New Southbound Policy Portal

คณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การผลักดันกิจการสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 25 ต.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา นางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (National Human Rights Commission, NHRC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เชิญคณะตัวแทนของคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเยอรมนีที่เดินทางมาเยือนไต้หวัน เข้าร่วมรับประทานอาหารเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของทั้งสองฝ่ายต่างร่วมหารือในประเด็นสถานการณ์ล่าสุดของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในไต้หวัน และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่มวลมนุษยชาติต่างประสบอยู่ในปัจจุบัน
 
ประธานเฉินฯ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความขอบคุณต่อหน่วยงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International, AI) ของเยอรมนี ที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนนักโทษการเมืองของไต้หวัน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ฟอร์โมซา (Kaohsiung Incident) เมื่อ 42 ปีก่อน ซึ่งตนก็คือหนึ่งในผู้ที่เคยอยู่ในภายใต้ความช่วยเหลือของ AI ด้วย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ตนรู้สึกขอบคุณมาจนถึงทุกวันนี้
 
ประธานเฉินฯ ชี้ว่า ไต้หวันยังคงยึดมั่นในค่านิยมสากลด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างหนักแน่น แมก้ต้องเผชิญกับการคุกคามด้วยกำลังทหารของจีน ทั้งนี้ เพื่อมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและเสรีภาพ โดยประธานเฉินฯ เชื่อว่า ประเทศที่ร่วมยึดมั่นในแนวคิดคล้ายคลึงกันจะยืนอยู่เคียงข้างไต้หวัน และไต้หวันจะไม่มีวันโดดเดี่ยว ซึ่งพลังสนับสนุนเหล่านี้ มีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงของไต้หวันเป็นอย่างมาก
 
Mr. Peter Heidt หัวหน้าคณะตัวแทน กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่มีโอกาสเดินทางมาเยือนไต้หวัน พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ของ NHRC โดยในระหว่างการเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ คณะตัวแทนมีความประทับใจต่อการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไต้หวันเป็นอย่างมาก ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนีก็มีพิพิธภัณฑ์ทัณฑสถาน การอนุรักษ์ร่องรอยทางประวัติศาสตร์เหล่านี้  มีความสำคัญต่อการบรรลุการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน รวมไปถึงการเสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกด้วย
 
โดยในระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงกว้างในประเด็นสิทธิมนุษยชนเชิงดิจิทัล อาทิเช่น การสกัดกั้นข่าวปลอม การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของกลุ่มสตรี การยกเลิกโทษประหารชีวิต และสิทธิมนุษยชนของแรงงานประมง เป็นต้น นอกจากนี้ ประธานเฉินฯ ยังชี้อีกว่า หลังการก่อตั้ง NHRC ก็ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มแรงงานประมงต่างชาติ โดยได้มีการจัดตั้ง คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแรงงานประมงต่างชาติ” ขึ้นในปี 2021 ซึ่งได้มีการจัดการประชุมเสวนาขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนลงพื้นที่สำรวจและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและประชาชน เพื่อเร่งปรับปรุงแก้ไขรวมทั้งสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนแรงงานประมงด้วย
 
ในช่วงท้าย ประธานเฉินฯ ขอบคุณคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเยอรมนี ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม คาดหวังว่าในอนาคต NHRC จะร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเยอรมนีอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการผลักดันกิจการสิทธิมนุษยชน หรือการแลกเปลี่ยนเยี่ยมเยือนองค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตลอดจนคาดหวังที่จะเชิญคณะกรรมการกิจการที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเยอรมนี รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มุ่งให้ความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เดินทางมาเยือนไต้หวัน ในภายภาคหน้าต่อไป