดร.จางฯ กล่าวว่า ตนจะปฏิบัติตามคำชี้แนะของปธน.ไช่ฯ ในการส่งผ่านสารสำคัญ 2 ประการข้างต้น นอกจากนี้ ในการประชุมรอบนอกที่ไม่เป็นทางการ พวกเรายังมีโอกาสพบปะกับเหล่าผู้นำประเทศต่างๆ ซึ่งตนจะคว้าโอกาสในการเจรจาพูดคุยแบบทวิภาคีกับประเทศสมาชิกและเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วม เพื่อแสดงจุดยืนของไต้หวัน อันจะนำไปสู่การแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกต่อไป